ศาลสั่งคุก ชลธิชา สส. ก้าวไกล 2 ปี คดีปราศรัยผิด ม. 112
2024.05.27
กรุงเทพฯ

ศาลจังหวัดธัญบุรี พิพากษาจำคุก น.ส. ชลธิชา แจ้งเร็ว สส. ปทุมธานี พรรคก้าวไกล เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา จากคดีปราศรัยหน้าศาลจังหวัดธัญบุรีพาดพิงสถาบันกษัตริย์ ผิด ม. 112 เมื่อ 11 กันยายน 2564 ขณะที่อีกคดี ศาลอาญาพิพากษาจำคุก นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ นักร้องวง The Bottom Blues เป็นเวลา 4 ปี จากคดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564
“การปราศรัยของจำเลย (น.ส. ชลธิชา) ฟังแล้วทำให้เข้าใจได้ว่า พระมหากษัตริย์เอาเงินภาษีประชาชนมาใช้ส่วนพระองค์ และ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้กฎหมายให้ทรัพย์สินส่วนรวมไปเป็นส่วนตัวพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนคิดว่าพระมหากษัตริย์เอาทรัพย์สินมาเป็นส่วนตัว แทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ”
“จึงทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง พิพากษาให้ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษ 1 ใน 3 เหลือคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ
น.ส. ชลธิชา เปิดเผยหลังฟังคำพิพากษาว่า จะต่อสู้คดีต่อไปในชั้นอุทธรณ์
“ผลคำตัดสินไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะตามสถิติแล้วคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ มีถึง 88 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกพิพากษาให้มีความผิด ดิฉันได้รับการประกันตัว แต่ก็มีคนอีกจำนวนมากที่ต้องติดคุกในตอนนี้ ก็หวังว่า เขาจะได้รับประกันตัวเช่นเดียวกันดิฉันในเร็ววัน ระหว่างนี้ก็จะยื่นอุทธรณ์ต่อไป ซึ่งศาลก็ให้ประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ 1.5 แสนบาท รายละเอียดส่วนอื่นต้องปรึกษาทนายความก่อน” น.ส. ชลธิชา กล่าว
คดีของ น.ส. ชลธิชา สืบเนื่องจาก การปราศรัยในการชุมนุมที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร ซึ่งถูกควบคุมตัวในขณะนั้น
โดย น.ส. ชลธิชา ซึ่งขณะนั้นเป็นนักกิจกรรมการเมืองได้ปราศรัยถึงการที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ได้ออก พรก. โอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ และ พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับพระราชอำนาจของในหลวงรัชกาลที่ 10
โดยพนักงานสอบสวน และอัยการมีความเห็นว่า การปราศรัยครั้งดังกล่าวอาจฝ่าฝืนกฎหมายจึงส่งฟ้องต่อศาลในข้อหาหลักคือ ม. 112
คุกแอมมี่ 4 ปี คดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ร. 10
ขณะที่อีกหนึ่งคดี ศาลอาญามีคำพิพากษาให้จำคุก นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ นักร้องวง The Bottom Blues เป็นเวลา 4 ปี ไม่รอลงอาญา จากเหตุเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 10 หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564
นายไชยอมร และทนายความเดินทางมาฟังคำพิพากษาที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ในช่วงสายท่ามกลางการสังเกตการณ์ของประชาชน และสื่อมวลชน

“การกระทำดังกล่าวเป็นลักษณะการขู่เข็ญโดยการแสดงออกด้วยการกระทำว่าจะทำให้เสียหายในทางใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นร่างกายทรัพย์สินสิทธิเสรีภาพชื่อเสียงกิตติคุณและลดคุณค่าของพระมหากษัตริย์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกำหนดจำคุก 6 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษเหลือ 4 ปี ไม่รอลงอาญา” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ
ขณะเดียวกัน นายปูน-ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า อายุ 18 ปี จำเลยร่วมในคดี ก็ถูกตัดสินให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน
ก่อนหน้านี้ ศาลเคยนัดนายไชยอมรมาฟังคำพิพากษาคดีนี้ สองครั้งแล้วในเดือนมีนาคม และเมษายน 2567 แต่นายไชยอมร ได้ขอเลื่อนนัดเนื่องจากมีอาการป่วย กระทั่งสามารถเดินทางมาฟังคำพิพากษาได้ในวันจันทร์นี้
ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2564 ตำรวจได้เข้าจับกุมตัว นายไชยอมร ที่บ้านพักใน จ. อยุธยา เนื่องจากในวันเกิดเหตุ นายไชยอมร ได้โพสต์วิดีโอเพลิงไหม้ดังกล่าว บนอินสตาแกรมส่วนตัว และหลังการจับกุมนายไชยอมร ได้ยอมรับว่า ตนเองเป็นผู้ลงมือเผา เพื่อแสดงออกทางสัญลักษณ์บางอย่าง
ขณะที่นายธนพัฒน์ ถูกออกหมายเรียกในคดีเดียวกัน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 กระทั่งทั้งคู่ ถูกอัยการฟ้องต่อศาลในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ “วางเพลิงเผาทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 217 ในปลายปี 2564
ในวันเดียวกัน ศาลอาญาตลิ่งชันได้ อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาจำคุก น.ส. ธนพร(สงวนนามสกุล) แม่ลูกอ่อนชาวอุทัยธานี อายุ 24 ปี เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา จากการคอมเมนต์บนเฟซบุ๊ก 1 ข้อความ ในช่วงปี 2564
น.ส. ชลธิชา นายไชยอมร และนายธนพัฒน์ เป็นบุคคลที่ร่วมกิจกรรมการเมืองในช่วงกระแสการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,954 คน จาก 1,295 คดี
ในนั้นเป็นคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 272 คน จาก 303 คดี และปัจจุบัน มีผู้ถูกคุมขังจากคดีการเมืองอย่างน้อย 43 คน ในนั้นมีบางคนที่ประท้วงกระบวนการยุติธรรมด้วยการอดอาหาร เช่น น.ส. ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน ผู้ต้องหาคดีเดียวกันกับบุ้ง เป็นต้น