ศาลรัฐธรรมนูญสั่งก้าวไกลหยุดรณรงค์ยกเลิก ม. 112 ชี้เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2024.01.31
กรุงเทพฯ
ศาลรัฐธรรมนูญสั่งก้าวไกลหยุดรณรงค์ยกเลิก ม. 112 ชี้เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงกับสื่อมวลชนหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้หยุดเดินหน้าเสนอยกเลิกมาตรา 112 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567
รอยเตอร์

ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยในวันพุธนี้ว่า การที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกลใช้การยกเลิกมาตรา 112 เป็นนโยบายการหาเสียงเลือกตั้ง เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ห้ามไม่ให้รณรงค์ หรือแสดงความเห็นเรื่องดังกล่าวอีกในอนาคต

ศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มอ่านคำวินิจฉัย ในเวลา 14.00 น. โดยนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้องได้เดินทางมาฟังคำวินิจฉัยด้วยตัวเอง ขณะที่พรรคก้าวไกล ไม่ได้ส่ง สส. มาฟังคำวินิจฉัย เนื่องจากติดภารกิจประชุมสภาผู้แทนราษฎร

“หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้อง ทั้งสองกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้าง การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองจึงเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1” คำวินิจฉัย ระบุ 

“การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำ การแสดงความคิดเห็น การพูด การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบซึ่งจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย” คำวินิจฉัย ระบุ

หลังทราบคำวินิจฉัย นายชัยธวัช ตุลาธร หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงต่อสื่อมวลชนว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้อาจส่งผลต่อประชาธิปไตยในอนาคต

“พรรคก้าวไกลขอยืนยันอีกครั้งว่า เราไม่ได้เจตนาเพื่อเซาะกร่อนบ่อนทำลาย หรือแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากชาติแต่อย่างใด นอกจากนี้พวกเรายังกังวลว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเมืองไทยในระยะยาว อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต” นายชัยธวัช กล่าว

“อาจกระทบต่อความเข้าใจ และการให้ความหมายต่อระบอบประชาธิปไตยฯ หลักการสำคัญของระบอบการเมืองไม่มีความชัดเจนแน่นอน สิ่งที่เคยกระทำได้ในอดีต ทั้งในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และระบอบประชาธิปไตย อาจกลายเป็นการล้มล้างการปกครองได้ในปัจจุบัน และอนาคต อาจส่งผลกระทบให้ประเด็นเรื่องสถาบันพระมหาษัตริย์ กลายเป็นปมปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เสียเอง” นายชัยธวัช กล่าวเพิ่มเติม

นายชัยธวัช ระบุว่า พรรคจะเตรียมพร้อมหากถูกนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปเป็นประเด็นการร้องให้มีการยุบพรรคก้าวไกลในอนาคต

ด้าน นายอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ซึ่งเดินทางไปฟังคำวินิจฉัย ระบุว่า “วันนี้ พวกเราและประชาชนคนไทยที่รอรับฟังอยู่ปลื้มปิติ แทบพูดอะไรไม่ออก ดีใจมาก อยากจะประกาศให้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเป็นหนึ่งในประเทศไทย” 

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ศาลได้พิจารณาคำร้องนี้อย่างถี่ถ้วนโดยได้รับฟังคำชี้แจงจากผู้ถูกร้อง ปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญ ข้าราชการ และองค์กรที่เกี่ยวข้องหลายองค์กรแล้ว และการวิจารณ์คำวินิจฉัยโดยไม่สุจริต หรือการใช้ถ้อยคำที่มีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย จะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคำร้องที่ นายธีรยุทธ ซึ่งเป็นทนายความของนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ อดีตแกนนำ กปปส. ร้องให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา และพรรคก้าวไกล ซึ่งเสนอการยกเลิกมาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ 

ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ก้าวไกลได้ชนะการเลือกตั้งมี สส. มากที่สุด 151 ที่นั่ง โดยมีประชาชน 14 ล้านเสียงสนับสนุน ทำให้ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 นายพิธาถูกเสนอชื่อให้รัฐสภาลงคะแนนสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี 

อย่างไรก็ตาม นายพิธา ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สส. และ สว. จนเพียงพอในการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ทำให้ก้าวไกลตัดสินใจส่งไม้ต่อให้เพื่อไทย พรรคอันดับ 2 ซึ่งมี สส. 141 ที่นั่งเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล กระทั่งนายเศรษฐา ทวีสิน ตัวแทนเพื่อไทยได้รับเลือกเป็นนายกฯ ขณะที่ก้าวไกล กลายเป็นฝ่ายค้าน

สำหรับประเด็นดังกล่าว ดร. ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า คำวินิจฉัยนี้ทำให้ก้าวไกลจะไม่สามารถ แก้ไข หรือกระทั่งแตะต้องกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้อีกในอนาคต

“หลังจากนี้คงต้องฝากความหวังที่ฝ่ายบริหารว่า จะทำยังไงให้การบังคับใช้ ม. 112 มันแฟร์กว่าที่เป็นอยู่ ไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเอามากลั่นแกล้งกัน ที่น่ากังวลคือ ก้าวไกลไม่สามารถแก้ไข ม. 112 ในสภา ดังนั้นสิ่งที่อาจจะใช้คือ การเมืองนอกสภา ซึ่งแน่นอนว่ามีความเสี่ยง ต่อกรณีของประชาชนทั่วไปก็ยิ่งน่ากลัว เพราะใครก็ตามที่เสนอแก้ไข ม. 112 ก็อาจจะถูกฟ้องด้วย ม. 112 เสียเอง” ดร. ณัฐกร กล่าว

ก่อนหน้านี้ มีคดีที่คล้ายคลึงกันคือ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องต่อสำนักงานอัยการสูงสุดในวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ให้วินิจฉัยการกระทำของนายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์, น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง (ผู้ถูกร้องที่ 1-3 ตามลำดับ) และพวก ซึ่งชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

ต่อมาอัยการสูงสุดได้ส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ และศาลได้รับคำร้องในวันที่ 16 กันยายน 2563 ต่อมาในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การชุมนุมดังกล่าวเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง 

เนื่องจากศาลเห็นว่า การเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองการให้พระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐ ที่ผู้ใดจะกล่าวหาล่วงละเมิดไม่ได้นั้น เป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันกษัตริย์โดยชัดแจ้ง เป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงสั่งให้กลุ่มองค์กร เครือข่าย เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไป 

ศาลพิพากษาจำคุกมายด์ ภัสราวลี 2 ปี คดีมาตรา 112 แต่รอลงอาญา

ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก น.ส. ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ นักกิจกรรมการเมือง เป็นเวลา 3 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี โดยรอลงอาญาเนื่องจากไม่เคยต้องโทษจำคุกคดีลักษณะดังกล่าว จากการฝ่าฝืนมาตรา 112 จากคดีปราศรัย #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร ที่สี่แยกราชประสงค์ วันที่ 24 มีนาคม 2564 

AP24031149538460.jpg

มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ได้รับพวงมาลัยจากผู้สนับสนุน ขณะเดินทางมาถึงศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2564  (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

“ข้อความปราศรัยของจำเลยเป็นการกล่าวให้กษัตริย์เสื่อมเสีย แม้จำเลยจะต่อสู้ว่าการปราศรัยของจำเลยมีเจตนาเพื่อต้องการจะแนะนำและตักเตือนสถาบันให้ธำรงอยู่ในความเหมาะสม แม้จะมีพยานหลักฐานเอกสารอ้างอิงคำปราศรัยต่อสู้ในชั้นศาล แต่ในการปราศรัยจำเลยย่อมนำเอกสารต่าง ๆ ไปอ้างอิงในการกล่าวปราศรัยได้ ไม่มีเหตุจำเป็นต้องปราศรัยให้กษัตริย์เสื่อมเสีย” คำพิพากษา ระบุ

ด้าน มายด์ ยืนยันว่า “เนื้อหาทุกอย่างที่มายด์พูด พูดด้วยความสุภาพนอบน้อม พูดด้วยความหวังดีทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาทแต่อย่างใด สิ่งที่เราพูดในวันนั้นเป็นความจำเป็นที่ต้องพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองไทยที่เกิดข้อถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน” 

มายด์ เป็นชาวจังหวัดสระบุรี อายุ 28 ปี เป็นแกนนำปราศรัยของกลุ่มราษฎร ตั้งแต่ปี 2563 ที่มีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 กระแสการชุมนุมดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นหลายร้อยครั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่อเนื่องยาวนานร่วม 3 ปี

ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นปี 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 1,938 คน จาก 1,264 คดี ในนั้นเป็นคดีอาญามาตรา 112 อย่างน้อย 262 คน ใน 287 คดี ปัจจุบันมีผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีทางการเมืองอย่างน้อย 38 ราย

นอกจากคดีนี้ มายด์ ถูกดำเนินคดี ม. 112 อีก 2 คดี คือ คดีจากการชุมนุมที่แยกเกียกกาย หน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 และชุมนุมที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ถ.สาทร เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563  

ทั้งนี้ รศ.ดร. ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ หัวหน้าสำนักวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า รัฐบาลควรมอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ เพื่อลดการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออก 

“การทำกิจกรรมการเมืองเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลควรมอบนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า คดีแบบนี้ไม่ควรรับแจ้งความ และอัยการเองก็ไม่ควรส่งฟ้องคดีลักษณะเดียวกันด้วย และรัฐบาลควรยกเลิกการติดตามนักกิจกรรม เพราะนักกิจกรรมการเมืองไม่ใช่อาชญากร” รศ.ดร. ทศพล กล่าวกับเบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์

“การนิรโทษกรรมคือก้าวแรก ในการดึงผู้ต้องหาที่ต้องหลบหนีกลับมาสู่การสลายความขัดแย้ง เพราะเป็นการทำให้เขาแน่ใจว่ากลับมาแล้วเขาจะไม่โดนคดี หรือถูกกระทำ ทำให้เขากล้าที่จะพูด กล้าที่เสนอความต้องการแท้จริง ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหา” รศ.ดร. ทศพล กล่าว

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และจรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง