พิธาเจอสองเด้ง
2023.07.19
กรุงเทพฯ

ในวันพุธนี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติไม่ให้พรรคพันธมิตรแปดพรรคเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. พรรคก้าวไกล ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซ้ำอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ผ่านการโหวตลงคะแนนรอบแรกในสัปดาห์ก่อน
ในตอนสายของวันเดียวกันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับพิจารณาคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้พิจารณากรณีที่นายพิธา ถือหุ้นไอทีวี ว่าเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือไม่ และสั่งให้นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย โดยให้เวลาผู้ถูกร้องชี้แจงภายใน 15 วัน
หลังมีคำสั่งศาล นายพิธา ได้กล่าวลาสภา หลังโดนสั่งงดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ก่อนจะถอดป้ายแสดงตัว ส.ส. และเดินออกจากห้องประชุม พร้อมเสียงปรบมือของ ส.ส. พรรคก้าวไกล และว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล
“ผมคิดว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้วครับ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม ประชาชนชนะมาได้แล้วครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งทาง ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ขอให้เพื่อนสมาชิกทุกคนช่วยดูแลประชาชนต่อไป” นายพิธา กล่าว
ขณะที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เปิดประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ช่วงเช้าเวลา 09.30 น. โดย ส.ส. และ ส.ว. ได้มีการอภิปรายกันว่าการเสนอชื่อนายพิธาชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นการขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ซึ่งห้ามนำญัตติที่ตกไปแล้วนำมาเสนอพิจารณาซ้ำในการประชุมสมัยเดิมหรือไม่
การโต้แย้งในข้อกฎหมายนี้ กินเวลาทั้งสิ้นเกือบ 8 ชั่วโมง ก่อนที่จะลงคะแนน โดยมีจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 715 คน เห็นด้วย 395 คน, ไม่เห็นด้วย 312 คน, งดออกเสียง 8 คน และมีผู้ไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน
“แล้วขณะนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณา มีมติให้คุณพิธางดปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้นจำนวนสมาชิก กึ่งนึงของที่ประชุม ทั้ง 2 สภาวันนี้คือ 374 คะแนน คะแนนที่ออกมา 395 ก็ถือว่ามีมติเกินกึ่งหนึ่ง เห็นว่าการใช้มติ ตามข้อ 41 ดำเนินการใช้ได้ คือ ไม่สามารถจะเสนอชื่อคุณพิธาซ้ำได้ในสมัยประชุมนี้” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวสรุปผลการลงคะแนน
หลังทราบผลการลงคะแนน แกนนำพรรคก้าวไกลระบุว่า จะยังไม่มีการแถลงข่าวในวันนี้
หลังการเปิดประชุมในเช้าวันนี้ ส.ส. ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นตอบโต้กันอย่างดุเดือด
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ชี้ว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไม่นับเป็นญัตติ การเสนอชื่อนายพิธา อีกครั้งจึงไม่นับว่าเป็นการเสนอญัตติซ้ำขัดต่อข้อบังคับข้อที่ 41
“เรามีการเสนอท่านพิธา มีการกดบัตรรับรองเรียบร้อย เรามีการเสนอญัตติขึ้นมา มีการยกมือรับรองเรียบร้อย ในมุมของพวกผมเอง ผมคิดว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ญัตติ” นายณัฐพงษ์ กล่าว
ด้าน นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ชี้ว่า การเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นการยื่นญัตติซ้ำ ซึ่งไม่สามารถทำได้ ตามสาระของบทเฉพาะกาล ม.272 "จะส่งซ้ำได้หากมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว หรือจะเสนอ (พิธา) ใหม่ได้ ในสมัยประชุมรัฐสภาสมัยหน้า"
ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระหว่างการประท้วงในกรุงเทพฯ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 (เอพี)
ศาลรัฐธรรมนูญสั่งพิธา งดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
ในวันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับการที่สถานภาพ ส.ส. ของนายพิธา สิ้นสุดลงหรือไม่ จากการถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 4.2 หมื่นหุ้น และศาลได้มีคำสั่งให้ นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย โดยให้เวลานายพิธาชี้แจงกรณีดังกล่าวต่อศาลภายใน 15 วัน
สำหรับ ไอทีวี เริ่มออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 ต่อมาได้จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2541 และดำเนินการออกอากาศเรื่อยมา ต่อมามีคดีความเรื่องการสัมปทาน ซึ่งนำไปสู่การยุติการออกอากาศ ตั้งแต่ 24.00 น. วันที่ 7 มีนาคม 2550 หลังการบอกเลิกสัญญาร่วมงานของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ปัจจุบัน บริษัท ไอทีวี ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการสื่อแล้ว แต่ยังมีสถานะเป็นบริษัท เนื่องจากคดีที่บริษัทเป็นโจทก์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยังคงดำเนินอยู่
อย่างไรก็ตาม นายพิธา และพรรคก้าวไกล ไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่ที่ประชุมรัฐสภา มีมติไม่ให้เสนอชื่อนายพิธา ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซ้ำ
หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง และรัฐสภามีมติไม่เสนอชื่อนายพิธาชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซ้ำ ประชาชนจำนวนกว่าพันคนได้รวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อประท้วงกรณีที่เกิดขึ้น โดยชี้ว่า นายพิธา ควรจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นฉันทามติจากประชาชนที่เลือกให้พรรคก้าวไกลคะแนนมากที่สุด
ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยและพรรคก้าวไกล ได้ร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ 'ฌาปนกิจ ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ' ต่อการลงมติที่ไม่เป็นไปตามฉันทามติประชาชน จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และเครือข่าย Respect My Vote ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)
“ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติวันนี้ ให้พิธางดปฏิบัติหน้าที่ หมายความว่า สิ่งที่ประชาชน ปรารถนา จะเห็นพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี มติมหาชนต้องการเห็นก้าวไกล เพื่อไทย และ 8 พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล สะดุดหยุดลงโดยทันทีทันใด ประเทศไทยอาจจะลุ้นถูกหวยได้ แต่จะลุ้นขอความเป็นธรรมจากสภา จากหน่วยงานความยุติธรรม จากตุลาการเป็นไปไม่ได้” นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ชุมนุมได้ปราศรัยบนเวที
ขณะที่ น.ส. เชอรี่ จันทรวงศ์ อายุ 38 ปี อาชีพพนักงานบริษัท หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุม เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ทำให้ประชาชนจำนวนมากโกรธ
“เชื่อว่าคนมากกว่าครึ่งประเทศสาปแช่ง ส.ว. และศาล คิดว่า ส.ส ที่เป็นผู้แทนประชาชน ก็ควรจะเคารพเสียงประชาชน สะกดคำว่าประชาธิปไตยเป็นไหม การเมืองไม่ใช่เกม แต่เป็นปากท้องความเป็นอยู่ของประชาชน ส.ว. ที่ไม่ทำหน้าที่ก็น่าอาย ที่ไม่เคยอยู่ข้างประชาชน และช่วยเหลือแต่พวกเดียวกัน” น.ส. เชอรี่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
ก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะมีการประชุมสภา กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาไทย (ส.ว.) “พิจารณาหน้าที่ของตนต่อประชาชนและประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย เมื่อพวกเขาลงคะแนนเสียงโหวตนายกรัฐมนตรี”
“การกระทำของสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งล่าสุด แสดงถึงการไม่แยแส และไม่เคารพเจตจำนงของประชาชนอย่างที่สุด ซึ่งได้สื่ออย่างชัดเจนจากกล่องลงคะแนน ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่า อำนาจมหาศาลที่มอบให้กับเหล่า ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้น ช่างขัดกับคำจำกัดความ ของประชาธิปไตยที่แท้จริง” ชาร์ลส์ ซานติอาโก อดีตสมาชิกรัฐสภามาเลเซียและประธานร่วมของสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวในแถลงการณ์ของกลุ่มฯ
“ความพยายามที่จะสกัดกั้นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของพรรคที่ชนะเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น รังแต่จะนำไปสู่ความไม่สงบและไร้เสถียรภาพ” สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights - APHR) กล่าวเตือน
ด้าน ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม ชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นสิ่งที่ไม่เหนือความคาดหมายมากนัก แต่เป็นสิ่งที่ผิดปกติในวิถีการเมืองแบบประชาธิปไตย และเห็นความพยายามในการขัดขวางไม่ให้ นายพิธา ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งการโจมตีเรื่องการแก้ไข ม.112 และการตัดสิทธิ ส.ส.
“สถานการณ์หลังจากนี้ เพื่อไทยคงได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และจะต้องดีลกับภูมิใจไทย เพราะต้องการเครือข่าย ส.ว. คนไทยส่วนใหญ่ก็จะต้องผิดหวัง เพราะการเมืองกำลังจะวนกลับไปสู่รูปแบบเดิม สภาไม่มีเสถียรภาพ ก้าวไกลอาจจะต้องเป็นฝ่ายค้าน และถ้าเพื่อไทยแยกกับก้าวไกล ก็จะถูกแรงเสียดทานจากสังคมอย่างมาก” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าว
“การเสนอชื่อพิธาแข่งกับคนอื่นในอนาคต อาจถูกตีความว่าเป็นญัตติซ้ำ และไม่ผ่านเข้าไปในสภา ในการคุยก่อนการเสนอชื่อ ส.ว. ก็คงมีความเห็นในทิศทางเดียวกันกับวันนี้ ซึ่งเชื่อว่า พิธาเองก็คงรู้ จึงหาทางออกด้วยการประกาศว่าพร้อมสนับสนุนพรรคเพื่อไทย” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวเพิ่มเติม
ประชาชนร่วมทํากิจกรรม 'ฌาปนกิจ ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ' จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และเครือข่าย Respect My
Vote เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ต่อการลงมติที่ไม่เป็นไปตามฉันทามติประชาชน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)
ปัจจุบัน พรรคก้าวไกล และเพื่อไทยจับมือกับพันธมิตรทั้งหมด 8 พรรค ได้มือ ส.ส. 312 คน จาก ส.ส. ทั้งหมด 500 คน ยืนยันว่าจะเสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เขียนโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อำนาจ ส.ว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้ออกเสียงเห็นชอบให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 375 เสียง จาก 749 เสียงของรัฐสภาที่มีทั้งหมดในปัจจุบัน ทำให้นายพิธายังไม่ผ่านความเห็นชอบได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ สำหรับพันธมิตร 8 พรรค นอกจากนายพิธา ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกลแล้ว ยังมีชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน, น.ส. แพทองธาร ชินวัตร และนายชัยเกษม นิติสิริ ที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยที่สามารถเสนอชื่อชิงตำแหน่งได้ ตามเงื่อนไขของรัฐธรรรมนูญที่ระบุว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่จะสามารถชิงตำแหน่งได้จำเป็นต้องมาจากพรรคที่มี ส.ส. อย่างน้อย 25 คน
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ และนาวา สังข์ทอง ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน