คนไทยตายเพิ่ม 2 ราย ในสงครามอิสราเอล-ฮามาส
2023.10.11
กรุงเทพฯ

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เปิดเผยในวันพุธนี้ว่า แรงงานไทยเสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย จากเหตุการ]สู้รบระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ทำให้ยอดคนไทยเสียชีวิตเพิ่มเป็น 20 ราย ขณะที่มีคนถูกจับตัวเป็นตัวประกันรวม 14 ราย และบาดเจ็บ 13 ราย
นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยในการแถลงข่าวที่กระทรวงการต่างประเทศว่า ยังมีการโจมตีด้วยจรวดบริเวณใกล้กับฉนวนกาซาต่อเนื่อง โดยฝ่ายอิสราเอลพยายามยึดคืนพื้นที่ มีการสูญเสียจากทั้งสองฝ่าย ทั้งพลเรือนและทหาร โดยมีการบาดเจ็บสูญเสียจำนวนมาก
“เมื่อคืนนี้ ทางสถานทูตได้รับแจ้งจากแรงงานในพื้นที่ว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์จรวดโจมตีอีก 2 ราย จากที่มี 18 ท่าน ตอนนี้ก็เป็น 20 ท่าน เป็นข้อมูลที่ได้จากพี่น้องแรงงานในพื้นที่” นางกาญจนา กล่าว
“เมื่อวานนี้ สถานทูตได้รับรายงานผู้บาดเจ็บเพิ่มเติมขึ้นอีก 4 ราย รวมจากเมื่อวานเดิม 9 ราย เป็น 13 ราย ถูกจับไป 11 บวก 3 เท่ากับ 14 ฝ่ายฮามาสแจ้งว่าจับไปรวมทุกชาติประมาณ 150 คน ตอนนี้ พี่น้องคนไทยที่ประสงค์กลับไทย เพิ่มขึ้นเป็น 5,019 ราย สถานะเมื่อคืนวันที่ 10 ตุลา แสดงความประสงค์ไม่กลับ 61 ราย” นางกาญจนา กล่าวเพิ่มเติม
เดอะไทม์ออฟอิสราเอล สำนักข่าวท้องถิ่นในประเทศอิสราเอลรายงาน ว่า ทหารอิสราเอลสามารถช่วยเหลือชาวอิสราเอล 16 คน และแรงงานไทย 14 คน จากการจับเป็นตัวประกันได้ในคิบบุตซ์ไอน์ฮาชโลชา (Kibbutz Ein Hashlosha) บริเวณพรมแดนฉนวนกาซา ซึ่งนางกาญจนา ยืนยันว่าเป็นคนละกลุ่มกับ 14 คน ที่ถูกจับตัวไป
“เห็นข่าวตามโซเชียลมีเดียว่า พบแรงงานไทยจำนวน 14 รายที่หลบซ่อนอยู่ แล้วก็ได้รับการอพยพออกมา ปลอดภัยดีอยู่ สถานทูตได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้มีอยู่ในรายชื่อของกลุ่มอื่น ๆ ที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นถูกจับไป เสียชีวิต หรือบาดเจ็บ เป็น 14 คนที่แยกต่างหาก” นางกาญจนากล่าว และระบุว่าที่ผ่านมามีการช่วยเหลือตัวประกันเป็นคนชาติต่าง ๆ มาแล้วกว่า 100 ราย
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอิสราเอลยอมรับว่า เป็นการยากที่จะช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับตัวอยู่ให้เร็วที่สุด
ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้เพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลช่วยเหลือคนไทย โดยได้ชี้แจงถึงการทำงานรัฐบาลซึ่งไม่ได้นิ่งนอนใจ
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยจะได้ส่งตัวแรงงานไทยในอิสราเอลกลุ่มแรก 15 คน กลับประเทศไทยได้ในเวลา 21.45 น. ของวันที่ 11 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์ โดยจะถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 12 ตุลาคม และจะอพยพแรงงานอีก 80 คนกลับมาในวันที่ 18 ตุลาคม 2566 และจะส่งเครื่องบินกองทัพอากาศ Airbus A-340 จากประเทศไทยไปยังกรุงเทลอาวีฟ ในวันที่ 14 ตุลาคม 2566 เพื่อรับคนไทย 140 คน ออกจากประเทศทันทีที่รัฐบาลอิสราเอลอนุญาต
ขณะที่ นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ ได้กล่าวในการปรึกษาหารือทั่วไป ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทยรักษาความเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีความสลับซับซ้อนมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และเรียกร้องให้เร่งช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล
นักศึกษาไทยปลอดภัย
กระทรวงต่างประเทศระบุว่า มีนักศึกษาไทยที่ไปศึกษาอยู่ในอิสราเอลกว่า 160 คน ซึ่งยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ใดได้รับอันตราย
ในวันนี้ ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส มหาวิทยาลัยนราธิวาส ผศ.ทวี บุญภิรมย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ ได้จัดโฟนอินระหว่างผู้ปกครองกับนักศึกษาจำนวน 30 คน ที่ถูกส่งไปฝึกสหกิจศึกษาที่เขตอาราวาน ประเทศอิสราเอล
“ผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่เข้ามา สังเกตสีหน้าอาการแล้วมีความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก แต่หลังจากที่ได้โฟนอิน ได้พูดคุยกับลูกหลานโดยตรง ได้รับฟังพร้อม ๆ กันทุกเขตที่อยู่ที่โน่น สังเกตพบว่าคลายวิตกกังวลลง” ผศ.ทวี กล่าวกับเบนาร์นิวส์
การสู้รบในอิสราเอล เริ่มขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 หรือ วันซิมหัต โทราห์ (Simchat Torah) อันถือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวยิว ซึ่งประชาชนจะออกมาเฉลิมฉลองกัน โดยกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงชาวปาเลสไตน์ เริ่มต้นยิงจรวดเข้าใส่ชายแดนภาคใต้ของอิสราเอลในช่วงเช้าตามเวลาท้องถิ่น โดยเรียกว่า ปฏิบัติการ อัล-อักซา ฟลัด (Operation Al-Aqsa Flood) โดยฮามาสอ้างว่า ใช้จรวดกว่า 5 พันลูก ขณะเดียวกันกองกำลังติดอาวุธได้บุกเข้าไปยังชายแดนโจมตีและจับประชาชนเป็นตัวประกัน
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้ประมาณสองพันคน ทั้งจากฝั่งอิสราเอลและปาเลสไตน์
ปัจจุบัน มีแรงงานไทยอาศัยอยู่ในประเทศอิสราเอลประมาณ 3 หมื่นราย โดยอยู่ในพื้นที่ใกล้ฉนวนกาซา ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบประมาณ 5 พันราย
เมื่อช่วงกลางปี 2564 เคยมีคนไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาส โดยในครั้งนั้น กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่ามีคนไทยเสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน และบาดเจ็บ 8 คน จากแรงงานไทยทั้งหมดขณะนั้นที่มีกว่า 1.87 หมื่นคน ส่วนใหญ่คนไทยที่อยู่ในอิสราเอลเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ มีรายได้เฉลี่ยคนละประมาณ 45,000-50,000 บาทต่อเดือน
ความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ย้อนหลังไปหลายทศวรรษ โดยหลังจากที่อังกฤษและฝ่ายพันธมิตรชนะสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว อังกฤษได้สัญญาที่จะหาที่ตั้งประเทศให้กับชาวยิว
ในปี ค.ศ. 1947 องค์การสหประชาชาติ ได้มีมติตอบสนองความต้องการของอังกฤษ ซึ่งได้เลือกดินแดนของปาเลสไตน์ มีการแบ่งออกเป็นรัฐอาหรับและรัฐยิว แล้วก่อตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นใน ปี ค.ศ. 1948 เหตุนี้ ทำให้เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอล ซึ่งยุติในปีถัดมา ดินแดนดังกล่าวถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ รัฐอิสราเอล (Israel หรือ Jewish State), ฉนวนกาซา (Gaza Strip) อยู่ติดกับอียิปต์ และเขตเวสต์แบงค์ (West Bank) หรือดินแดนทางทิศตะวักตกของแม่น้ำจอร์แดน
มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี ร่วมรายงาน