กรีนพีซพบการบุกรุกป่าเพื่อปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
2023.09.12
กรุงเทพฯ

ผลวิเคราะห์จากข้อมูลดาวเทียมพบว่าการปลูกข้าวโพดในระดับอุตสาหกรรมเพื่อผลิตอาหารสัตว์ได้ขยายพื้นที่ไปอย่างกว้างขวางในสามประเทศบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสองประการที่ทำให้เกิดหมอกควันทุกปี
กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุในรายงานล่าสุดซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กันยายน พบว่ามีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ป่ามากกว่า 11.8 ล้านไร่ ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เมียนมา และลาว เพื่อใช้สำหรับการเพาะปลูกข้าวโพดตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา
รายงานดังกล่าววิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดินในรัฐฉานของเมียนมา รวมถึง 8 จังหวัดทางภาคเหนือของไทย และ 7 จังหวัดของลาว ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ที่กำลังเผชิญกับปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากไฟป่า และการเผาที่เป็นผลจากเกษตรกรรมที่ลุกลามอย่างกว้างขวาง
“พื้นที่กว่าป่ากว่าหนึ่งล้านไร่ในภูมิภาคนี้ได้สูญเสียไประหว่างปี 2564 ถึงกลางปี 2566 เนื่องจากถูกปรับใช้ไปทำไร่ข้าวโพด” ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประจำประเทศไทย กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชียเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งเทียบเท่ากับสนามฟุตบอลมากกว่า 220,000 สนาม หรือมากกว่าสองเท่าของเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
การบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าเกิดขึ้นมากที่สุดในประเทศลาว โดยมีพื้นที่ประมาณ 5.7 ล้านไร่ ถูกเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดตั้งแต่ปี 2558 ในขณะที่มีพื้นที่ป่าถูกทำลายไป 3.1 ล้านไร่ในรัฐฉานของเมียนมา และในภาคเหนือของประเทศไทย พื้นที่ป่ากว่า 2.9 ล้านไร่กลายเป็นไร่ข้าวโพดเช่นกัน
“กระแสการทำไร่ข้าวโพดขนาดใหญ่กำลังออกจากภาคเหนือของประเทศไทยไปยังเมียนมาและลาว ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับเราที่จะติดตามและมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง” ธารา ระบุ
ส่วนหนึ่งในรายงานให้ข้อมูลว่าไร่ข้าวโพดเพิ่มขึ้นมากกว่า 38 เปอร์เซนต์ จากเดิม 13 ล้านไร่เป็น 18 ล้านไร่ ระหว่างปี 2558 ถึง 2566 ซึ่งเกือบจะมีขนาดเท่ากับประเทศเบลเยียม และยังแสดงให้เห็นว่าจุดความร้อน (Hotspot) ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ เกิดเพลิงไหม้ ตามข้อมูลดาวเทียมในพื้นที่ปลูกข้าวโพดช่วงฤดูกาลเพาะปลูก ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 31 เปอร์เซนต์ในปี 2563 เป็น 41 เปอร์เซนต์ ในปีนี้
ในขณะที่อีก 42 เปอร์เซนต์ของจุดความร้อนในปีนี้มีสาเหตุมาจากไฟป่า ส่วนที่เหลือเป็นนาข้าวและแหล่งความร้อนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพืชชนิดอื่น
“การศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมข้าวโพดยังคงมีบทบาทสำคัญในการทำลายป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และยังเป็นปัญหาหลักต่อมลพิษทางอากาศที่เป็นพิษซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนในทุกปี ซึ่งมันไม่ควรกลายเป็น 'ฤดูหมอกควัน' ทุก ๆ ต้นปี” ธารา กล่าวเพิ่มเติม
ต้นเหตุความหายนะของมลพิษทางอากาศ
เมียนมา ลาว และไทย เป็นหนึ่งใน 30 ประเทศที่มีมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก จากการศึกษาของสถาบันนโยบายพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก (EPIC) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา
ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเมียนมาอยู่ที่เกือบ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งแย่กว่าหลักเกณฑ์คุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกถึง 7 เท่า ตามดัชนีคุณภาพอากาศของ EPIC
ในลาว ค่า PM2.5 อยู่ที่ประมาณ 27 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ประเทศไทยมีค่าประมาณ 23 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในภาคเหนือของไทย เมียนมา และลาว ยังคงปกคลุมไปด้วยหมอกควันพิษเป็นเวลาหลายสัปดาห์ เนื่องจากไฟป่าที่ไม่สามารถควบคุมได้และการเผาจากเกษตรกรรม โดยมีผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 2 ล้านคนด้วยปัญหาระบบทางเดินหายใจ นับเฉพาะแค่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามลพิษทางอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงฤดูการเพาะปลูกในภูมิภาคเริ่มต้นหลังจากที่ประเทศไทยกำหนดภาษีเป็นศูนย์สำหรับข้าวโพดที่นำเข้าจากลาว เมียนมา และกัมพูชา เพื่อสนับสนุนโครงการเกษตรกรรมตามสัญญาข้ามพรมแดนเมื่อประมาณสองทศวรรษที่แล้ว
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดของโลกด้วย ข้าวโพดเป็นส่วนประกอบหลักของอาหารสัตว์ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของวัตถุดิบทั้งหมดของอาหารสัตว์
ภาพหมอกควันปกคลุมอำเภอเมืองแม่สาย ในจังหวัดเชียงราย วันที่ 5 เมษายน 2566 (สุเบล ราย บันดารี/เรดิโอฟรีเอเชีย)
แม้จะมีหมอกควัน แต่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดจำนวนมากในภูมิภาคยังคงใช้วิธีการเผาต่อไป เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการกำจัดตอซังซากพืชหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเพาะปลูกครั้งต่อไป อย่างไรก็ตาม เกษตรกรรายย่อยไม่ควรถูกตำหนิแต่เพียงผู้เดียว เนื่องจากพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น ผู้เชี่ยวชาญกล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย
“เราพบปะเกษตรกรที่เป็นหนี้ท่วมตัวและเกษตรกรที่ถูกตัดออกจากระบบ เนื่องด้วยกรรมสิทธิ์ที่ดินที่คลุมเครือ พบเจอการเสื่อมสภาพของดินอย่างรุนแรง หรือความขัดแย้งด้านที่ดินกับรัฐอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ล้วนบีบบังคับให้พวกเขาต้องบุกรุกป่าไม้ และถูกสังคมตำหนิว่าเป็นต้นเหตุของมลพิษทางอากาศที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวางในระดับภูมิภาค” ส่วนหนึ่งของเนื้อหาจากบทความในวารสารทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนในเดือนนี้
“บริษัทยักษ์ใหญ่มีบทบาทเป็นผู้ชนะในระบอบนี้ ขณะที่เกษตรกรและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้สูญเสีย”
เรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษาเมียนมา ได้พยายามติดต่อเจ้าหน้าที่ทหารเมียนมาเพื่อสัมภาษณ์ในประเด็นนี้ แต่ไม่มีการตอบรับ ขณะเดียวกัน นายคูณ หม่อง เต็ง โฆษกรัฐบาลประจำรัฐฉาน ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า เจ้าหน้าที่จากทั้งรัฐบาลไทยและเมียนมากำลังอยู่ระหว่างการพูดคุยในประเด็นนี้อยู่
“จริง ๆ แล้ว ฝั่งเราไม่มีการเผาเลย ไม่มีหลักฐาน” นายคูณ หม่อง เต็ง กล่าว พร้อมเสริมว่าพื้นที่ปลูกข้าวโพดได้ขยายออกไปไม่กี่ไร่ แต่ “ไม่ได้เพิ่มขึ้นสองเท่าหรือสามเท่า” เพื่อตอบสนองความต้องการอาหารสัตว์ในท้องถิ่นและการส่งออกจากต่างประเทศ
“ชาวบ้านกำลังได้รับประโยชน์จากมัน เกษตรกรสร้างรายได้จากธุรกิจ และมันช่วยเกื้อหนุนด้านเศรษฐกิจและสังคมในระดับภูมิภาค” เขากล่าวและยืนยันว่าไม่มีอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้อง
ด้านนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในรัฐฉาน ที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ เนื่องจากเกรงว่าจะถูกลงโทษ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเรดิโอฟรีเอเชียว่า ไร่ข้าวโพดเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงการบริหารของรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี (NLD) ชุดก่อน
“กว่า 49 เปอร์เซ็นต์ของไร่ข้าวโพดทั้งหมดในเมียนมาอยู่ในรัฐฉาน ซึ่งคิดเป็น 55 เปอร์เซนต์ ของผลผลิตทั้งหมด แต่ยังมีการให้ความรู้แก่เกษตรกรท้องถิ่นน้อยมาก เกี่ยวกับการปรับรูปแบบการทำไร่และการเผาตอซัง ซึ่งมักจะทำให้เกิดไฟป่า” เขากล่าว
ขณะที่ในประเทศลาว เจ้าหน้าที่จากกรมเกษตรและป่าไม้ จังหวัดอุดมไซ บอกกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า รัฐบาลได้ใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อลดเกษตรกรรมแบบแผ้วถางและเผา
“เจ้าหน้าที่จังหวัดทางตอนเหนือของลาวได้ประกาศให้เกษตรกรหยุดเผาป่าและป้องกันการเกิดไฟป่าและป้องกันไม่ให้ลุกลาม”
ภาพอาคาร ท่ามกลางมลพิษทางอากาศที่มีระดับสูง เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 (บนสุด) และมุมมองเดียวกัน ท่ามกลางมลพิษทางอากาศในระดับปานกลาง (ด้านล่าง) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ในกรุงเทพฯ (เอเอฟพี)
อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้รับการติดต่อกลับจากรัฐบาลไทย ในการขอความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่ากำลังรอคำสั่งและนโยบายจากรัฐบาลใหม่
ที่ผ่านมาในปี 2563 รัฐบาลลุ่มน้ำโขงตอนล่างทั้งห้าประเทศได้จัดทำแผนปฏิบัติการเชียงราย เพื่อลดจุดความร้อน ให้ลดลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และ 40 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2566 และ 2568 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของกรีนพีซแสดงให้เห็นว่า จุดความร้อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 161,728 ในปี 2563 เป็น 162,218 ในปี 2566 ซึ่งธารา ระบุว่าเป็น “ความล้มเหลวเชิงนโยบายของรัฐบาลอย่างสมบูรณ์”
เรดิโอฟรีเอเชียลาว, จอ ลวิน อู จาก เรดิโอฟรีเอเชียเมียนมา และนนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน