อัยการสั่งฟ้อง ม. 112 ธนาธร กรณีไลฟ์วัคซีนพระราชทาน
2022.04.11
กรุงเทพฯ

อัยการมีความเห็นในวันจันทร์นี้สั่งฟ้อง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการไลฟ์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 ในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทาน : ใครได้ใครเสีย” โดยศาลอาญาได้รับฟ้องคดีดังกล่าว แต่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายธนาธร ระหว่างต่อสู้คดีด้วยวงเงิน 9 หมื่นบาท
กรณีดังกล่าว นายธนาธรได้แถลงผ่านไลฟ์บนเฟซบุ๊กเพจ “คณะก้าวหน้า” และ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” วิพากษ์-วิจารณ์ การเจรจาสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาลที่มีความล่าช้า และไม่ครอบคลุมต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศ โดยระบุว่า การจัดซื้อเป็นการหวังผลทางการเมือง และมีการกล่าวถึง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายธนาธร ต่อศาลอาญาในวันจันทร์นี้ ในฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาญาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา
“คุณประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีอนุมัติดีลอย่างนี้ขึ้น ถ้าเกิดว่าดีลอย่างนี้มีอะไรผิดพลาด คุณประยุทธ์จะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ ถ้าเกิดว่าวัคซีนผลิตได้ช้ากว่ากำหนดเวลา ถ้าเกิดว่าการผลิตวัคซีนมีปัญหาในการแจกจ่ายกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ถ้าเกิดว่าประชาชนเกิดอาการแพ้วัคซีน หรือวัคซีนมีประสิทธิภาพไม่ได้ตามเป้าหมาย คุณประยุทธจะรับผิดชอบไหวหรือไม่ เพราะประชาชนย่อมจะตั้งคำถามกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งมีผู้ถือหุ้นก็คือ ในหลวงรัชกาลที่ 10” ในคำฟ้องของอัยการ ระบุคำพูดที่เป็นปัญหาของนายธนาธร
“จากคำกล่าวของจำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยต่อองค์พระมหากษัตริย์ คือ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ว่าทรงมีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำของรัฐบาลที่นำงบประมาณไปใช้ในการสนับสนุนการผลิตและจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ แต่บริษัทเดียว อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศ และเป็นการกล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกิน เปรียบเทืยบเปรียบเปรย หรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายต่อเบื้องพระยุคลบาทของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10” คำฟ้องของอัยการ ระบุ
ด้าน นายธนาธร เปิดเผยต่อสื่อมวลชนที่หน้าศาลอาญาว่า ตนเองได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 9 หมื่นบาท มีเงื่อนไขห้ามตนเองกระทำซ้ำแบบที่ถูกฟ้อง หรือกระทำการใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งศาลนัดตรวจสอบพยานหลักฐานในวันที่ 6 มิถุนายน 2565
“เรายืนยันว่า สิ่งที่ผมได้ทำการพูดไปนั้นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งวันนี้เวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า สิ่งที่ผมพูดมันเป็นจริง วัคซีนที่สามารถป้องกันไวรัสมีประสิทธิภาพมากที่สุด ก็คือ วัคซีนชนิด mRNA ไม่ใช่วัคซีนชนิด Viral Vector ก็คิดว่า เวลามันจะพิสูจน์ว่า สิ่งที่พูดไปมันส่งผลกับประชาชนหรือไม่อย่างไร ประชาชนก็คงตัดสินเองได้ เราปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แล้วก็พร้อมสู้คดีถึงที่สุด โดยเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของเรา ดังนั้นก็คงจะเตรียมการเต็มที่” นายธนาธรกล่าว
“ยุคนี้ต้องบอกว่าเป็นยุคที่มีคดีการเมืองมากที่สุด เป็นยุคที่มีคดีจากเรื่อง 112 มากที่สุดมากกว่าทุกยุคทุกสมัย ผมก็ยืนยันว่า การใช้คดีทางการเมืองมาเล่นงานผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองไม่เป็นคุณอย่างยิ่งต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมไม่ใช่คนแรกและผมไม่ใช่คนสุดท้ายด้วย” นายธนาธร ระบุ
คดีที่เกิดขึ้นนี้ สืบเนื่องจาก การที่นายธนาธร วิพากษ์-วิจารณ์การจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท แอสตราเซเนกา ซึ่งจะมีบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นผู้ผลิตในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลเปิดเผยว่า สยามไบโอไซเอนซ์เป็นบริษัทที่ริเริ่มโดย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 ต่อมากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ส่งตัวแทนไปแจ้งความต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้เอาผิดนายธนาธร ในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และร้องให้ศาลมีคำสั่งลบข้อความที่เผยแพร่บนเฟซบุ๊ก
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ส่งตัวแทนไปแจ้งความต่อ กองบังคับการปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้เอาผิดนายธนาธร ในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอาญาได้ยกคำร้องของดีอีเอส ที่ร้องขอให้ศาลอาญาออกคำสั่งบังคับให้นายธนาธร ระงับการเผยแพร่วิดีโอแถลงดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ข้อความที่นายธนาธรระบุ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลในวันนี้
ตำรวจจับผู้ต้องสงสัยปาระเบิดที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 บ้านนายกฯ แล้ว 2 ราย
สืบเนื่องจาก ในเวลาประมาณ 19.30 น. ของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เกิดเหตุคนร้ายปาระเบิด 1 ลูก เข้าไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งภายในมีบ้านพักของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
พ.ต.อ. ดนุภัทร ขวัญพสุมนต์ ผู้กำกับการ สน.ท่าเรือ เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ในวันจันทร์นี้ถึงความคืบหน้าของกรณีที่เกิดขึ้นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้แล้ว 2 ราย โดยปัจจุบัน รายแรกถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ท่าเรือ ขณะที่อีกรายถูกควบคุมตัวโดย สน.บางซื่อ
“นายธนายุทธ ณ อยุธยา ตอนนี้ ถูกคุมตัวอยู่ที่ สน.ท่าเรือ กำลังสอบปากคำ เบื้องต้นเขาไปร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วบอกว่า มีคนเอาระเบิดมาฝากไว้ เราจึงแจ้งข้อหามีระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเขาให้การปฏิเสธว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุปาระเบิดที่ ราบ 1 ส่วนอีกคนที่มีภาพตรงกับกล้องวงจรปิด ตอนนี้อยู่ที่ สน.บางซื่อ” พ.ต.อ. ดนุภัทร กล่าวผ่านโทรศัพท์
พ.ต.อ. ดนุภัทร ระบุว่า นายธนายุทธ ได้ครอบครองประทัดยักษ์ และระเบิดปิงปองกว่า 160 ลูก จะถูกนำไปขออำนาจศาลฝากขังในวันอังคารนี้ ด้าน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาอีกราย ซึ่งถูกควบคุมตัวโดย สน.บางซื่อ มีชื่อว่า น.ส. ปฎิมา (สงวนนามสกุล) ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจพาตัวไปขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อฝากขัง และถูกนำตัวไปควบคุมที่ทัณฑสถานหญิงกลาง โดยถูกตั้งข้อหา ทำให้วัตถุระเบิดเกิดระเบิดขึ้น
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน