ประยุทธ์ : ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบ โครงการจะนะก็ทำไม่ได้

มารียัม อัฮหมัด และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.12.15
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
ประยุทธ์ : ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบ โครงการจะนะก็ทำไม่ได้ ผู้ชุมนุมกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ขณะเตรียมตัวเดินทางกลับบ้าน หลัง ครม. มีมติชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ วันที่ 15 ธันวาคม 2564
ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในระหว่างการลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ในวันพุธนี้ว่า รัฐบาลไม่สามารถดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา หากว่าประชาชนไม่เห็นชอบให้ดำเนินการ ซึ่งรัฐบาลจะได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment-SEA) ก่อนเริ่มโครงการ

พล.อ. ประยุทธ์, พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ ได้เดินทางด้วยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานทหารกองบิน 56 จังหวัดสงขลา เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโควิด-19 ก่อนเดินทางต่อไปยังยะลา และปัตตานี มีการพบปะพูดคุยกับประชาชนในประเด็นปัญหาต่าง ๆ รวมถึงโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่ไม่ได้ไปเยี่ยมพื้นที่อำเภอจะนะโดยตรง

“ทุกอย่างจะทำได้หรือไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับประชาชน SEA ทำให้จบก่อนเถอะ ทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ถ้ามันยอมรับได้ก็ทำต่อ ทำต่อมันก็นำไปสู่เรื่องที่สองเรื่องสามได้ ก็มีกฎหมายครอบอีกอัน ถ้าทำตามนี้ มันเข้าใจกันแล้วมันก็ทำได้ แต่ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบก็ทำไม่ได้อยู่ดี”​ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวที่อาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา

การกล่าวถึงโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะของ พล.อ. ประยุทธ์ ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ​​คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ชะลอกระบวนการของรัฐที่เกี่ยวกับโครงการฯ เพื่อจัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA (Strategic Environmental Assessment) และรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านอย่างรอบคอบเสียก่อน หลังจากที่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ได้ชุมนุมประท้วงที่ข้างทำเนียบรัฐบาล และถนนราชดำเนิน หน้าที่ทำการสหประชาชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลชะลอโครงการ

มติ ครม. ที่ให้ชะลอกระบวนการไว้ก่อนนี้ ทำให้ผู้ชุมนุมพอใจ และตัดสินใจยุติการชุมนุม และเดินทางกลับบ้านโดยรถที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดเตรียมไว้ให้ อย่างไรก็ตาม ตัวแทนกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นยืนยันจะยังติดตามการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิด

“เรารู้สึกอุ่นใจขึ้น แม้โครงการไม่ได้ยกเลิก แต่ให้หยุดทุกอย่างก็รู้สึกดีแล้ว เพราะจะมีการทำ SEA โดยสภาพัฒน์ แทน กพต. (​​คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้) อย่างน้อยเราก็ได้ถอยกันคนละครึ่ง แต่ยังไม่ไว้ใจ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะพวกเราจะนะโดนมาหลายครั้งแล้ว รู้สึกเข็ดหลาบกับการไว้วางใจอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ระดับไหนสัญญาก็ตาม” นายรุ่งเรือง ระหมันยะ แกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวกับสื่อมวลชน

ด้าน นายฮุสณี บินหะยีคอเนาะ ที่ปรึกษาสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จังหวัดสงขลา เสนอแนะให้รัฐบาลซื้อที่ดินในโครงการจากนายทุน เพื่อแจกจ่ายให้คนในพื้นที่ทำอาชีพที่ชำนาญดีกว่าการส่งเสริมอุตสาหกรรม

“ทางออกคือ รัฐบาลซื้อที่ดินคืนจากนายทุนทั้งหมด โดยอย่าให้นายทุนขาดทุน เอาเงินที่จะทำโครงการไปทำอย่างอื่น และเอาที่ดินมาใช้ประโยชน์โดยรัฐ ในรูปแบบเช่าหรืออย่างอื่น ๆ รัฐบาลควรพัฒนาสิ่งที่ท้องถิ่นชำนาญ เช่น การประมง นกเขา หรือเกษตร ไม่ใช่ซื้อที่เขาและให้เขาทำงานโรงงาน” นายฮุสณี กล่าวกับเบนาร์นิวส์

211215-TH-prayuth-pattani.jpg

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อุ้มปู ขณะเยี่ยมชมฟาร์มปู อำเภอยะหริ่ง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 (เอเอฟพี)

ตำรวจยังดำเนินคดีผู้ประท้วง

แม้รัฐบาลได้ชะลอโครงการฯ แล้ว แต่ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้แถลงในวันพุธนี้ ยืนยันว่า ตำรวจจะยังคงดำเนินคดีกับผู้ชุมนุุม ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ ต่อไป เพราะกระบวนการทางกฎหมายได้เริ่มไปแล้ว โดยหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็จะได้มีการออกหมายเรียกผู้ชุมนุมมาให้การในอนาคต

ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น เดินทางมาชุมนุมที่ข้างทำเนียบรัฐบาล และถนนราชดำเนิน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอโครงการฯ และทำการศึกษาเพิ่มเติมเสียก่อน แต่ในดึกของวันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม และจับกุมผู้ชุมนุม 37 ราย โดยแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ ก่อนปล่อยตัวชั่วคราวผู้ชุมนุมทั้งหมด โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่มีเงื่อนไขห้ามชุมนุม ก่อนภายหลังมีการเจรจา และผู้ชุมนุมยุติการประท้วง

โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ได้อนุมัติการริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมจะนะเพื่อเป็น “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยหวังแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ และปัญหาความไม่สงบในพื้นที่

ในการนี้ รัฐบาลได้อนุมัติให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ร่วมกับ บมจ. ทีพีไอพีพี และ บมจ. ไออาร์พีซี บนพื้นที่ 16,753 ไร่ โดยชาวบ้านได้กล่าวหาว่า รัฐบาลเอื้อประโยชน์ต่อ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้บริหารระดับสูง ที่เชื่อว่ามีสายสัมพันธ์พิเศษกับมูลนิธิป่ารอยต่อของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

จากนั้น แม้ว่าจะมีการทำประชาพิจารณ์ ก็ได้มีการประท้วงโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อปลายปี 2563 ผู้ประท้วงกล่าวว่า ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น ได้เป็นผู้แทนรัฐบาล ทำบันทึกความเข้าใจกับชาวบ้านว่า รัฐบาลจะตกลงยุติการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวกับโครงการไว้ก่อน เช่น การไม่เปลี่ยนผังเมืองจากสีเขียว (พื้นที่การเกษตร) เป็นสีม่วง (พื้นที่อุตสาหกรรม) และตั้งคณะอนุกรรมการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ในอำเภอจะนะ โดยให้มีองค์ประกอบของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนในพื้นที่เพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของ ศอ.บต. ที่ผ่านมา

เมื่อวันเดือนมกราคม 2563 น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. สัญจร ได้อนุมัติในหลักการของแผนเร่งด่วนในการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ ซึ่งประกอบด้วย 1. ผังเมืองในตำบลสะกอม, ตลิ่งชัน และนาทับ 2. โครงข่ายท่าเรือน้ำลึก สงขลา 3. โครงข่ายการขนส่งทางบก และ 4. โครงการพลังงานทางเลือก เช่น กังหันลม แสงอาทิตย์ และชีวมวล เป็นต้น โดยใช้พื้นที่ 16,753 ไร่ มูลค่าการลงทุน 18,680 ล้านบาท

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง