กต. ส่งศพผู้เสียชีวิต-แรงงานไทยในอิสราเอล กลับไทย 263 คน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.05.26
กรุงเทพฯ
กต. ส่งศพผู้เสียชีวิต-แรงงานไทยในอิสราเอล กลับไทย 263 คน เจ้าหน้าที่ในอิสราเอล ขณะเข็นศพคนงานไทยที่เสียชีวิตจากลูกหลง จากการยิงจรวดโจมตีพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอล ของกลุ่มหัวรุนแรงฮามาสของปาเลสไตน์ ในฉนวนกาซา ก่อนนำขึ้นเครื่องกลับไทย วันที่ 25 พฤษภาคม 2564
สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงเทลอาวีฟ

ในวันพุธนี้ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า กระทรวงการต่างประเทศได้จัดเที่ยวบินจากอิสราเอล กลับมายังประเทศไทยให้แก่ คนไทย 263 คน ที่ประสงค์จะกลับประเทศ หลังเหตุคนไทยเสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บ 8 คน จากการถูกลูกหลงการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

ด้านแรงงานไทยในอิสราเอลเผย มีคนงานหลายคนอยากกลับไทย แต่ยังกลับไม่ได้ จึงอยากให้รัฐบาลไทยช่วยย้ายที่ทำงานให้ไกลพื้นที่สู้รบมากกว่า

นายธานี เปิดเผยว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้จัดเที่ยวบินนำคนไทยที่แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย โดยเดินทางออกจากประเทศอิสราเอล วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เวลา 21.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 4 ชั่วโมง และถึงประเทศไทยในวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 เวลา 12.30 น. โดยนำศพของแรงงานไทย 2 ราย ที่เสียชีวิตจากการถูกลูกหลงการสู้รบกลับมาด้วย

“คนไทยที่แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย รวม 263 คน ประกอบด้วยแรงงานและบุคคลทั่วไป ซึ่งรวมถึงแรงงานจากนิคมเกษตรกรรมโอฮาด จำนวน 18 คน ที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีด้วยจรวด เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563” นายธานี กล่าว

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้เปิดเผยว่า ในจำนวนผู้ที่โดยสารเครื่องบินกลับประเทศ 263 คน ประกอบด้วยแรงงานที่ได้รับผลกระทบ และแรงงานรายอื่น ๆ ด้วย

“แรงงานจากนิคมเกษตรกรรมโอฮาดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์จรวดโจมตี และแจ้งความประสงค์ขอเดินทางกลับประเทศไทย จำนวน 18 คน ในจำนวนดังกล่าว เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว 2 คน คือ นายจักรี รัตพลที และนายธนดล ขันธชัย แรงงานภาคเกษตรที่มีปัญหาสุขภาพ 4 คน แรงงานภาคเกษตรที่หมดสัญญาจ้าง ตกงาน หรืออยู่ในอิสราเอลโดยผิดกฎหมาย 169 คน แรงงาน และบุคคลทั่วไป 61 คน และแรงงานไทยที่เป็นนักโทษที่ทางการอิสราเอลเนรเทศ 11 คน” สถานเอกอัครราชทูตไทย เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ

นายธานี ยังได้เปิดเผยว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้จัดพิธีไว้อาลัยและส่งร่างของแรงงานไทยจากนิคมเกษตรกรรมโอฮาด 2 ราย ที่เสียชีวิตจากจรวดโจมตี ณ ท่าอากาศยานเบนกูเรียน โดยมี น.ส. พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ และผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลและท่าอากาศยานเบนกูเรียน เข้าร่วม

“นายวีรวัฒน์ การุญบริรักษ์ และนายสิขรินทร์ สงำรัมย์ แรงงานไทยจากนิคมเกษตรกรรมโอฮาด 2 ราย ที่เสียชีวิตจากจรวดโจมตี ร่างทั้งสองจะเดินทางถึงประเทศไทย พร้อมเที่ยวบินดังกล่าว และจะได้รับการส่งกลับไปยังภูมิลำเนา ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และบุรีรัมย์ กำหนดถึงเวลาประมาณ 23.00 น. ของวันเดียวกัน” นายธานี ระบุ

ขณะที่ นายธานี เปิดเผยว่า แรงงานชาย 1 ราย ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ล่าสุดได้รับการผ่าตัดครั้งที่สอง มีผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ สามารถพูดคุยสื่อสารได้บ้าง และได้ออกจากหอผู้ป่วยวิกฤตแล้ว โดยแพทย์จะต้องประเมินอาการในภาพรวมต่อไป

ด้าน นายเอ้ (สงวนชื่อและนามสกุลจริง) แรงงานไทยในอิสราเอล อายุ 36 ปี จากจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า มีแรงงานไทยหลายคนในอิสราเอลที่ต้องการจะกลับประเทศ แต่กลับไม่ได้ด้วยเงื่อนไขเศรษฐกิจ

“มีคนอยากกลับเยอะ ผมก็อยากกลับครับ แต่ยังกลับไม่ได้ ต้องทำงานใช้หนี้เขาก่อน เพราะตอนมาจ่ายค่าเดินทาง 55,000 บาท เดินทางถึงต้องจ่ายอีก 27,900 บาท ตอนแรกหวังว่าจะทำสัก 2 ปี แต่สถานการณ์เป็นแบบนี้ ปลายปีถ้าใช้หนี้หมดก็อยากกลับ กลับไปเลี้ยงวัวที่บ้าน น่าจะสบายกว่าปลอดภัยกว่า”​ นายเอ้ กล่าว

“ช่วงนี้ เขาหยุดยิง ไม่มีเสียงเครื่องบิน เสียงระเบิด ก็ทำงานสบายขึ้นหน่อย หลังวันที่มีคนไทยตาย ผมก็ต้องไปนอนในหลุมหลบภัย เพราะมีเสียงระเบิดตลอด มีคนไทยบอกว่า อยากกลับ ก็อยากให้ทางการ หรือสถานทูตฯ ช่วยย้ายพวกเราคนไทย จากภาคใต้ไปอยู่ภาคอื่นที่ไม่ต้องกลัวลูกหลง อย่างน้อยช่วงที่เขายิงกัน เพราะว่า ทุกวันนี้ต้องทำงานไป ระวังไป คอยมองท้องฟ้าไป ระเบิดตกมา มีเสียงเตือน 4 วินาที มันก็ระเบิด ตกใกล้ ๆ หนีไม่ทันหรอก” นายเอ้ กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 กระทรวงแรงงานจะจัดส่งแรงงานไทยชุดใหม่ 230 คน เดินทางไปยังประเทศอิสราเอล โดยจะเป็นเที่ยวบินที่ 16 ที่ที่ส่งแรงงานไทยมาทำงานในภาคเกษตรกรรม นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยเป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างไทย-อิสราเอล

ปัจจุบัน ประเทศไทย ได้รับการจัดสรรโควตาการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในภาคเกษตร ที่ประเทศอิสราเอล 5,099 คน ได้ดำเนินการจัดส่งไปแล้ว 3,106 คน โดยรัฐอิสราเอลจะส่งเครื่องบินเหมาลำมารับทุกวันพฤหัสบดี เวลา 09.00 น. สัปดาห์ละประมาณ 250 คน สัญญาจ้าง 3 ปี จากนั้นสามารถต่อได้อีก 2 ปี รวมเป็น 5 ปี มีรายได้เฉลี่ยคนละประมาณ 45,000-50,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ ได้กำชับไม่ให้มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในพื้นที่ที่เสี่ยงภัย หรือเป็นอันตรายต่อแรงงานไทย

ทั้งนี้ ตัวเลขแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอล ณ เดือนเมษายน อยู่ที่เกือบ 19,000 ราย ตามสถิติของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง