กรมอุทยานฯ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บุกจับกะเหรี่ยงบางกลอย 85 คน จากใจแผ่นดิน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.03.05
กรุงเทพฯ
กรมอุทยานฯ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บุกจับกะเหรี่ยงบางกลอย 85 คน จากใจแผ่นดิน ผู้ประท้วงชูแผนที่ระหว่างเดินขบวนเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินของชุมชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง นอกทำเนียบรัฐบาล ในกรุงเทพฯ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564
เอเอฟพี

ในวันศุกร์นี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แถลงข่าวที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้เฮลิคอปเตอร์บินขึ้นไปจับกุมตัวชาวกะเหรี่ยงบางกลอย 85 คนจากพื้นที่ใจแผ่นดินเนื่องจากอ้างว่า กะเหรี่ยงบุรุกพื้นที่ป่า และเบื้องต้น ได้ทำการฝากขังและเตรียมตั้งข้อหาบุกรุกสำหรับ 22 คน เปรียบเทียบปรับ 27 คน โดยระบุว่า จะไม่ดำเนินคดีกับอีก 36 คนซึ่งเป็นเด็ก ด้านทนายความฝ่ายกะเหรี่ยงระบุ เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้พบผู้ต้องหา แต่เตรียมยื่นประกันตัวเสาร์นี้

ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 08.00 น. ของวันนี้โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ 3 ลำ ขึ้นไปยังพื้นที่ซึ่งชาวกะเหรี่ยง เรียกว่า “บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน” เพื่อนำชาวกะเหรี่ยง กลุ่มที่ได้เดินเท้าจากพื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ. เพชรบุรี ซึ่งเป็นที่ที่รัฐจัดสรรให้ กลับไปหากินยังพื้นที่ใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นที่ทำกินเดิมของชาวกะเหรี่ยง ตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษ

กระทั่งในช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่สามารถนำตัวชาวกะเหรี่ยงลงมาทำการสอบสวน ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อทราบข่าวดังกล่าว ชาวกะเหรี่ยงจากบ้านโป่งลึก-บางกลอยหลาย 10 คน จึงพากันเดินทางมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการกับผู้ที่ถูกควบคุมตัวอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้มวลชนเข้าพบผู้ต้องหา

นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวในการแถลงข่าวระบุว่า ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ เพื่อปกป้องพื้นที่ต้นน้ำเพชรบุรี เนื่องจากเห็นว่า การใช้พื้นที่ป่าทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง มีการทำลายป่าเป็นวงกว้างและสร้างความเสียหาย

“ความเสียหายที่เกิดขึ้น 157 ไร่ เป็นป่าเบญจพรรณมูลค่าสูงที่สุดประมาณ 1.2 แสนบาทต่อไร่ จับกุมตัว 22 คน เปรียบเทียบปรับ 27 คน ที่เหลือ 36 คนเป็นเด็ก ไม่ได้แจ้งข้อหา ที่ไม่ได้แจ้งข้อหาเรานำส่งผู้ใหญ่บ้านแล้ว แจ้งข้อหาบุกรุก ม. 19 (1) และ (2) ตอนนี้เรามีเจ้าหน้าที่คุมสถานการณ์ คาดว่า ถ้าเลยเดือนเมษาไป เขาเผาไม่ได้ ไม่สามารถจะปลูกพืชได้ ก็จะไม่มีแรงจูงใจที่จะกลับไป… จะให้ทำไร่หมุนเวียน เขาจะต้องใช้พื้นที่เยอะมาก การหมุนเวียนมันไม่มีระบบ” นายประกิต กล่าว 

“เราไม่ได้ทอดทิ้ง แต่ขอให้อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ต้นน้ำ เราคัดค้านการประกันตัว ค่าปรับ ปรับในฐานการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของหัวหน้า (อุทยานฯ) และการเข้าไปในพื้นที่โดยไม่ได้อนุญาต มีโทษสูงสุด 1 แสนบาท แต่ถ้าการกระทำผิดครั้งแรก ปรับ 5 พันบาท 27 คน ที่เปรียบเทียบปรับ ก็อาจจะปรับไม่เท่ากัน” นายประกิต กล่าวเพิ่มเติม 

ด้าน พ.ต.อ.จิรัฏฐ์ โรจน์บวรวิทยา ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขออำนาจศาลจังหวัดเพชรบุรี ควบคุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับแล้ว 

“ผู้ต้องหา 22 คน 20 คนแรกที่ได้รับการจับกุมตัวมาจากพื้นที่บุกรุกบางกลอยบน อีก 1 คน จับจากที่มาประท้วงกับมวลชน อีก 1 คน เจ้าหน้าที่อุทยานจับ ขณะที่ผู้ต้องหาล่องแพมาจากแม่น้ำด้านบน รวมทั้งหมด 22 คน ได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นทั้งหมด 22 คนแล้ว โดยมีทนาย และล่ามมาร่วมสอบสวน ยื่นคำร้องขอฝากขังไปที่ศาลจังหวัดเพชรบุรี ศาลอนุญาตให้นำตัวไปส่งที่เรือนจำกลางจังหวัดเพชรบุรีแล้ว” พ.ต.อ.จิรัฏฐ์ กล่าว 

ขณะที่ น.ส. วราพรณ์ อุทัยรังษี ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ในวันเสาร์นี้ ทนายความจะดำเนินการยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด

“ทีมทนายของนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมาถึงพื้นที่ตั้งแต่บ่ายสอง เราเป็นทนายความที่ชาวบ้านยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือ ตั้งแต่ 25 กุมภาพันธ์ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้เข้าไปฟังการสอบสวน ทางเราก็ได้ยินว่า มีทนายความร่วมการสอบสวน แต่เป็นทนายที่ตำรวจประสานไปที่สภาทนายความเพชรบุรี” น.ส. วราพรณ์ กล่าว

“วันนี้ทำเรื่องประกันตัวไม่ทัน ตอนนี้ ทนายเลยขอคัดคำร้องขอฝากขัง เพื่อทราบชื่อผู้ต้องหาทั้งหมด ตอนนี้ทราบคือมี นายนอแอะ มีมิ ลูกชายของปู่คออี้ มีมิ ก็จะทำเรื่องขอประกันต่อไป แต่ยังไม่ทราบว่าจะต้องใช้หลักทรัพย์เท่าไหร่ ศาลเปิดทำการวันเสาร์ครึ่งวัน จะได้ประกันหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล” น.ส. วราพรณ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน นายเกรียงไกร ชีช่วง ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยง เขตตะนาวศรี เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ชาวกะเหรี่ยงเป็นห่วงพี่น้องที่ถูกควบคุมตัว และต้องการเรียกร้องให้ทั้งหมดได้รับความยุติธรรม

“ชาวบ้านพยายามขอเจรจาแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอม ปฏิบัติการรอบนี้ เขาเอาพี่น้องเราลงมาหมด แล้วสอบที่อุทยานฯ ตอนนี้ สิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องเพื่อให้แน่ใจว่า พี่น้องเราจะได้รับการคุ้มครองตามกระบวนการยุติธรรม เพราะทนายของพวกเราก็เข้าไปไม่ได้ ชาวบ้านขอเข้าไปก็ไปไม่ได้” นายเกรียงไกร กล่าวผ่านโทรศัพท์

“ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ของกรมอุทยานฯ เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า ชาวกะเหรี่ยงบุกรุกพื้นที่ป่า ขณะที่ชาวกะเหรี่ยงชี้ว่า การเข้าไปยังพื้นที่ป่าดังกล่าว เป็นการกลับไปทำเกษตรตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของบรรพบุรุษ โดยในวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่ได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปนำชาวบ้านลงจากพื้นที่ทำกิน ซึ่งถูกเรียกว่า “บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน” แต่ยังมีชาวกะเหรี่ยงบางส่วนที่ไม่ยอมกลับลงมาตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ จึงมีการปฏิบัติการอีกครั้งในวันศุกร์นี้

หลังจากการกลับไปทำกินในพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ทำให้เกิดการพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวกะเหรี่ยง กระทั่งเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมี นายพงศักดิ์ ต้นน้ำเพชร เป็นตัวแทน เพื่อยุติข้อพิพาทดังกล่าว

โดยในข้อตกลงระบุว่า รัฐต้องให้ 1. ชาวบ้านกลับไปทำกิน และอาศัยในพื้นที่ดินบรรพบุรุษ 2. เจ้าหน้าที่จะยุติการใช้กำลังกับชาวกะเหรี่ยง 3. เจ้าหน้าที่จะยุติการขนส่งของและอาหารของชาวบ้าน 4. ให้รัฐบาลดำเนินการตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ในการฟื้นฟูที่ทำกินชาวกะเหรี่ยง 5. ให้รัฐจัดสรรพื้นที่ทำกินให้กับชาวบ้านที่ประสงค์จะทำกินในบ้านบางกลอยล่าง และ 6. รัฐต้องยุติการตั้งด่านและเข้าตรวจ ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวกะเหรี่ยง

ตามคำบอกเล่าของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย เมื่อครั้งผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ลงพื้นที่ ในปี 2560 เปิดเผยว่า ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า “บ้านใจแผ่นดิน” และ “บางกลอยบน” มาเกิน 100 ปี โดยมีอาชีพเกษตรกรรมลักษณะไร่หมุนเวียน หาของป่า และล่าสัตว์ โดยมีเอกสารเป็นหลักฐานราชการต่าง ๆ เช่น แผนที่ทหาร ปี 2455 ต่อมาในปี 2524 ได้มีการประกาศพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

กระทั่งปี 2538 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้เจรจาขอให้ชาวกะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่บางกลอยบนและใจแผ่นดิน อพยพลงมาอยู่ในพื้นที่ด้านล่าง ซึ่งรัฐสัญญาว่าจะจัดสรรพื้นที่ปลูกบ้านและทำกสิกรรมให้ พื้นที่ดังกล่าวถูกเรียกว่า “บ้านโป่งลึก-บางกลอย” หรือ “บางกลอยล่าง” แต่ชาวบ้านบางส่วนยังกลับไปใช้พื้นที่ทำกินที่บางกลอยบนและใจแผ่นดินอยู่ เพราะเห็นว่าพื้นที่บางกลอยล่างเป็นหินทำเกษตรไม่ได้

ต่อมาปี 2553-2554 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขณะนั้น เริ่ม “ยุทธการตะนาวศรี” เข้าไปจับกุมชาวกะเหรี่ยงที่ขึ้นไปทำกิน และอาศัยในพื้นที่บางกลอยบน และใจแผ่นดิน โดยมีการเผาทำลายบ้าน และยุ้งฉางของชาวกะเหรี่ยง ทำให้ชาวกะเหรี่ยงดำเนินการฟ้องร้อง นายชัยวัฒน์ และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ระหว่างการต่อสู้คดี นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงในฐานะพยานของคดี หายตัวไปหลังจากที่ออกไปเก็บน้ำผึ้ง ต่อมานางพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของนายพอละจี ได้ยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายพอละจี เพราะนายชัยวัฒน์ เป็นคนจับตัวนายพอละจี ก่อนจะหายตัวไป แต่ศาลจังหวัดเพชรบุรีมีคำพิพากษา ในเดือนกรกฎาคม 2557 ให้ยกฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ แต่สำหรับคดีเผาทำลายบ้านกะเหรี่ยง เดือนมิถุนายน 2561 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้กรมอุทยานฯ จ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวกระเหรี่ยง 6 คน เป็นเงินราว 2.9 แสนบาท

ต่อมากันยายน 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ยืนยันว่า พบชิ้นส่วนกะโหลกของนายพอละจี ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  และเป็นการเสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรม นำมาสู่การยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ในฐานะผู้ต้องสงสัยอีกครั้ง แต่มกราคม 2563 อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์และพวก เพราะการตรวจดีเอ็นเอด้วยไมโตคอนเดรีย สามารถระบุได้เพียงสายสัมพันธ์กับมารดาเท่านั้น ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ชัด ล่าสุดในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ชี้มูลความผิดนายชัยวัฒน์ เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมีมติให้ออกจากราชการ แต่ นายชัยวัฒน์ ได้ดำเนินการฟ้อง ป.ป.ท กลับเนื่องจากเห็นว่า มติดังกล่าวมิชอบ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง