ปานปรีย์ลาออก รมว. ต่างประเทศ หลังหลุดโผรองนายกฯ ครม. ใหม่
2024.04.29
กรุงเทพฯ

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งในรัฐบาล หลังจากในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอาทิตย์ นายปานปรีย์ หลุดจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ด้านนักวิชาการเชื่อ การลาออกสะท้อนปัญหาใน ครม. และเชื่อว่าอาจกระทบงานด้านการต่างประเทศ และการแก้ปัญหาในเมียนมา
“ในตำแหน่งกระทรวงการต่างประเทศเนี่ย โดยส่วนมากแล้วจะมีตำแหน่งรองนายกฯ พ่วงมาด้วย เพื่อที่จะเวลาเราเดินทางไปต่างประเทศเราจะได้มีเกียรติ ในกิจการการต่างประเทศก็จะราบรื่นมากขึ้น… เมื่อมาเหลือตำแหน่งเดียว ผมก็คิดว่า สิ่งที่ผมจะดำเนินงานต่อไปในด้านกระทรวงการต่างประเทศ มันอาจจะไม่รวดเร็ว และไม่ราบรื่นเท่าที่ควร คิดว่า ถ้าท่านคิดว่ามีคนอื่นที่เหมาะสมกว่า ผมก็ยินดีที่จะให้คนอื่นมาทำแทน” นายปานปรีย์ เปิดเผยกับสื่อมวลชนหลังทราบข่าวการปรับ ครม.
นายปานปรีย์ ยังได้ระบุในจดหมายลาออกจากตำแหน่งว่า ตนเองทุ่มเททำงานในตำแหน่งมาตลอด จึงไม่เชื่อว่าการปรับ ครม. ครั้งนี้เป็นเหตุผลเรื่องผลการทำงาน
“ผมเชื่อว่าไม่เกี่ยวกับผมไม่มีผลงานแน่นอน เพราะผมทุ่มเทการทำงานด้านต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และตั้งใจทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีนักลงทุนต่างชาติสนใจมาลงทุนมากขึ้น ตามที่รัฐบาลได้แถลงผลงานไปแล้ว จนสามารถตอบสนองต่อนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกอย่างเด่นชัด” นายปานปรีย์ ระบุ
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศการพ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐา 1/1 ซึ่งทำให้มีรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง 3 คน โยกย้ายสลับตำแหน่ง 6 คน และรัฐมนตรีใหม่ 4 คน
โดย นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เหลือเพียงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้นายพิชัย ชุณหวชิร อดีตประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รับตำแหน่ง รมว. กระทรวงการคลัง และรองนายกรัฐมนตรีแทน
นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว ถูกแทนที่ด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรองนายกฯ ในตำแหน่ง รมว. กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว. กระทรวงคมนาคม ขึ้นเป็นรองนายกฯ อีกหนึ่งตำแหน่ง และยังมีอีกหลายตำแหน่งที่มีการสลับโยกย้าย
“ในทุก ๆ ช่วงเวลาที่เราบริหารประเทศมันก็มีความจำเป็น ความต้องการของการแก้ไขปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารอย่างเดียว ฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องมีการปรับเพื่อให้บุคคลที่เหมาะสม หรือมีความชำนาญมากกว่าในด้านนั้น ๆ เข้าไปทำหน้าที่ ไม่ได้หมายความว่า คนที่ถูกปรับออกไป ไม่มีความสามารถในการบริหาร” นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐา เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้เริ่มทาบทามผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่ง รมว. กระทรวงการต่างประเทศ แทนนายปานปรีย์แล้ว โดยระหว่างนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว. กระทรวงพาณิชย์ จะรับผิดชอบงานด้านต่างประเทศแทนไปพลางก่อน ขณะเดียวกันได้ขอโทษนายปานปรีย์เรื่องการปรับ ครม. แล้ว
“ผมก็บอกว่า ผมขอโทษหากทำให้พี่ไม่สบายใจเรื่องอะไร ก็ขอขอบคุณที่ช่วยงานกันมา ผมเชื่อว่า ผมก็อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือผลักดัน ถ้าเกิดต้องมีการทำงานข้ามกระทรวง ผมเชื่อว่าเราทำงานเป็นทีมได้อยู่แล้ว ความจำเป็นที่ต้องพ่วง (ตำแหน่ง รองนายกฯ และ รมว. กระทรวงการต่างประเทศ) ก็ถือว่าไม่จำเป็น” นายเศรษฐา กล่าว
นายปานปรีย์ ปัจจุบัน อายุ 67 ปี เคยรับราชการที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เคยเป็น ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็น สส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา รวมถึงรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก่อนรับตำแหน่ง รองนายกฯ และรมว. กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเดือนกันยายน 2567
ด้าน ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชี้ว่าการลาออกของปานปรีย์ สะท้อนปัญหาภายใน ครม.
“การประกาศลาออกหลังการโปรดเกล้าฯ ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ ผมคิดว่าเขาจงใจ เพราะสังคมรับรู้กันดีว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และผลงานก็เป็นที่ประจักษ์ เชื่อว่าจะกระทบการแก้ไขปัญหาเมียนมา” ผศ.ดร. โอฬาร กล่าว
“คุณปานปรีย์ทำงานเป็นเชิงบวก แต่ไม่มั่นใจว่าคนที่จะมาแทน จะมีจุดยืนทางความคิดแบบเดียวกันหรือไม่ จะมีท่าทีที่เข้าใจวิธีการทำงานการเมืองระหว่างประเทศหรือไม่ อย่างน้อยความเชื่อมั่นของต่างประเทศและของทูต กระทบแน่นอน” ผศ.ดร. โอฬาร กล่าวเพิ่มเติม
ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2567 นายปานปรีย์ มีบทบาทเกี่ยวกับการร่วมแก้ไขปัญหาภายในเมียนมา โดยมีส่วนในการริเริ่มโครงการระเบียงช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance Corridor) แก่ประชาชนเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในประเทศ ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง และยืนยันว่า พร้อมจะเป็นตัวกลางในกระบวนการสันติภาพในประเทศเมียนมา แต่ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเสียก่อน
จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน