สหรัฐฯ จะจัดหาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์แก่ไทยและฟิลิปปินส์
กรุงเทพฯ

สหรัฐอเมริกากล่าวว่า จะช่วยไทยและฟิลิปปินส์ในการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ใหม่สำหรับพลเรือน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจำที่ทำลายสภาพภูมิอากาศ แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ยังอีกหลายปีกว่าที่เทคโนโลยีนี้จะใช้งานได้จริง และยังมีอุปสรรคอื่น ๆ ด้วย
ในระหว่างการเยือนไทยและฟิลิปปินส์เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนการของสหรัฐฯ ที่จะจัดหาเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (Small Modular Reactors: SMR) ให้แก่สองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ มานาน
ขณะเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกที่กรุงเทพฯ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นางคามาลา แฮร์ริส ได้ประกาศความเป็นหุ้นส่วนใหม่ด้านพลังงานสะอาดกับไทย
หลังการเยือนไทย รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เดินทางไปยังฟิลิปปินส์ และประกาศว่าสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์กำลังเริ่มการเจรจาเกี่ยวกับความตกลง 123 ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านนิวเคลียร์สำหรับพลเรือน
แผนเกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ สำหรับไทยและฟิลิปปินส์ดังกล่าว นับเป็นครั้งแรกสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
SMR ซึ่งมีขนาดเล็กเท่าถังน้ำและเคลื่อนย้ายได้ จะได้รับการสร้างขึ้นด้วย “มาตรฐานสูงสุดด้านความปลอดภัย ความมั่นคง และการไม่แพร่กระจาย” เจ้าหน้าที่กล่าว
อินโดนีเซีย อีกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสนใจพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์ดังกล่าว ดูเหมือนว่าจะกำลังพิจารณาเครื่องแบบต่าง ๆ จากหลายประเทศ
ในข่าวสารนิเทศ ทำเนียบขาวกล่าวว่า ความเป็นหุ้นส่วนใหม่กับไทยนี้จะ “สร้างขีดความสามารถสำหรับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อันทันสมัยได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย”
“การเป็นหุ้นส่วนนี้จะช่วยให้ไทยได้รับประโยชน์จาก SMR ซึ่งมีข้อดีคือ สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เสริมพลังงานสะอาดแหล่งอื่น ๆ มีขนาดเล็กและไม่กินพื้นที่มาก ทั้งยังมีคุณสมบัติพิเศษด้านความปลอดภัย”
รัฐบาลไทยตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 แต่ไม่มีกำหนดเวลาสำหรับความเป็นหุ้นส่วน SMR ดังกล่าว รัฐบาลสหรัฐฯ ชื่นชม “ประโยชน์เฉพาะตัว” ของเครื่องปฏิกรณ์นี้ ซึ่งนอกจากจะผลิตไฟฟ้าได้อย่างน่าเชื่อถือแล้ว ยังช่วยรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วย
ตามข้อมูลจากทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) เครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์เป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ทันสมัย ซึ่งมีกำลังการผลิตน้อยกว่า 300 เมกะวัตต์
ตามข้อมูลจาก NuScale ผู้ผลิต SMR รายหนึ่งในสหรัฐฯ เครื่องปฏิกรณ์ดังกล่าวอาจมีขนาดเล็กเท่ากับถังขนาด 5 แกลลอน (18.9 ลิตร) เครื่องแบบเดิมมีเชื้อเพลิงและแท่งควบคุม และส่งพลังงานผ่านทางไอน้ำ ราคาตั้งต้นโดยประมาณอยู่ที่ราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.8 หมื่นล้านบาท)
ในความตกลงดังกล่าวกับฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์จะร่วมมือกันเกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์อันทันสมัย เพื่อประกันความมั่นคงด้านพลังงาน ขณะที่ฟิลิปปินส์เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด
เมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว ความตกลง 123 “จะเป็นพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับการส่งออกอุปกรณ์นิวเคลียร์และวัสดุนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ แก่ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกามุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับฟิลิปปินส์ในการเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน และใช้เทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อันทันสมัยโดยเร็ว ตามที่เงื่อนไขด้านความปลอดภัยและความมั่นคงจะเอื้ออำนวยให้ เพื่อตอบสนองความจำเป็นอันเร่งด่วนด้านพลังงานอย่างต่อเนื่องของฟิลิปปินส์” ทำเนียบข่าวระบุในแถลงการณ์
ในยุคของเฟอร์ดินานด์ อี. มาร์กอส จอมเผด็จการที่เสียชีวิตไปแล้ว ผู้เป็นบิดาของประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ฟิลิปปินส์เริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บาตานในปี 2519 บนพื้นที่ที่ห่างจากกรุงมะนิลาประมาณ 100 กิโลเมตร โรงงานดังกล่าวถูกสร้างขึ้นบนแนวรอยเลื่อนขนาดใหญ่ แต่ถูกระงับการก่อสร้างด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย หลังเกิดเหตุภัยพิบัติเชอร์โนบิลปี 2529
ปัจจุบัน ฟิลิปปินส์มีเครื่องปฏิกรณ์เพื่อการทดลองจำนวนสองเครื่อง สำหรับใช้เพื่อการศึกษาและเรียนรู้ ขณะที่ไทยไม่มีพลังงานนิวเคลียร์
พลังงานทางเลือก
รายงานการวิจัยของ นางสาวธนกร ความหมั่น แห่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ระบุว่า พลังงานทางเลือกของไทยในปัจจุบันคือ SMR, พลังงานลม, แสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมประสิทธิภาพสูงที่ใช้ทั้งกังหันก๊าซและกังหันไอน้ำ
เครื่องปฏิกรณ์ดังกล่าวไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเลย และสามารถผลิตได้ในโรงงาน ขนส่งและเคลื่อนย้ายได้ ทำให้เหมาะที่จะใช้ในพื้นที่ห่างไกลและในนิคมอุตสาหกรรม
ธนกรกล่าวว่า ไทยกังวลเรื่องความปลอดภัย หลังจากคลื่นสึนามิในญี่ปุ่นเมื่อปี 2554 ก่อความเสียหายแก่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เมืองฟุกุชิมะ อุปสรรคอื่น ๆ คือ การขาดผู้ลงทุน และประเทศไม่มีกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับกิจกรรมนิวเคลียร์
จอห์น ทิมเมอร์ บรรณาธิการด้านวิทยาศาสตร์ของ Ars Technica เว็บพอร์ทัลที่มีเนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แล้ว “ปลอดภัยไว้ก่อน” เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเสมอ
“ดังนั้น ขั้นตอนการอนุมัติจึงมักกินเวลานาน และต้องมีเอกสารจำนวนมาก” เขากล่าว
“SMR ได้รับการออกแบบให้มีความปลอดภัยสูงกว่ามาก แต่ยังไม่เคยมีการผลิต (ในสหรัฐฯ) เป็นรูปเป็นร่างขั้นสุดท้าย ดังนั้น จึงยากที่จะพูดได้ว่า จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าเมื่อนำไปใช้จริง และจะเป็นประโยชน์แค่ไหนในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทิมเมอร์บอกกับเบนาร์นิวส์
“ผมได้ยินเกี่ยวกับ SMR มาประมาณสิบปีแล้ว” เขากล่าวพร้อมเสริมว่า “จนกว่าเราจะสร้างมันขึ้นมาและรู้ว่ามันทำงานอย่างไร และมีราคาเท่าไหร่ ผมจะยังไม่เชื่อเต็มที่”
ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศกล่าวว่า โครงการ SMR ส่วนใหญ่อยู่ในขั้น “การออกแบบเชิงแนวคิด” โดยจีนและรัสเซียเป็นตัวอย่างประเทศที่ใช้ต้นแบบ SMR
อุปสรรคอีกอย่างก็คือ ราคา
“เราไม่เคยสร้างเครื่องนี้มาก่อน ดังนั้นจะเกิดการลองผิดลองถูกอย่างแน่นอน และสำหรับในช่วงสองสามปีแรก จะมีค่าใช้จ่ายมากและมีปัญหาซับซ้อนที่ต้องแก้” ทิมเมอร์กล่าว
‘ความเข้าใจผิด ๆ’
จอห์น ควิกกิน นักเศรษฐศาสตร์และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ในออสเตรเลีย กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก๊าซ พลังแสงอาทิตย์ และพลังงานลมแล้ว ความคุ้มค่าทางการเงินของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ “คนจำนวนมากเข้าใจผิดกัน”
“เมื่อมีแรงกดดัน พัดลมนิวเคลียร์จะเปลี่ยนไปสู่โหมด ‘เครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์’ ซึ่งไม่มีอยู่จริง และอาจไม่มีวัน [มีอยู่]” เขากล่าว และเสริมว่ามีตัวอย่างการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็ก แต่ “เครื่องเหล่านั้นผลิตขึ้นครั้งเดียวและมีราคาสูง เพราะผลิตเป็นจำนวนน้อย”
เมื่อสามารถผลิตเครื่องปฏิกรณ์ได้ในโรงงาน แนวคิดที่ว่าเครื่องนี้ “สามารถถอดแยกส่วนออกได้” จะชดเชยข้อเสียเหล่านั้น เมื่อราคาถูกลงเพราะผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก” เขากล่าว
“ที่ผ่านมา มีการพูดคุยกันมากว่าจะนำพลังงานนิวเคลียร์กลับมาใช้อีก เหตุผลอย่างหนึ่งคือเพราะต้องทดแทนพลังงานที่รัสเซียเคยจัดหาให้ และอีกเหตุผลคือ เพื่อรับมือในระยะยาวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” เขากล่าว
จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยริเริ่มโครงการพลังไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมา ซึ่งทำให้มีการพูดคุยกันถึง “การฟื้นฟูพลังงานนิวเคลียร์” แต่มีเพียงแค่สองโครงการเท่านั้นที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น แม้จะไม่มีเสียงคัดค้านเท่าใดนัก “ยกเว้นจากผู้บริโภคที่ไม่เห็นด้วย เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล”
จอห์น ควิกกิน คาดว่า SMR ที่ผลิตออกมาจะมีจำนวน “น้อยมาก ๆ”
“ที่สุดแล้ว ความพยายามลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจะทำโดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเกือบทั้งหมด” เขากล่าว
เจสัน กูเตียเรซ ในกรุงมะนิลา ร่วมรายงาน