เขื่อนที่จะสร้างในลาวสร้างความกังวลให้ไทย เรื่องผลกระทบตามพรมแดนร่วม
2021.12.22

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่จะสร้างขึ้นบนแม่น้ำโขงในประเทศลาว กำลังสร้างความกังวลให้แก่ไทย ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมต่างเตือนเรื่องการบังคับให้ชาวบ้านต้องย้ายถิ่นฐาน ผลกระทบต่อจำนวนปลาในแม่น้ำโขง และความมั่นคงตามพรมแดนร่วมของลาวและไทย
ในการสัมมนาที่อำเภอเชียงคานในภาคอีสานของไทย เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ผู้เข้าร่วมสัมมนากล่าวว่า เขื่อนสานะคามที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน ซึ่งตอนนี้กำลังจะเดินหน้าต่อไป หลังจากล่าช้าไปสองปีเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 จะทำให้ชาวบ้านจำนวนมากของลาวต้องย้ายถิ่นฐาน
“การสร้างเขื่อนนี้จะกระทบต่อสุขภาพ และการทำมาหากินของชาวบ้านเหล่านี้” ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจสังคมจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ประเทศไทย ผู้ที่กล่าวว่าได้ศึกษารายงานที่ได้รับจากบริษัทผู้พัฒนาโครงการนี้
“แน่นอนว่า ผลกระทบที่รุนแรงจะเกิดขึ้นในลาว ผลกระทบในประเทศใกล้เคียงอาจรุนแรงน้อยกว่า” เขากล่าว “จนถึงตอนนี้ ผู้พัฒนาโครงการนี้ยังไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับค่าชดเชยที่จะจ่ายให้แก่ชาวบ้านที่ต้องย้ายถิ่นฐาน” ดร.พีรธร กล่าวต่อ
นอกจากนี้ ผู้พัฒนาโครงการยังไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่โครงการนี้จะมีต่อจำนวนปลาตามแนวชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบในแม่น้ำโขง ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ ผู้เชี่ยวชาญด้านประมงจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประเทศไทย กล่าว
“ปลาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามโขดหินและบริเวณที่มีน้ำไหลเชี่ยว และบริเวณน้ำลึกของแม่น้ำโขง ดังนั้น ถ้าสร้างเขื่อนนี้ขึ้น และไม่ได้มีการประเมินผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา” ศ.ดร.ทวนทอง กล่าว
จากการประเมินผลกระทบเบื้องต้น เขื่อนสานะคาม โครงการมูลค่าก่อสร้าง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 684 เมกะวัตต์ จะสร้างขึ้นบนแม่น้ำโขงบริเวณระหว่างอำเภอแก่นท้าว จังหวัดไซยะบุรี และอำเภอสานะคาม จังหวัดเวียงจันทน์ และจะต้องอพยพย้ายถิ่นฐานชาวบ้านจำนวน 267 ครอบครัว จำนวน 1,127 คน ในสามหมู่บ้าน
ผู้พัฒนาโครงการนี้ ซึ่งจะจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ไทยเป็นหลักเมื่อเขื่อนเริ่มดำเนินการ คือ บริษัท ต้าถัง (ลาว) สานะคาม ไฮโดรพาวเวอร์ บริษัทลูกของต้าถัง อินเตอร์เนชั่นแนล พาวเวอร์ เจเนอเรชั่น ของจีน
ความกังวลเรื่องความมั่นคงตามพรมแดน
ผู้เข้าร่วมการสัมมนาในไทยยังกังวลด้วยว่า การดำเนินการของเขื่อนนี้จะทำให้การลักลอบและความเคลื่อนไหวอื่น ๆ ข้ามพรมแดน เป็นไปได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น อันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไทย
“หลังสร้างเขื่อนนี้แล้ว ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะต่ำลง และเรือตรวจการณ์ของเราอาจติดหล่ม” น.อ. นิรุตติ์ มาทอง เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงในจังหวัดหนองคาย กล่าว
“และชาวบ้านที่อาศัยใกล้แม่น้ำโขงจะสามารถเดินข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งได้”
“ดังนั้น เขื่อนนี้จะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินของคนเท่านั้น แต่ยังต่อชายแดนและเกาะแก่งอื่น ๆ ในแม่น้ำโขงด้วย” เขากล่าว
นายธาริต ธนพัฒน์นพพล หัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัยของอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย กังวลว่า การดำเนินการของเขื่อนนี้จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างลาวและไทย โดยบอกว่าจังหวัดเลยอยู่ติดกับจังหวัดไซยะบุรีและเวียงจันทน์ของลาว
“ดังนั้น ถ้าสร้างเขื่อนนี้ขึ้นมา จะกระทบทั้งสามจังหวัดนี้” เขากล่าว “ในฐานะหัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัยของอำเภอของผม ผมคิดว่าจำเป็นมากที่เราจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่ของอำเภอสานะคาม ในเวียงจันทน์ และอำเภอแก่นท้าวในไซยะบุรี”
เรียกร้องให้หยุดเดินหน้า
ผู้ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนในไทยยังได้เข้าร่วมในการสัมมนาครั้งนี้ด้วย และได้เรียกร้องให้ผู้พัฒนาโครงการและรัฐบาลลาว หยุดการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนนี้ จนกว่าจะให้การรับรองได้ว่า โครงการนี้จะไม่ส่งผลกระทบในทางไม่ดีต่อแม่น้ำโขงในฝั่งของไทย
“ข้อมูลที่เราได้รับมาไม่เพียงพอ” สมาชิกของเครือข่ายคนไทยในแม่น้ำโขงตอนล่างกล่าว โดยขอไม่เปิดเผยนามเพื่อแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่
“เขื่อนนี้จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง โดยจะทำให้การประมงลดลง ปลาใหญ่จะหายไป และการทำมาหากินของชาวประมงและเกษตรกรของเราจะสูญสิ้นไป” เขากล่าว “ผู้พัฒนาเขื่อนจะสร้างงานให้แก่ชาวประมงและเกษตรกรได้อย่างไร”
นอกจากนี้ ยังควรเปิดโอกาสให้ชาวบ้านในลาวและคนอื่น ๆ ที่อาศัยตามแม่น้ำโขงเข้ามาร่วมหารือด้วย ผู้แทนของเครือข่ายแม่น้ำโขงในจังหวัดเลยกล่าว “เราพูดคุยกันในหมู่พวกเรากันเองที่นี่ และนั่นไม่ถูกต้อง”
“เราควรเชิญคนจากประเทศเพื่อนบ้านมาร่วมพูดคุยกับเราด้วย เพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และดำเนินการร่วมกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเรา และสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน” เขากล่าว
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติของไทย บอกในที่ประชุมว่า ข้อมูลที่มีในขณะนี้เกี่ยวกับเขื่อนสานะคาม ถูกส่งให้แก่ประเทศไทยเมื่อปี 2562 และตอนนี้ข้อมูลนี้ก็เก่าเกินไปแล้ว
“เราได้ตรวจสอบข้อมูลนั้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม ผมยืนยันได้เลยว่าข้อมูลที่เราได้รับนั้นไม่ครบถ้วน และไม่ชัดเจนในหลาย ๆ ด้าน”
“เราได้ขอให้ฝ่ายโน้นส่งข้อมูลเพิ่มเติมมาให้เรา” เขากล่าว
ลาวได้สร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำหลายแห่งบนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา และกำลังสร้างอีกจำนวน 50 เขื่อน ภายใต้แผนที่ต้องการเป็น “ขุมพลังงานแห่งเอเชียอาคเนย์” และส่งออกกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้แก่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศไทย
รัฐบาลลาวมองว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นวิธีส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ แต่โครงการสร้างเขื่อนเป็นที่ถกเถียงกัน เนื่องจากชาวบ้านถูกย้ายถิ่นฐานโดยไม่ได้รับเงินชดเชยอย่างเพียงพอ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการด้านการเงินและความต้องการพลังงานที่น่ากังขา
รายงานโดย เรดิโอฟรีเอเชีย หน่วยงานต้นสังกัดเครือเบนาร์นิวส์