แรงงานเมียนมาเผชิญปัญหาสถานะ หลังศูนย์จัดหางานในไทยปิดทำการ
2024.07.24
อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ยามบ่ายของเดือนกรกฎาคม แรงงานชาวเมียนมาหลายร้อยคนยืนต่อแถวท่ามกลางสายฝนที่ด้านหน้าศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมา จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากที่นี่เป็นสถานที่ราชการแห่งสุดท้ายที่พวกเขาจะสามารถยื่นเรื่องขอเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity) เพื่ออยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทย
จนกระทั่งก่อนหน้านี้ไม่นาน ภาพเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันสามารถพบเห็นได้ที่ศูนย์บริหารจัดการฯ อีก 7 แห่งทั่วประเทศไทย ทว่าในวันที่ 7 กรกฎาคม ทางการไทยได้ปิดบรรดาศูนย์บริหารจัดการฯ ดังกล่าว ส่งผลให้แรงงานชาวเมียนมากว่าแสนชีวิต ต้องตกในสภาวะมืดแปดด้านว่าพวกเขาจะเดินเรื่องขอเอกสารที่สำคัญดังกล่าวได้จากที่ไหน
“หลังจากที่ศูนย์อื่น ๆ ปิด ชาวเมียนมากว่า 900 รายจะมาเฝ้าหน้าศูนย์ทุกวัน” นายหน้าจัดหางานประจำจังหวัดสมุทรสาคร ผู้ช่วยเหลือแรงงานผู้อพยพชาวเมียนมาในการจัดหาเอกสารระบุ แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวตนเพราะเหตุผลด้านความปลอดภัย
ประเทศไทยนับว่าเป็นแหล่งพักพิงของพลเมืองชาวเมียนมาราวสองล้านราย ผู้อพยพเข้ามาเพื่อทำงานในภาคเกษตรกรรม บริการ การประมง การผลิต และภาคส่วนอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ผู้ทำงานด้านการสนับสนุนสิทธิแรงงานระบุว่า แรงงานชาวเมียนมาจำนวนมากอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายหลังจากที่พวกเขาเดินทางข้ามมาทางตะเข็บชายแดน
ประชากรชาวเมียนมากว่าหลายพันคนลี้ภัยออกมาจากประเทศต้นทางของตนหลังจากเข้าร่วมขบวนประท้วงรัฐบาลทหารเมียนมาในปี 2564 และอีกครั้งหลังจากทางการเมียนมาเริ่มออกกฎหมายบังคับให้พลเมืองรุ่นเยาว์เข้ารับราชการเพื่อเป็นทหารในกองทัพ ในช่วงต้นปี 2567
นี่จึงสามารถกล่าวได้ว่า การปิดทำการของศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาในประเทศไทยเป็นการปิดโอกาสที่ชาวเมียนมาจะได้รับหนังสือรับรองบุคคล ซึ่งเป็นหลักฐานทางกฎหมายที่สำคัญในการพำนักและทำงานในประเทศไทย ชุมชนชาวเมียนมาจึงรู้สึกอกสั่นขวัญแขวนยิ่งกับสถานการณ์นี้
ทู ชิต กรรมการบริหารมูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนาในไทยประเมินว่า แรงงานเมียนมากว่า 200,000 ราย ยังอยู่ในระหว่างการสมัครเพื่อเอกสารรับรองบุคคล แต่บางรายไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายค่าสมัคร จึงต้องการเวลามากขึ้นกว่าเดิม
กฎหมายไทยระบุว่า แรงงานที่ไม่มีเอกสารทางกฎหมายรับรองมีความเสี่ยงที่จะถูกส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำ ถูกปรับเป็นเงินจำนวนมหาศาลและถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทาง
“แรงงานอพยพชาวเมียนมากำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูงมาก” ทู ออกความเห็น
ด้านทางการไทยชี้แจงว่า แรงงานทุกคนมีเวลามากพอที่จะจัดการเอกสารเพื่อต่ออายุการอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ศูนย์บริหารจัดการฯ ได้เปิดทำการในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทว่า กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานไม่ตอบรับคำขอสัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าวกับเรดิโอ ฟรี เอเชีย แม้ว่าจะส่งคำขอไปหลายครั้ง
ทางเลือกแสนน้อยนิด
สำหรับแรงงานอพยพชาวเมียนมาหลายราย หนทางอื่นนอกจากการได้มาซึ่งเอกสารรับรองบุคคลอย่างถูกต้องตามกฎหมายค่อนข้างสุ่มเสี่ยง พวกเขาสามารถเสี่ยงเดินทางกลับประเทศที่ซึ่งยังคุกรุ่นไปด้วยสถานการณ์ความวุ่นวายนับตั้งแต่มีการก่อรัฐประหารในปี 2564 เพื่อทำพาสปอร์ต แต่ก็อาจจะต้องถูกบังคับเกณฑ์ทหาร
หรือพวกเขาอาจเดินทางไปสถานทูตเมียนมาในกรุงเทพมหานคร เพื่อไปขอเดินเรื่องทำหนังสือเดินทาง แต่นี่คือทางเลือกที่ไม่ปลอดภัยยิ่งสำหรับผู้ลี้ภัยหลายรายที่อพยพออกจากเมียนมาด้วยเหตุผลทางการเมือง
“ต่อไปนี้การทำเอกสารจะยากขึ้นอีกขั้น ผมมีเพื่อนหลายคนที่พยายามจะขอเอกสารรับรองบุคคล แต่พวกเขาจะได้มันมาได้ยังไงถ้าสำนักงานต่าง ๆ ปิดทำการ” ชายชาวเมียนมาคนหนึ่งผู้อาศัยอยู่แถบชายแดน และไม่ประสงค์ออกนามเนื่องจากต้องการปกป้องสถานะของตนเองเพื่ออยู่ในประเทศไทยออกความเห็น
เขากล่าวว่าเขาสมัครและได้รับเอกสารรับรองบุคคลในปี 2566 กับศูนย์ที่อยู่ใกล้เขตกรุงเทพมหานคร แต่เพื่อนอีกหลายคนไม่ได้โชคดีแบบเขา แรงงานชาวเมียนมาอีกกว่า 15 รายที่อยู่ในกลุ่มสังคมเดียวกันไม่กล้าเดินทางหลายร้อยกิโลเมตรไปที่จังหวัดสมุทรสาครเพราะหวาดกลัวว่าจะโดนจับกุม หรือเพราะไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายค่าเดินทาง
“พวกเขาพยายามหาทางกันอยู่ แต่ก็หมดหนทางจริง ๆ ตอนนี้พวกเขาอยู่ได้ด้วยตั๋วตำรวจ” เขาอ้างถึงระบบแบบไม่เป็นทางการที่แรงงานต่างชาติต้องจ่ายเงินรายเดือนให้กับตำรวจท้องถิ่นเพื่อไม่ให้ตนเองถูกจับกุม “ตำรวจจะถามหาเอกสารอยู่เสมอ และจับพวกเราไปถ้าเราไม่มีเอกสารทางกฎหมายเพื่อยืนยันตัวตน ดังนั้นสถานการณ์ในอนาคตจึงมีความยากลำบาก”
ทว่า บรรดาผู้ที่ทำงานด้านการสนับสนุนสิทธิแรงงานโต้ว่า การปิดสำนักงานเหล่านี้ถือเป็นการทอดทิ้งแรงงานอพยพจำนวนมากที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ในชีวิตที่ซับซ้อน
บราห์ม เพรส ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานในประเทศไทยระบุว่า เอกสารรับรองบุคคลถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของผู้อพยพที่ต้องการตั้งตัวในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดจากกองทัพทหารเมียนมา
“ปัญหาคือเมื่อเอกสารหมดอายุ ผู้อพยพที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยซึ่งไม่ต้องการเดินทางกลับประเทศและไม่ประสงค์ที่จะเปิดเผยให้รัฐบาลรู้ตำแหน่งที่อยู่ของตนเอง คนเหล่านี้แหละที่จะตกที่นั่งลำบาก ดังนั้นการขอหนังสือสำคัญประจำตัว จึงเปรียบเสมือนขั้นตอนแรกที่พวกเขาจะได้เข้าระบบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง” เพรสกล่าว ซึ่งทู กรรมการบริหารมูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนาในไทยก็มีความเห็นในทำนองเดียวกัน
“แล้วใครจะเป็นผู้ออกเอกสารให้พวกเขา ถ้าคุณไม่มีเอกสารรับรองบุคคลไม่ได้ทำงานกับทางการเมียนมา คุณจะไปขอเอกสารทางราชการเพื่ออยู่และทำงานในประเทศไทยจากหน่วยงานไหนได้อีก” ทูกล่าว