แบงก์ชาติ : การเมืองไม่แน่นอนเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ
2023.06.14
กรุงเทพฯ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินในวันพุธนี้ว่า ความไม่แน่นอนเรื่องการเมือง และการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า เป็นความเสี่ยงที่อาจกระทบเศรษฐกิจ แม้ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติดังช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 แล้ว ภาคธุรกิจและนักวิเคราะห์เศรษฐกิจยังหวั่นส่งผลกระทบจีดีพีที่ขยายตัวขึ้น อาจหดตัวอีก 1-1.5% รวมถึงนักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนในไทย
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวในการแถลงประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2566 ว่าความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลเป็นปัจจัยที่อาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ เพราะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณล่าช้า
“(ถ้ามีรัฐบาลใหม่) มีความเสี่ยงด้านสูงว่า จะมีการใช้จ่ายมากขึ้น ก็คงทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงขึ้น เป็นไปได้ว่าแรงกดดันด้านอุปสงค์สูงขึ้น จะมีความเสี่ยงว่าอาจจะมีความล่าช้า (ในการตั้งรัฐบาล) เป็นที่แน่นอนแล้วว่า งบประมาณปี 67 จะล่าช้าไปหนึ่งไตรมาส” นายปิติ กล่าว
ขณะที่ นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ชี้ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับสู่ภาวะก่อนโควิด-19 ระบาดแล้ว แต่ปัญหาทั้งนอกประเทศและในประเทศอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจได้
“ปัจจัยเสี่ยงคือ เงินเฟ้อที่มีมากกว่า คาดดอกเบี้ยธนาคารต่าง ๆ เองก็อยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาสถาบันการเงินที่มีการเกิดขึ้นบ้าง รวมถึงความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นความเสี่ยง มีการปรับประมาณการลงเล็กน้อย คือการลงทุนภาคเอกชน แล้วก็ภาครัฐ จากเรื่องของการเบิกจ่าย (งบประมาณ) มีการเลื่อนการลงทุน PPP (การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership) ไปจากปีนี้ โครงการต่าง ๆ อาจจะมาลงในช่วงปีหน้าค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่” นายสักกะภพ กล่าว
ธปท. ประเมินด้วยว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 3.6 เปอร์เซ็นต์ และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 29 ล้านคน ในปี 2566 ซึ่งขยายตัว 2.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 11.2 ล้านคน โดยแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติสำหรับปี 2567 คือ 3.35 ล้านล้านบาท เป็นงบลงทุน 7.17 แสนล้านบาท
ในวันเดียวกัน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ภาคเอกชนต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เร็วที่สุด
“ภาคเอกชนย้ำมาตลอดว่า ต้องการให้จัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งไทย และต่างประเทศ ไม่เกิดความลังเล ยอมรับว่าห่วงหากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า จะกระทบกับการใช้งบประมาณของประเทศในปีนี้ให้ช้าตามไปด้วย หากทันในช่วงเดือนกันยายน ก็เป็นเรื่องดี เพราะจะได้รู้แนวนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลใหม่ เพราะต่างชาติ รอความชัดเจนของนโยบายทั้งค่าแรง 450 บาท และค่าไฟฟ้า” นายสนั่น กล่าว
เช่นเดียวกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่าเศรษฐกิจประเทศไทยจะได้รับผลกระทบ หากตั้งรัฐบาลได้สำเร็จช้ากว่าเดือนสิงหาคม 2566
“หากการจัดตั้งรัฐบาลไม่เป็นตามไทม์ไลน์จะเกิดความเสียหายตามมา หากเลื่อนไปจนถึงสิ้นปี 2566 จะส่งผลต่อจีดีพีอย่างน้อย 1-1.5 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่า จีดีพีปีนี้จะโตได้ 3-3.5 เปอร์เซ็นต์ อาจจะเหลือแค่ 2-2.5 เปอร์เซ็นต์ ข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลใหม่คือ การออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs (ธุรกิจขนาดเล็กและกลาง) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)” นายเกรียงไกร กล่าว
ด้าน ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ Economic Intelligence Service (EIS) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ว่า ไทยจะสูญเสียการลงทุนจากต่างประเทศหากการตั้งรัฐบาลล่าช้า
“เศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5 เปอร์เซ็นต์ มีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากรายได้ภาคท่องเที่ยว ที่คาดว่าครึ่งปีหลังจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยดีกว่าครึ่งปีแรก และภาคส่งออกจะขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการบริโภคภาคครัวเรือนฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ถ้าตั้งรัฐบาลล่าช้าลากยาวไป 5-6 เดือน นักลงทุนต่างชาติก็คงไม่รอ เพราะเขามีความต้องการที่จะลงทุน” ดร. กิริฎา กล่าวกับสื่อมวลชน
ขณะที่ ดร. อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ชี้ว่า ว่าที่รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องสร้างจุดขายเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ เพราะปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาขึ้น และกลายเป็นคู่แข่งขันที่น่ากลัวของไทยแล้ว
“ไทยต้องสร้างจุดขายใหม่ เช่น ข้อตกลงการค้าเสรี การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ โครงสร้างพื้นฐาน วันนี้ การที่โรงงานไทยย้ายไปเวียดนาม ย้ายไปอินโดนีเซีย ย้ายไปหลายประเทศ ก็ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าค่าแรงของเราเริ่มแพงขึ้น ทำให้มีโอกาสที่ผู้ผลิตที่ไม่สามารถจะแข่งขันกับต่างประเทศได้ก็อาจย้ายฐานการผลิต” ดร. อมรเทพ กล่าว
นับตั้งแต่การเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ถึงปัจจุบัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้รับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยวันที่ 8 มิถุนายน 2566 กกต. ได้สั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ 47 หน่วยใน 16 จังหวัด เพราะพบความผิดพลาด ซึ่ง กกต. ระบุว่าจะสามารถรับรองผลได้ก็ต่อเมื่อแน่ใจว่า ผลการเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรมไม่น้อยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจุบัน กกต. กำลังตรวจสอบการร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด ก่อนจะประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการ
ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขตพรรคก้าวไกลได้ 113 คน เพื่อไทย 112 คน ภูมิใจไทย 67 คน พลังประชารัฐ 39 คน รวมไทยสร้างชาติ 23 คน ประชาธิปัตย์ 22 คน และพรรคอื่น ๆ ลดหลั่นตามลงไป ขณะที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อเมื่อคำนวณแล้ว ก้าวไกลจะได้ 35 คน เพื่อไทยได้ 27 คน รวมไทยสร้างชาติ 11 คน ภูมิใจไทย 2 คน และพลังประชารัฐ 1 คน
หลังการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกล และเพื่อไทย ร่วมกับพรรคการเมืองรวม 8 พรรค ซึ่งมีว่าที่ ส.ส. 313 คนได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน โดยจะเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 ให้อำนาจ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งหมายความว่า นายพิธา จะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ต่อเมื่อ มีเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 376 เสียงของรัฐสภา 750 เสียง