ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นดันราคายางพาราใต้ขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปี
2022.03.25
ปัตตานี

การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนมีส่วนทำให้ราคายางพาราในจังหวัดภาคใต้ปรับตัวสูงสุดในรอบ 9 ปี เพราะตลาดความต้องการยางธรรมชาติเพื่อทดแทนยางสังเคราะห์ที่ผลิตมาจากน้ำมันมีเพิ่มขึ้น แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่และเอกชน กล่าวในวันศุกร์นี้
ขณะเดียวกัน สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโคว์ ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เตือนให้นักธุรกิจไทยระมัดระวังในการทำการค้ากับรัสเซียที่มีความผันผวนทางเศรษฐกิจเพราะการทำสงครามในยูเครนในช่วงนี้
ทั้งนี้ การยางแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในวันศุกร์นี้ ราคารับซื้อน้ำยางสด ณ หน้าโรงงาน ในจังหวัดสงขลา อยู่ที่ 65.30 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าสูงกว่าราคาเฉลี่ยที่ 53.40 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2564 หรือสูงขึ้นกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ราคาเคยพุ่งสูงสุดที่ 71.20 บาทต่อกิโลกรัม นับเป็นราคาที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 ที่ 73.78 บาทต่อกิโลกรัม
“ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาสูงนี้เกิดจากภาวะสงครามยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น” นายธีระ เสาะสุวรรณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย อำเภอเมืองจังหวัดยะลา กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ด้าน พนักงานบริษัทผลิตภัณฑ์ยางพาราในพื้นที่ภาคใต้แห่งหนึ่ง กล่าวตรงกันว่า ราคายางพาราที่ปรับตัวขึ้นเป็นเพราะราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น แต่อาจเป็นปรากฏการณ์ระยะสั้นเท่านั้น
“สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคายางในภาคใต้สูงขึ้นจริง เพราะสงครามทำให้ราคาน้ำมันผันผวน ส่งผลให้ยางสังเคราะห์ซึ่งมีส่วนผสมน้ำมันต้องหันมาใช้ยางธรรมชาติแทน ยางธรรมชาติจึงได้รับความสนใจมากขึ้น... แต่อาจเป็นเพียงในระยะสั้นเท่านั้น” พนักงานดังกล่าว ระบุโดยขอสงวนข้อมูลเพราะไม่มีหน้าที่ให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนโดยตรง
เมื่อเช้ามืด วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ตามเวลาท้องถิ่นยูเครน นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้เริ่มการปฏิบัติการพิเศษทางทหารต่อประเทศยูเครน ทำให้นานาชาติดำเนินการคว่ำบาตรรัสเซียในหลายรูปแบบ ทั้งด้านการทูตและเศรษฐกิจ ได้ส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยมีราคาสูงสุด 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม ชาวสวนยางพาราในจังหวัดยะลารายหนึ่ง กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ราคายางที่สูงขึ้นทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นมาเพียงเล็กน้อย เพราะสงครามได้ทำให้ราคาของอย่างอื่นแพงไปด้วยเช่นกัน
“พอราคายางขยับขึ้นก็ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นนิดหน่อย เพราะสินค้าอย่างอื่นก็แพงขึ้นด้วย หากเทียบกับราคายาง แต่ก็ยังถือว่าเรายังมีความโชคดีอยู่บ้าง... ถ้าสงครามสงบราคาน้ำมันอาจลดลง ราคายางเราก็จะลดไปด้วย แต่เราไม่ได้อยากให้สงครามยืดยาว” นายอุสมาน ตีมุง ชาวสวนยางกล่าว
ด้านนายอับดุลเลาะ ยูโส๊ะ ชาวสวนยางในอำเภอสะบ้าย้อย สงขลา กล่าวว่า โดยปกติชาวสวนจะกรีดยางได้น้อยในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี ทำให้ราคายางตกต่ำ แต่ปีนี้ต่างจากทุกปี
“วันนี้ น้ำยางขายอยู่ที่ 66 บาท และยางก้อนถ้วยอยู่ที่ 26 บาท ถือว่าสูงกว่าปกติ เพราะเขาบอกว่ายางส่งไปต่างประเทศได้เยอะขึ้น.. ราคายางแพงขึ้นประมาณนี้ยังไม่ไหว เมื่อเทียบกับรายจ่าย แต่ก็ถือว่ายังโชคดีที่ยางพาราราคาขึ้น ไม่อย่างนั้นชาวบ้านยิ่งจะเดือดร้อน” นายอับดุลเลาะ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ประชาชนส่วนหนึ่งในภาคใต้ของไทยพึ่งพาอาชีพการทำสวนยางพารา โดยมีพื้นที่ทำสวนยางกว่า 12 ล้านไร่ ส่วนภาคเหนือ กลาง และอิสาน มีการปลูกสวนยางพารารวมกันราว 7 ล้านไร่ ตามตัวเลขของการยางแห่งประเทศไทยในปี 2564 แต่มีการโค่นต้นยางบางส่วน เพื่อไปปลูกผลไม้มากขึ้น
การค้าขายกับรัสเซียช่วงนี้มีความผันผวนและความเสี่ยง
หลังจากที่รัสเซียโจมตียูเครนและโดนมาตรการแซงก์ชั่นโดยชาติตะวันตก นายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโคว์ ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เตือนให้นักธุรกิจไทยระมัดระวังในการทำการค้ากับรัสเซียที่มีความผันผวนทางเศรษฐกิจในช่วงนี้
“สรุปแล้วคือยังไม่อยู่ในอารมณ์ที่ควรทำการค้าขายระหว่างประเทศนั่นเอง เพราะมีตัวแปรมากเกินไป แถมวิกฤตนี้ยังส่อว่าจะมีแต่ความรุนแรงเพิ่มขึ้น"
"นอกจากผู้ส่งออกไทยที่ทำธุรกรรมทางการค้ากับคู่ค้าเก่าในรัสเซียเป็นประจำอยู่แล้ว หากมีความเชื่อใจกันและสามารถยอมรับความเสี่ยงร่วมกันท่ามกลางความผันแปรสูง” นายกิตตินันท์ กล่าวในรายงานทางเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์เมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้
ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าของไทยไปยังรัสเซียในปีที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมกันเพียงราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ในจำนวนนี้ เป็นผลิตภัณฑ์จากยางพารา ล่าสุดยังไม่มีข้อมูลว่ารัสเซียจะสั่งซื้อสินค้าเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร
ประเทศไทย เป็นผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ จีน (สัดส่วน 36.6% ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางขั้นกลางทั้งหมด) มาเลเซีย (22.6%) สหรัฐอเมริกา (6.5%) ญี่ปุ่น (5.7%) และเกาหลีใต้ (3.4%) ผลผลิตที่เหลือ (สัดส่วน 13.3%) ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายภายในประเทศ โดยใช้ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์เป็นหลัก จากข้อมูลของธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ด้านธนาคารกรุงไทย คาดการณ์ว่ามูลค่าส่งออกยางแผ่น และยางแท่ง ในปี 2565-2566 จะขยายตัวเป็น 1.26 แสนล้านบาท และ 1.29 แสนล้านบาท ตามลำดับ โดยเฉพาะด้านปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.44 ล้านตัน และ 2.64 ล้านตัน ตามลำดับ (6.0% และ 8.0% ตามลำดับ) เพราะความต้องการใช้ยางแผ่น และยางแท่ง เพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน ซึ่งเป็นผู้ใช้หลัก ยังมีแนวโน้มขยายตัว