กต. ระบุแรงงานไทยตาย 12 ราย ที่อิสราเอล
2023.10.09
กรุงเทพ และปัตตานี

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย เปิดเผยในวันจันทร์นี้ว่า มีแรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิตจากภัยการสู้รบแล้ว 12 ราย แต่ไม่ได้ระบุถึงชะตากรรมของตัวประกันที่ถูกกลุ่มหัวรุนแรงฮามาสจับไป ขณะที่กระทรวงแรงงานได้ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปแจ้งข่าวกับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบและให้ความช่วยเหลือ
นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวที่กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศกำลังติดตามสถานการณ์สู้รบในประเทศอิสราเอลอย่างใกล้ชิด ซึ่งเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ เองก็ต้องเข้าไปหลบในหลุมหลบภัยเป็นระยะเช่นกัน
“ในแง่ผู้เสียชีวิต สถานทูตแจ้งมาว่าได้รับแจ้งจากนายจ้างตอนนี้เพิ่มเติมเบ็ดเสร็จแล้ว 12 ราย ในเรื่องรายชื่ออะไรต่าง ๆ เราไม่อยากเปิดออกไปตามสื่อก่อนที่ญาติพี่น้องเขาจะได้รับทราบหรือได้รับการติดต่อ เกรงว่าจะตระหนกตกใจ” นางกาญจนา กล่าว
“สถานะผู้บาดเจ็บ 8 ราย ที่ได้แจ้งไปแล้วก่อนหน้านี้ ก็ได้รับการดูแลในโรงพยาบาลเรียบร้อย รายที่ไม่ได้เข้าโรงพยาบาลก็เป็นรายที่บาดเจ็บเล็กน้อย การจับกุมเป็นตัวประกันตัวเลขที่เรามีอยู่ 11 คน” นางกาญจนา กล่าวเพิ่มเติมโดยไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดของผู้ถูกลักพาตัวไป
ส่วนของการอพยพแรงงานนั้น นางกาญจนากล่าวว่า ณ วันที่ 8 ตุลาเวลาท้องถิ่น มีผู้แสดงความประสงค์ขอเดินทางกลับไทยแล้วเกือบ 1,500 คน และระบุว่ามีคนไทยที่อยู่บริเวณฉนวนกาซาประมาณ 5 พันคน หรือทั่วทั้งอิสราเอลประมาณ 3 หมื่นคน
รัฐบาลไทยได้เตรียมความพร้อมที่จะส่งเครื่องบิน C-130 ห้าลำ และแอร์บัส เอ-340 อีกหนึ่งลำ จากประเทศไทยไปรับคนไทยที่ประสงค์จะกลับประเทศ ซึ่งหากอิสราเอลเปิดน่านฟ้าเมื่อใดก็พร้อมดำเนินการในทันที
ในการประชุมสมาชิกวุฒิสภา ในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทนนายกรัฐมนตรี
"รัฐบาลขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลสันติภาพ ความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกการปล่อยตัวชาวไทยที่ถูกจับกลุ่มออกมาอย่างปลอดภัย และรัฐบาลได้กำลังเจรจากับทางรัฐบาลปาเลสไตน์และอียิปต์ เพื่อช่วยคนไทยที่อยู่ที่นั่น"
"ในส่วนของการช่วยเหลือ เครื่องบินที่จะอพยพชาวไทยที่อยู่ในปาเลสไตน์ โดยการที่จำนวนแรงงานของเรามีถึง 30,000 คน การจัดการลำดับความสำคัญการจัดการขนส่งทุกอย่าง ตั้งแต่ภายในประเทศ เราก็มีการวางแผนกันไว้แล้วว่า ถ้าเกิดสนามบินที่อิสราเอล เราสามารถเอาเครื่องลงได้ เราก็จะเอาเครื่องลงที่นั่น แต่ถ้าเกิดไม่ได้ เราก็จะไปทางประเทศรอบ ๆ เช่น จอร์แดน หรือบาห์เรน"
ด้าน นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์สู้รบในอิสราเอล เพื่อรับข้อมูลและประสานข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว
“รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้สำนักงานแรงงานจังหวัด และหน่วยงานในกำกับกระทรวงแรงงานที่เป็นภูมิลำเนาของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอล ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารสร้างขวัญกำลังใจ พร้อมชี้แจงการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมายให้แก่ญาติแรงงานได้รับทราบ” นายคารม กล่าว
หลังทราบข่าวการเสียชีวิตของแรงงานไทยในอิสราเอล ส่วนราชการของหลายพื้นที่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิต
นางหนูพา พันธ์สะอาด อายุ 63 ปี มารดาของนายสมควร พันธ์สะอาด แรงงานไทยวัย 39 ปี กล่าวกับสื่อมวลชนว่า เมื่อเช้าตรู่วันอาทิตย์ ตนทราบข่าวการเสียชีวิตของบุตรชายที่ไปทำงานในอิสราเอล และรู้สึกตกใจมาก
“ลูกโทรศัพท์มาหาพ่อกับแม่บ่อยว่าสถานการณ์ที่อิสราเอลไม่ค่อยปกติ เราก็ได้บอกว่ากลับบ้านเสีย ไม่อยากได้เงินหรอก อยากได้ลูกกลับคืนมากกว่า ลูกก็บอกว่าช่วงนี้เป็นไข้ หายไข้แล้วจะปรึกษานายจ้างอีกทีว่าจะขอกลับไทย แต่แล้วเมื่อวานนี้ ประมาณ 04.00 น. ลูกสาวซึ่งเป็นพี่สาวของสมควร โทรศัพท์มาหาบอกว่า ให้ทำใจดี ๆ เพราะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นที่ประเทศอิสราเอล เห็นภาพผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งผู้เสียชีวิตหนึ่งในนั้นลักษณะเหมือนลูกชาย แทบช็อกเลย” นางหนูพา กล่าว
นางหนูพา กล่าวว่า เมื่อ 18 ปีที่แล้ว สมควรเคยเป็นทหารกองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ หลังจากปลดประจำการ ก็ทำงานขับรถรับจ้าง และไปมีครอบครัวที่นครพนม ก่อนตัดสินใจเดินทางไปทำงานเกษตรกรรมที่อิสราเอล เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 โดยกู้เงิน 1.2 แสนบาทเป็นค่าเดินทาง ทำสัญญา 5 ปี ได้เงินเดือนละ 8 หมื่นบาท
ชาวปาเลสไตน์ดูร่องรอยความเสียหายจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลต่อพื้นที่แค้มป์ผู้อพยพชาตี ในกาซาซิตี้ วันที่ 9 ตุลาคม 2566 (มาฮ์มุด แฮมส์/เอเอฟพี)
ชาวบ้านแดนใต้สนับสนุนปาเลสไตน์
แม้ว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะโพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดีย X หรือเดิมคือทวิตเตอร์ ในการประณามกลุ่มฮามาส หลังเกิดการโจมตีอิสราเอล แต่ในวันจันทร์นี้ ชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเชื้อสายมลายูและนับถือศาสนาอิสลามจำนวนมากได้แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับชาวปาเลสไตน์
“พวกเรารู้สึกเจ็บปวดมาตลอดกับเหตุการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อพี่น้องชาวปาเลสไตน์เกิดการสู้รบ เราจึงเข้าใจความรู้สึกของพวกเขา ขอให้พวกเขาปลอดภัยจากการสู้รบครั้งนี้ และขอให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้สงบอย่างยั่งยืน” นายฮาซิม สาและ ชาวจังหวัดยะลา กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ส่วนนายอับดุลเลาะ ยูโซะ ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า นอกจากการขอดุอาร์แล้ว จะมีการระดมเงินขอบริจาคในพื้นที่ของตนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวปาเลสไตน์ด้วย
“วันนี้ ที่หลาย ๆ มัสยิด พี่น้องต่างร่วมกันละหมาดขอพรเพื่อให้ชาวปาเลสไตน์ปลอดภัยจากการสู้รบ ของให้คนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันปลอดภัย เพราะเรากับพี่น้องชาวปาเลสไตน์คือเรือนร่างเดียวกัน เราเชื่อว่าสงครามครั้งนี้จะกินเวลาไม่นาน เราขอให้เป็นแบบนั้น” นายอับดุลเลาะกล่าว
เจ้าหน้าที่กู้ภัยเคลื่อนย้ายเศษปรักหักพังออกจากสถานีตำรวจที่ถูกกลุ่มหัวรุนแรงฮามาสของปาเลสไตน์โจมตี เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มฮามาสได้ข้ามรั้วเข้ามาสังหารประชาชนอิสราเอลหลายร้อยคน วันที่ 8 ตุลาคม 2566 (โอฮัด สวิเกนเบิร์ก/เอพี )
การสู้รบในอิสราเอล เริ่มขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 หรือ วันซิมหัต โทราห์ (Simchat Torah) อันถือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวยิว ซึ่งประชาชนจะออกมาเฉลิมฉลองกัน โดยกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงชาวปาเลสไตน์ เริ่มต้นยิงจรวดเข้าใส่ชายแดนภาคใต้ของอิสราเอลในช่วงเช้าตามเวลาท้องถิ่น โดยเรียกว่า ปฏิบัติการ อัล-อักซา ฟลัด (Operation Al-Aqsa Flood) โดยฮามาสอ้างว่า ใช้จรวดกว่า 5 พันลูก ขณะเดียวกันกองกำลังติดอาวุธได้บุกเข้าไปยังชายแดนโจมตีและจับประชาชนเป็นตัวประกัน
หลังจากอิสราเอลได้ส่งเครื่องบินไอพ่นและเฮลิคอปเตอร์อาปาเช เข้าโจมตีเป้าหมายในฉนวนกาซา ล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้หลายร้อยคน โดยเป็นฝ่ายปาเลสไตน์ราว 400 คน และในฝั่งอิสราเอลประมาณ 700 คน และเชื่อว่าฝ่ายปาเลสไตน์มีการจับคนเป็นตัวประกันกว่า 1 พันราย
เมื่อช่วงกลางปี 2564 เคยมีคนไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาส โดยในครั้งนั้น กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่ามีคนไทยเสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน และบาดเจ็บ 8 คน จากแรงงานไทยทั้งหมดขณะนั้นที่มีกว่า 1.87 หมื่นคน ส่วนใหญ่คนไทยที่อยู่ในอิสราเอลเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ มีรายได้เฉลี่ยคนละประมาณ 45,000-50,000 บาทต่อเดือน
ความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ย้อนหลังไปได้ถึงได้หลายทศวรรษ โดยที่หลังจากอังกฤษและฝ่ายพันธมิตรชนะสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว อังกฤษได้สัญญาที่จะหาที่ตั้งประเทศให้กับชาวยิว
ในปี ค.ศ. 1947 องค์การสหประชาชาติ ได้มีมติตอบสนองความต้องการของอังกฤษ ซึ่งได้เลือกดินแดนของปาเลสไตน์ มีการแบ่งออกเป็นรัฐอาหรับและรัฐยิว แล้วก่อตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นใน ปี ค.ศ. 1948 เหตุนี้ ทำให้เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอล ซึ่งยุติในปีถัดมา ดินแดนดังกล่าวถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ รัฐอิสราเอล (Israel หรือ Jewish State), ฉนวนกาซา (Gaza Strip) อยู่ติดกับอียิปต์ และเขตเวสต์แบงค์ (West Bank) หรือดินแดนทางทิศตะวักตกของแม่น้ำจอร์แดน
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน