ไทย-ญี่ปุ่นลงนามความตกลงด้านยุทโธปกรณ์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2022.05.02
กรุงเทพฯ
ไทย-ญี่ปุ่นลงนามความตกลงด้านยุทโธปกรณ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (ที่ 2 จากขวา) ที่สนามหญ้า ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 2 พฤษภาคม 2565
สำนักนายกรัฐมนตรี

ไทยและญี่ปุ่น ลงนามความตกลงด้านยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และความร่วมมือทางด้านการเงิน ในระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เป็นเวลาสองวัน ซึ่งสิ้นสุดลงในวันจันทร์นี้

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวว่าการเยือนไทยครั้งนี้ มีความสำคัญเนื่องจากปีนี้เป็นการครบรอบ 135 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น และเป็นช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งจะครบรอบ 50 ปีแห่งมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในปีหน้าอีกด้วย

การเยือนไทยของนายคิชิดะในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนเวียดนามและอินโดนีเซีย ที่ถูกมองว่าญี่ปุ่นต้องการกระชับความสัมพันธ์กับสองประเทศที่มีปัญหาบาดหมางกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้

ในการเสริมสร้างความร่วมมือ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ภูมิภาคและระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ที่สำคัญ เช่น สถานการณ์ในยูเครน และเมียนมา

ทั้งนี้นายคิชิดะเดินทางมาถึงประเทศไทย ในเย็นวันอาทิตย์ หลังจากการเยือนเวียดนาม ประเทศพันธมิตรที่มั่นคงของรัสเซีย ในระหว่างการเดินทางครั้งนี้ ผู้นำญี่ปุ่นยังได้ประกาศให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นจำนวนเงิน 500,000 เหรียญสหรัฐฯ ให้แก่ยูเครน

สำหรับสถานการณ์ในยูเครน ไทยและญี่ปุ่นย้ำถึงหลักการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎบัตรสหประชาชาติ โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติการใช้ความรุนแรง และใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างถึงที่สุด ในส่วนของสถานการณ์ในเมียนมา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสนับสนุนการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และพร้อมร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาชนทั้งชาวยูเครนและชาวเมียนมา

“ญี่ปุ่นขอแสดงความชื่นชมที่ประเทศไทยได้ตัดสินใจที่สนับสนุนข้อมติเรื่องยูเครนของสหประชาชาติ และเห็นพ้องกันกับท่านนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ ที่ว่า ไม่สามารถการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน และการเปลี่ยนแปลงสถานะปัจจุบันต่อการใช้กำลังแต่เพียงฝ่ายเดียว ในทุกภูมิภาค และยังไม่สามารถยอมรับการใช้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง หรือการขู่ว่าจะใช้อาวุธนั้น” นายคิชิดะ กล่าวในการแถลงข่าว

ความร่วมมือด้านความมั่นคงและอื่น ๆ

ในการเยือนประเทศไทยนั้น พลเอก ประยุทธ์ และนายคิชิดะ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงทั้งสิ้น 3 ฉบับ คือ 1. หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น 2. ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย 3. หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความช่วยเหลือแบบให้เปล่าของรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้โครงการสนับสนุนเร่งด่วนสำหรับการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 

เรื่องสำคัญที่ลงนาม คือ การเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง ซึ่งประเทศไทยเองได้พัฒนาอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ โดยได้ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น บริษัท ชัยเสรี และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ส่งออกยานเกราะ First Win ไปยังฟิลิปปินส์ เป็นต้น

“ท่านนายกรัฐมนตรีและผม ยินดีกับความร่วมมือที่ใกล้ชิดทางด้านกลาโหมและความมั่นคงระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งได้มีการลงนามความตกลงเรื่องการมอบโอนยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างกระทรวงกลาโหมของไทยกับญี่ปุ่นไปแล้ว และจะมีส่วนช่วยเสริมความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ และการลงทุนจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญของไทย” พลเอก ประยุทธ์กล่าว ในการแถลงข่าวร่วม ที่ทำเนียบรัฐบาล

นอกเหนือจากข้อตกลงด้านการป้องกันประเทศแล้ว ผู้นำทั้งสองยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงเพื่อกระชับความร่วมมือทางการเงินระหว่างญี่ปุ่นและไทย นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังให้การสนับสนุนกรณีฉุกเฉินเกี่ยวกับโควิด-19 แก่ประเทศไทย มูลค่าเงินกู้ 5 หมื่นล้านเยน (384 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และเงินช่วยเหลือ 500 ล้านเยน ตามคำแถลงร่วม

นอกจากนั้น ฝ่ายญี่ปุ่นพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ห่วงโซ่อุปทานของประเทศไทยให้ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ มากขึ้น โดยการส่งเสริมการลงทุนเพื่อนำไปสู่ความหลากหลายในด้านฐานการผลิต

ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของไทย รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ญี่ปุ่นมีการลงทุนในไทยเป็นร้อยละ 28.6 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในไทย ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 82.5 พันล้านบาท (2.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2564

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี  ที่ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจหมุนเวียน, เศรษฐกิจสีเขียว), เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ, เทคโนโลยีการโทรคมนาคมสื่อสาร 5G, ความร่วมมือในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์, การพัฒนายานยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดและชิ้นส่วนอุปกรณ์, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, ความร่วมมือด้านวิจัยและค้นคว้า รวมถึงการตั้งศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนไทย

ด้าน นายฮานีฟ สาลาม นักวิจัยศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ความร่วมไทย-ญี่ปุ่น จะมีประโยชน์ต่อประเทศไทย

“ช่วงโควิดสองสามปีมานี้ หลายบริษัทของญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในไทยทยอยปิดตัวลงไป พนักงานชาวไทยจำนวนไม่น้อยตกงาน การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับญี่ปุ่น อาจช่วยรื้อฟื้นเศรษฐกิจในระดับใหญ่นี้กลับมา และเพิ่มมูลค่าการลงทุนในประเทศขึ้นมา ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้น” นายฮานีฟ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ทะเลจีนใต้

นายคิชิดะ กล่าวว่า ตนได้หารือกับนายกรัฐมนตรีประยุทธ์อย่างตรงไปตรงมา ในเรื่องทิศทางในอนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย,ประเด็นเกี่ยวกับภูมิภาค และระหว่างประเทศ

“ยังเห็นพ้องกันกับไทยว่าจะบรรลุเป้าหมายความร่วมมืออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง และจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการรับมือ ต่อประเด็นทะเลจีนใต้ และประเด็นเกาหลีเหนือ รวมถึงการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ และปัญหาการลักพาตัว” นายคิชิดะ กล่าวถ้อยแถลง ในการแถลงข่าวร่วม

นายคิชิดะ ได้ระบุถึงนโยบาย Free and Open Indo-Pacific ที่สหรัฐอเมริกาเน้นย้ำ ว่าด้วยการเดินทะเลและการเดินอากาศในทะเลจีนใต้

“บูรณภาพของอาเซียนนั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในภูมิภาคนี้และประชาคมโลกในสมัยนี้ ที่เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนหลักการของระเบียบระหว่างประเทศ ผมจะเน้นย้ำความเชื่อมั่นอีกครั้งกับสถานที่กำเนิดของอาเซียนแห่งนี้” นายคิชิดะ กล่าวเพิ่มเติม

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง