ชาวระนอง-ชุมพร ยื่นหนังสือเศรษฐา ค้านแลนด์บริดจ์
2024.01.23
กรุงเทพฯ

ชาวจังหวัดระนอง และชุมพร ได้เข้าพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อยืนหนังสือคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ ระหว่างการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ระนอง โดยนายเศรษฐา ยืนยันว่า พร้อมจะนำข้อเสนอของประชาชนไปประกอบการพิจารณาโครงการ
นางอุไร ทับทิมทอง ตัวแทนเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จ.ชุมพร กล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงต่อหน้า นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์
“ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นจริงจะส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด ทั้งด้านสภาพแวดล้อม ต่อผืนป่าต้นน้ำ ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลที่จะเปลี่ยนแปลงจากการถมทะเลทำท่าเรือน้ำลึก ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน และจะส่งผลโดยตรงต่ออาชีพประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์” นางอุไร กล่าว
ชาวบ้านในนามเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ร่วมกับ ชาวห้อยปลิง ต.ราชกรูด จ.ระนอง และ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ร่วม 200 คน รวมตัวกันเดินทางมาพบนายกรัฐมนตรีที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดระนอง โดยมีการโพกผ้า ถือป้าย และใช้ธงที่มีข้อความว่า “No Land bridge” และ “Land bridge will take people lives” รวมถึงอีกหลายข้อความ เพื่อเป็นการคัดค้านโครงการ
“เส้นทางแลนด์บริดจ์ที่ผ่านพื้นที่ อ.พะโต๊ะ จะกระทบเที่อยู่อาศัย และอาชีพเกษตร โดยเฉพาะการทำสวนทุเรียน และสวนผลไม้ที่มีรายได้มั่นคงอยู่แล้ว อยากให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินโครงการ” นางอุไร กล่าว
เครือข่ายได้มีข้อเสนอโดยสรุป ดังนี้ 1. รัฐบาลควรให้สำคัญเรื่องการศึกษาโครงการ เนื่องจากที่ผ่านมาการศึกษาในอดีตด้อยมาตรฐานทางวิชาการ และไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม 2. รัฐบาลควรศึกษาโครงการแบบองค์รวม และรอบด้านทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ เพราะที่ผ่านมามีการแยกศึกษาเป็นโครงการย่อยที่อยู่ภายใต้โครงการใหญ่คือ แลนด์บริดจ์
3. นายกรัฐมนตรีควรหาแนวทางพัฒนาระนอง ชุมพร และภาคใต้ ในมิติอื่น ๆ ในกรณีที่โครงการแลนด์บริดจ์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง และ 4. นายกรัฐมนตรี ควรจัดตั้งคณะทำงานร่วม ที่ประกอบด้วย นักการเมือง ข้าราชการ ท้องถิ่น ท้องที่ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดข้อเสนอ และแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
โดยนายเศรษฐา กล่าวกับประชาชนที่มาคัดค้านโครงการว่า รัฐบาลจะนำทุกเสียงของประชาชนไปพิจารณา
“รับปากครับว่า จะนำ (ข้อเสนอของประชาชน) ไปเป็นข้อประกอบ การทำเอกสารศึกษา เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความกระจ่างในจุดประสงค์ของการทำแลนด์บริดจ์ จะมีการพูดคุยการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคใต้ซึ่งต้องเกิดจากแลนด์บริดจ์ ซึ่งผมมั่นใจว่า รัฐบาลนี้จะส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการท่องเที่ยว มาตรการที่เราจะสร้างสนามบิน รัฐบาลจะฟังทุกสิทธิ์ ทุกเสียงของประชาชน” นายเศรษฐา กล่าว
โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Land bridge) คือ โครงการสร้างถนนคู่กับรางรถไฟ ระยะทาง 120 กม. เชื่อมท่าเรือจากฝั่งอ่าวไทยถึงทะเลอันดามัน โดยโครงการนี้มีการศึกษามาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว
รัฐบาลเศรษฐา ได้นำโครงการนี้มาสานต่อ โดยระบุว่า หากโครงการเกิดขึ้นจริง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้า และมีความปลอดภัยมากกว่าการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา สร้างงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 2.8 แสนอัตรา และจะทำให้ GDP เติบโต 5.5 % ต่อปี หรือราว 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อมีการพัฒนาโครงการเต็มรูปแบบ
การขนส่งตู้สินค้าผ่านเส้นทางนี้จะลดระยะเวลาการเดินทาง 4 วัน และลดต้นทุน 15 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับการขนส่งทางเรือผ่านช่องแคบมะละกา โดยคาดว่าจะมี ตู้สินค้าจะผ่านท่าเรือฝั่งตะวันตกของแลนด์บริดจ์ 19.4 ล้านตู้ และผ่านท่าเรือฝั่งตะวันออก 13.8 ล้านตู้ต่อปี เป็น 23 % ของตู้สินค้าที่ผ่านช่องแคบมะละกา
ปัจจุบัน ช่องแคบมะละกามีเรือเดินทางผ่าน 9 หมื่นลำ ขนส่งคอนเทนเนอร์ 70.4 ล้านตู้ต่อปี คาดการณ์ว่า ในปี 2573 ปริมาณเรือเดินสมุทรจะมากกว่าความจุของช่องแคบมะละกา
ในวันเดียวกัน นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ สมาชิกวุฒิสภา ได้หารือต่อที่ประชุมวุฒิสภาเสนอให้รัฐบาลทบทวนโครงการดังกล่าวเช่นกัน โดยเชื่อว่าหากโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นจริง ต้องมีการแข่งขันกับท่าเรือในประเทศสิงคโปร์ด้วย
“การทำโครงการขนาดใหญ่ มีผลได้ และผลเสีย แต่ขอตั้งคำถามว่า โครงการจะสำเร็จได้จริงหรือไม่ ควรรับฟังข้อมูลให้รอบด้าน แม้จะสร้างเสร็จแล้วต้องดำเนินการต่อ ไม่ทำให้รกร้าง เพราะจะแข่งขันไม่ได้ ตามที่กระทรวงคมนาคมอ้างว่าช่องแคบมะละกาคับแคบ แต่พบว่าขณะนี้ สิงคโปร์ก็ยังมีการปรับปรุงเพื่อรองรับการเดินเรือที่เพิ่มมากขึ้นด้วย” นายสุรเดช กล่าว
สำหรับโครงการดังกล่าว ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า เชื่อว่าประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์ด้านการค้าจากโครงการแลนด์บริดจ์ แต่อาจมีผลกระทบด้านอื่น
“แลนด์บริดจ์อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว แต่อาจใช้เวลานานมาก ซึ่งกรอบเวลาตรงนี้ต่างหากที่อาจต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ยังไม่นับถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ประการที่สำคัญคือ หากโครงการได้คิกออฟในเฟสแรกจริง ๆ รัฐบาลจะต้องมีมาตรการเยียวยาที่เป็นธรรมให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ” ดร. เอียชา กล่าว
“โครงการน่าจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ลดต้นทุนการขนส่ง เพิ่มโอกาสทางการค้า แต่หากมองเรื่อง ความคุ้มค่าทางสังคม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว พื้นที่พูดคุยอย่างจริงจังในเรื่องนี้ จะช่วยให้เราเห็นว่ามันจะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้จริงหรือไม่ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่” ดร. เอียชา กล่าวเพิ่มเติม
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และจรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน