มองผ่านสายตาชายชรา : อุปสรรคบนเส้นทางสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และสุเบล ราย บันดารี
2022.06.22
กรุงเทพฯ
มองผ่านสายตาชายชรา : อุปสรรคบนเส้นทางสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักปรัชญาและนักวิจารณ์สังคมไทย ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการครบรอบ 90 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปฏิวัติการปกครองสยาม ที่บ้านพักย่านบางรัก กรุงเทพฯ วันที่ 10 มิถุนายน 2565
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ถือกำเนิดหลัง “การปฏิวัติสยาม” ในวันที่ปัญญาชน สมาชิกของชนชั้นนำของประเทศ ร่วมกับกลุ่มทหารลุกขึ้นมายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดของการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีในประเทศไทยมาเกือบ 7 ศตวรรษ

การยึดอำนาจการปกครองเริ่มขึ้นเมื่อก่อนรุ่งสางของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หากแต่ไม่ได้เป็นไปเพื่อการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเปลี่ยนแปลงประเทศสยามไปเป็นสาธารณรัฐ แต่ให้มีการปกครองในระบอบราชาธิปไตยโดยพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

สุลักษณ์ ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในฐานะนักวิชาการฝีปากกล้า เขาใช้ชีวิตย่างเข้าปีที่ 90 เคียงคลอมากับจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศที่เข้าสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของชาติไทย แม้ว่ากองทัพทำลายความหวังของเหล่าประชาชนที่ออกมาเรียกร้องไขว่คว้าหาประชาธิปไตยเต็มใบ ด้วยการแทรกแซงการเมือง จนนำไปสู่การล้มล้างรัฐบาลมาอย่างน้อย 12 ครั้ง

“ก่อนปี 2475 สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย ท่านเป็นใหญ่คนเดียว แต่พอ 2475 ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายหมด อันนี้เป็นชัยชนะข้อแรก” สุลักษณ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ในระหว่างให้สัมภาษณ์ที่บ้านของเขาที่บางรัก กรุงเทพฯ เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

“ในรอบ 90 ปีมานี้ ตอนนี้เราลงตกต่ำที่สุด” สุลักษณ์ ชายสูงอายุที่ต้องเดินด้วยไม้เท้าค้ำยัน ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎร และผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก กล่าวเพิ่มเติม

ขณะนี้ สถาบันกษัตริย์ยังคงทรงอำนาจทางจิตใจต่อสังคมไทย และได้รับการคุ้มครองด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเข้มงวด แต่สุลักษณ์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมาก ก็ไม่เกรงกลัวที่จะพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา  

สุลักษณ์ โดนดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายครั้ง ซึ่งการที่ประชาชนไทยกระทำการใด ๆ แล้วหากมีผู้พบเห็นว่า เป็นการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ย่อมมีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกแจ้งความดำเนินคดีและโดนจำคุก เช่น กรณีการแชร์หรือกดไลค์พระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 ทางเฟซบุ๊ก 

รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้นำรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2557 ยังคงอยู่ในอำนาจ และใช้กฎหมาย ม. 112 เพื่อจัดการกับกลุ่มเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย 

“พลเอก ประยุทธ์ อ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตย แต่มันเป็นประชาธิปไตยปลอม เพราะเขาเป็นทหารที่ไม่เคยออกจากตำแหน่งเลย เขาอยู่ในอำนาจมาตั้ง 8-9 ปี แล้ว และยังไม่ยอมลงจากอำนาจ” สุลักษณ์ ในวัย 89 ปี กล่าวกับเบนาร์นิวส์

220617-th-90thAnniversary-democracy-profile-revolution.jpg

ภาพหมู่ของคณะราษฎรในส่วนของกองทัพบกที่เข้าร่วมในการปฏิวัติสยาม ซึ่งได้ยึดพระราชอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 (พิพิธภัณฑ์รัฐสภา)

การปฏิวัติสยามถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุครัฐธรรมนูญของประเทศไทย ถือเป็นยุคทองของประเทศ แต่ห้วงเวลาที่นับได้ว่าเป็น “ประชาธิปไตยเต็มใบ” กลับมีเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น สุลักษณ์กล่าว

ภายในเวลาเพียงหนึ่งปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แกนนำคณะราษฎรได้แตกแยกกันในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจ “สมุดปกเหลือง” ของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกมองว่าเป็นการนำระบบเศรษฐกิจของคอมมิวมิสต์มาใช้ จนพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรในเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 และนำไปสู่การรัฐประหาร ในปีนั้น

จากนั้น ประเทศไทย มีการรัฐประหารหรือกบฏอีกประปราย จนกระทั่งได้เผชิญกับการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 ที่สุลักษณ์ชี้ว่าเป็นการสร้างความถดถอยต่อประชาธิปไตยของประเทศ

“ผู้นำเผด็จการก็ยกย่องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เคยอยู่ใต้รัฐธรรมนูญให้เป็นเทวราชาและไม่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เพราะพวกเขาเชื่อว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ได้” สุลักษณ์ เล่าย้อนเหตุการณ์ โดยระบุถึงเหตุการณ์ที่ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ นำการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490

ตั้งแต่นั้นมาสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยก็กลายเป็นสถาบันที่ห้ามใครวิพากษ์วิจารณ์ ในทางกลับกัน ตำราเรียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ในทุกวันนี้ ไม่ได้บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ที่กลายเป็นเพียงวันเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญที่เงียบเหงา และมีเพียงความทรงจำบางอย่างที่หลงเหลืออยู่เท่านั้น

“กองทัพที่มีความจงรักภักดี ได้สืบต่อมรดกตกทอดของการเปลี่ยนถ่ายอำนาจที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบประชาธิปไตยที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแท้จริงที่ประกาศโดยคณะราษฎร และผู้ร่วมสนับสนุนการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2475 ไม่เคยทำได้สำเร็จ” ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซินแมดิสัน ระบุในบทความของนิคเคอิ ในปี พ.ศ. 2563

ธงชัย กล่าวว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ประสบความสำเร็จในการสร้างอำนาจทางจิตใจที่ปราศจากการท้าทายในยุค 1970

“อำนาจนั้นต่อมาได้ถูกเปลี่ยนถ่ายมาเป็นการปกครองทางการเมือง ที่ยังยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้” ธงชัยกล่าวเพิ่มเติม

220617-th-90thAnniversary-democracy-profile-monarchy.jpg

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จไปประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 วันที่ 5 ตุลาคม 2564 (เอพี)

ในปี พ.ศ. 2560 หมุดคณะราษฎร ที่เคยฝังอยู่ตรงลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่า ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเครื่องหมายในการรำลึกถึงการปฏิวัติสยามได้หายไป และถูกแทนที่ด้วย “หมุดหน้าใส” ที่ฝ่ายปกป้องสถาบันฯ ทำขึ้นมาแทน

การปฏิวัติสยาม “เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องประชาธิปไตยและเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 2475 เป็นสถานการณ์ที่เสี่ยงมาก เพราะว่าทุกคนใน 2475 ก็เอาชีวิตเข้าแลกเหมือนกัน ปัจจุบันนี้ก็ค่อนข้างจะไม่ต่างกัน เพราะทุกคนก็ต่อสู้และสุ่มเสี่ยงต่อการเสียเสรีภาพ เสียชีวิตไปในการต่อสู้ครับ” อานนท์ นำภา นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการดำเนินคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

อานนท์ ในวัย 37 ปี เป็นหนึ่งในแกนนำหลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหว และโดนดำเนินคดีในมาตรา 112 เพราะการต่อสู้เพื่อที่จะนำประชาธิปไตยเต็มใบให้เกิดขึ้นในประเทศไทย อานนท์ ระบุว่า ตัวเขาเองและนักกิจกรรมคนอื่น ๆ พร้อมที่จะเอาอิสรภาพและชีวิตเข้าแลกเพื่อประชาธิปไตย

มิตรแท้ของสถาบันพระมหากษัตริย์

สุลักษณ์ ถือกำเนิดในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่มีฐานะดี เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476 เขาได้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์และวรรณคดี ที่มหาวิทยาลัยเวลส์ ช่วงปี พ.ศ. 2493 นอกจากนี้ เขาสำเร็จการศึกษาและสอบเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ จากสำนักกฎหมายมิดเดิลเทมเปิล สหราชอาณาจักร ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2504 และสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ในกรุงเทพฯ

สุลักษณ์ เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นบรรณาธิการ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ซึ่งเป็นวารสารวิชาการภาษาไทยที่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์เดินขบวนของนักศึกษา ในการยึดอำนาจคืนมาจากระบอบเผด็จการทหารถนอม-ประภาส ในปี พ.ศ. 2516

ในปี พ.ศ. 2519 ประเทศไทยประสบกับเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ โดยมีนักศึกษาถูกสังหารนับร้อยคน และถูกคุมขังอีกนับพัน ทหารได้เผาร้านหนังสือของสุลักษณ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งความรู้ทางวิชาการสำหรับกลุ่มนักเคลื่อนไหว พร้อมทั้งออกหมายจับสุลักษณ์ จนเขาต้องหนีออกไปอยู่ต่างประเทศเป็นเวลาสองปี

สุลักษณ์ มีส่วนช่วยเหลือขบวนการใต้ดินหลายกลุ่ม ในฐานะนักกิจกรรมทางสังคม จนได้รับรางวัลโนเบลทางเลือก (Alternative Nobel Peace Prize) ในปี พ.ศ. 2538

220617-th-90thAnniversary-democracy-profile-democracy.jpg

ตำรวจยืนคุมนักศึกษาที่ถูกกลาวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ในสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งตำรวจตระเวนชายแดนได้บุกพื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อกวาดล้างกลุ่มต่อต้าน “ถนอม กิตติขจร” จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 40 คน บาดเจ็บกว่า 150 คน (เอพี)

สุลักษณ์ ผู้ที่นิยามตัวเองว่าเป็น “มิตรแท้ของสถาบันกษัตริย์” ถูกจำคุก 4 ครั้ง และต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 5 ครั้ง

สถาบันกษัตริย์ “เป็นหัวข้อที่ละเอียดอ่อนสำหรับประเทศนี้ แม้ว่าคุณจะไม่ชอบ หรือชื่นชมอย่างไม่ลืมหูลืมตาก็ตาม” สุลักษณ์กล่าว ระหว่างการอภิปรายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

“สำหรับผม มันผิดทั้งสองฝั่ง สถาบันกษัตริย์แน่นอนว่าเป็นสถาบันที่มีตัวแทน คือ พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน และพระมหากษัตริย์คือมนุษย์คนหนึ่ง ท่านมีจุดอ่อนจุดแข็ง ที่พวกเราควรพยายามจะเข้าใจ” สุลักษณ์กล่าว

“และด้วยความเข้าใจนั้น บางทีคุณสามารถใช้ความอ่อนน้อมถวายคำแนะนำว่าควรเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งผมมั่นใจว่าในหลวงท่านจะรับฟัง แม้ว่าพระองค์เองอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ด้วยพระองค์เองก็ตาม” สุลักษณ์กล่าวเพิ่มเติม

สุลักษณ์ ระบุด้วยว่า รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตนเข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์เป็นเวลาถึง 90 นาที

“พระองค์ทรงกังวลใน 3 เรื่อง คือ สถาบันกษัตริย์จะอยู่รอดในประเทศนี้ไหม ศาสนาพุทธจะคงอยู่อย่างมีความหมายได้อย่างไร และประชาธิปไตยจะเหมาะกับประเทศนี้ไหม” สุลักษณ์กล่าว

ในอีกปลายขั้วหนึ่งของแนวคิด สุลักษณ์ มีความหวังในคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย

“คนรุ่นใหม่เข้าใจประเทศไทย โครงสร้างมันอยุติธรรม โครงสร้างมันเอื้ออำนวยต่อคนรวย คนมีอำนาจ เอารัดเอาเปรียบคนจน” สุลักษณ์กล่าว

“สำหรับผมแล้ว ประชาธิปไตยคือ ต้องมีเสรีภาพในการพูด ถกเถียงกัน ไม่เห็นด้วยกัน แต่เคารพคนที่เห็นต่างจากเรา” สุลักษณ์กล่าว เขาเขียนหนังสือมากกว่า 100 เล่ม เกี่ยวกับศาสนาพุทธ สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และประเด็นทางสังคมอื่น ๆ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมหาศาล รวมตัวลุกขึ้นมาเดินขบวนบนท้องถนน เพื่อต่อต้านรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเมื่อมีการปรากฏตัวของสุลักษณ์ ในพื้นที่ชุมนุมหลายครั้ง ทำให้หลาย ๆ คนถึงกับรู้สึกประหลาดใจ

“ผมเป็นคนแก่ คนแก่อย่างผมมองไปหาคนรุ่นใหม่ ผมเห็นคนหนุ่มสาวหลายคนมีความกล้าหาญ ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ” สุลักษณ์ทิ้งท้าย

“ผมหวังว่าประเทศไทย ประชาธิปไตยเมื่ออายุครบ 100 ปี น่าจะเปลี่ยนไปในทางที่เป็นวัฒนะ ไม่ใช่หายนะอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง