ศาลตัดสินจำคุก 3 ปี “นิว จตุพร” ฐานแต่งกายเลียนแบบพระราชินี
2022.09.12
กรุงเทพ

ในวันจันทร์นี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาจำคุก น.ส. จตุพร แซ่อึง หรือนิว เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานแต่งกายเลียนแบบพระราชินีในการเดินแฟชั่นโชว์ของกลุ่มราษฎร เมื่อสองปีก่อน ซึ่งศาลเห็นว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ในตอนเช้าวันนี้ น.ส. จตุพร เดินทางไปยังศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง เพื่อฟังคำพิพากษาด้วยตนเอง โดยแต่งกายในชุดไทย
“หนูยืนยันว่าตัวเองไม่ได้ผิดอะไร แค่การใส่ชุดไทย พยานโจทก์ก็ยอมรับว่าตัวเองตีความไปเอง เพราะมีคำถามว่าเป็นการตีความไปเองว่าเลียนแบบราชินีใช่ไหม ซึ่งเขาก็ยอมรับ เราแต่งตัววันนั้นก็คือเราที่เป็นเราในเวอร์ชั่นชุดไทย และวันนี้ ที่หนูแต่งชุดไทยมาก็ยืนยันคำเดิมว่า หนูก็คือหนูที่เป็นชุดไทย แค่อยากใส่ชุดไทย มันจะผิดอยู่เหรอ เรามีสิทธิในร่างกายตัวเองว่าจะแต่งอะไรก็ได้” น.ส. จตุพร กล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนฟังคำพิพากษา
ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ว่า นายวัฒนพล ไชยมณี ผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้อ่านคำพิพากษาคดี ที่ น.ส. วริษนันท์ ศรีบวรธนกิจตติ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) และเจ้าของเพจ “เชียร์ลุง” เป็นผู้ยื่นฟ้อง น.ส. จตุพร ที่ สน. ยานนาวา เมื่อปลายปี 2563 ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ
“พิพากษาจำคุก 3 ปี นิว จตุพร คดี ม.112 จากการถูกกล่าวหาว่า #แต่งกายเลียนแบบราชินี ร่วมม็อบแฟชั่นโชว์ และพิพากษาปรับ 1,500 บาท ในฐานความผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี ปรับ 1,000 บาท” ศูนย์ทนายฯ ระบุ
กรณีนี้ สืบเนื่องมาจากในช่วงเย็นของวันที่ 29 ตุลาคม 2563 กลุ่มราษฎรได้จัดชุมนุมบริเวณถนนสีลม หน้าวัดแขก และมีกิจกรรมเดินแฟชั่นโชว์ชุดไทยและชุดสากลบนพรมแดง ซึ่ง น.ส. จตุพร ได้สวมชุดไทยประยุกต์ร่วมกิจกรรมดังกล่าว ต่อมาในวันที่ 11 ธันวาคม 2563 น.ส. จตุพร ได้รับหมายเรียกร้องจาก สน. ยานนาวา ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ในข้อหา ม. 112 ซึ่ง น.ส. จตุพร ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวนและได้รับการประกันตัว
หลังการพิพากษาในวันนี้ ทนายความได้ยื่นขอประกันตัว น.ส. จตุพร โดยใช้หลักทรัพย์ 3 แสนบาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ อย่างไรก็ตาม ศาลยังไม่ได้ให้ประกันตัว
“คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์ของนิวจะถูกส่งไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ซึ่งคาดว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งภายใน 3 วัน ระหว่างนี้ นิวจะถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางจนกว่าศาลจะมีคำสั่ง ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์เคยไม่ให้ประกัน สมบัติ ทองย้อย คดี ม.112 ทำให้ถูกขังมาจนถึงปัจจุบัน” ศูนย์ทนายฯ ทวีต
ด้าน น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การแต่งกายด้วยชุดแบบใดก็ตาม ไม่ควรกลายเป็นความผิดทางอาญา
“ถ้ากฎหมายมีมาตรฐาน นักกฎหมาย หรือประชาชนทั่วไปต้องรู้ว่าอะไรคือบรรทัดฐาน การแสดงออกใดทำได้ การพูดอะไรเข้าข่ายหมิ่น ซึ่งการแต่งกายไม่น่าจะเป็นความผิดได้ตามเจตนารมย์ของ ม.112 ขณะเดียวกัน คดีนี้ ผู้แจ้งความมีความเห็นแตกต่างทางการเมืองกับจำเลย ดังนั้น ตำรวจ และอัยการจำเป็นต้องคัดกรองอย่างละเอียดว่า เป็นการร้องที่มีความโน้มเอียงทางการเมืองหรือไม่ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่” น.ส. พรเพ็ญ กล่าวผ่านโทรศัพท์
กระแสการชุมนุมที่เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำให้เกิดการชุมนุมในข้อเรียกร้องใกล้กว่าพันครั้ง ทั่วประเทศ และทำให้จนสิ้นเดือนสิงหาคม 2565 มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 1,853 คน ในจำนวน 1,120 คดี ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 คน ตามการเปิดเผยของศูนย์ทนายฯ