ผบ.ตร. เสนอรัฐหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แก้หนี้สินตำรวจ 2.7 แสนล้านบาท
2022.01.06
กรุงเทพ

พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังทำสรุปรายละเอียดหนี้สินของกำลังพลเพื่อเสนอให้รัฐบาลช่วยหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการตำรวจกว่าสองแสนนาย ซึ่งมียอดรวม 2.7 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่าในห้วงเวลาสิบสามปีที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ตำรวจฆ่าตัวตายถึง 443 นาย โดยสาเหตุการฆ่าตัวตายมาจาก ปัญหาสุขภาพ ปัญหาครอบครัว รวมถึงปัญหาหนี้ด้วย
ในวันพฤหัสบดีนี้ พล.ต.อ. สุวัฒน์ เปิดเผยกับสื่อมวลชนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า สตช. กำลังเร่งหาวิธีแก้ไขปัญหาหนี้สินของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตามนโยบายของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
“ปัจจุบัน ตำรวจมีหนี้สินรวมกันประมาณ 2.7 แสนล้านบาท... อยู่ระหว่างทำแผนและสรุปรายละเอียดเรื่องวงเงิน เช่น มีสมาชิกรายใดที่สามารถทำการรีไฟแนนซ์ได้ เพื่อเสนอให้รัฐบาลช่วยหาวงเงินสินเชื่อราคาถูกให้” พล.ต.อ. สุวัฒน์ กล่าว
พล.ต.อ. สุวัฒน์ ระบุว่า มีกำลังพลถูกฟ้องเป็นคดีความ 1 เปอร์เซ็นต์ กำลังมีปัญหาผ่อนต่อไม่ไหว 2 เปอร์เซ็นต์ และอีก 97 เปอร์เซ็นต์ ยังผ่อนต่อได้อยู่ ซึ่ง สตช. กำลังแก้ปัญหาในส่วน 97 เปอร์เซ็นต์นี้
ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่า ถึงเดือนกันยายน 2564 มีข้าราชการตำรวจ 219,551 นาย เป็นชั้นสัญญาบัตร 89,430 นาย ชั้นประทวน 130,121 นาย มีหนี้สินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ 245,535 ราย มูลค่าหนี้สินประมาณ 203,217 ล้านบาท โดยเหตุผลที่จำนวนผู้กู้มากกว่ากำลังพล เนื่องจากในอดีตตำรวจ 1 นาย สามารถเป็นสมาชิกได้หลายสหกรณ์ รวมทั้งตำรวจเกษียณบางรายยังคงเป็นหนี้อยู่
ขณะที่พบว่าตำรวจเป็นหนี้ในสถาบันการเงินอื่นอีก ประกอบด้วย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 37,197 ราย วงเงินหนี้สิน 28,129 ล้านบาท ธนาคารออมสิน 36,102 ราย วงเงินหนี้สิน 21,140 ล้านบาทเศษ ธนาคารกรุงไทย 58,936 ราย วงเงินหนี้สิน 20,500 ล้านบาทเศษ รวมยอดหนี้สินทั้งของสหกรณ์ และสถาบันการเงินประมาณ 272,986 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ พล.ต.ต. ยิ่งยศ เทพจํานงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2551-2564 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจฆ่าตัวตายถึง 443 นาย โดยสาเหตุการฆ่าตัวตายมาจาก ปัญหาสุขภาพ ปัญหาครอบครัว รวมถึงปัญหาหนี้ด้วย ซึ่งจากข้อมูลระบุว่า ปี 2564 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจฆ่าตัวตาย 21 นาย มาจากปัญหาสุขภาพ 11 นาย และรองลงมาคือปัญหาหนี้สิน 5 นาย
“ตำรวจเวลาตรวจสุขภาพประจำปีให้เน้นเรื่องการตรวจสุขภาพจิตด้วย เพราะตำรวจทำงานที่ต้องเผชิญกับภาวะกดดันเยอะ อาจจะมีหลาย ๆส่วนที่เป็นปัญหาความเครียดจากการทำงาน… การตรวจสุขภาพจิต ผู้ที่วิเคราะห์แล้วว่ามีผลเกี่ยวกับสุขภาพจิตเราก็จะส่งมาดูแลที่โรงพยาบาลตำรวจ” พล.ต.ต. ยิ่งยศ ระบุ
ด้าน พ.ต.ท. ทรงศักดิ์ ธิติธารวัฒน์ ข้าราชการเกษียณ อดีตรองผู้กำกับ สภ. จังหวัดพะเยา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ทางออกของปัญหาหนี้สินตำรวจ และการฆ่าตัวตาย คือ การเร่งแก้ไขปัญหารายได้ให้แก่ตำรวจ
“หนี้ตำรวจมันมีตั้งแต่สอบบรรจุได้แล้ว เพราะปืน กระสุน เสื้อเกราะ อุปกรณ์รอบเอว รถยนต์ คอมพิวเตอร์ ค่าน้ำมันที่เราใช้ทำงาน เราต้องออกเองทั้งหมด ในกระบวนการยุติธรรมซึ่งมี ศาล อัยการ ตำรวจ แล้วก็ราชทัณฑ์ มีตำรวจกับราชทัณฑ์เงินเดือนขี้เหร่ที่สุด คนชอบบอกว่าตำรวจหาเงินได้ มีเงินสีเทา มันก็ยิ่งเท่ากับว่า ผลักให้ตำรวจไปหาเงินจากการทุจริต” พ.ต.ท. ทรงศักดิ์ กล่าว
พ.ต.ท. ทรงศักดิ์ กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหานั้น ควรจะเพิ่มเงินเดือนตำรวจให้เท่ากับอัยการซึ่งทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมเหมือนกัน ให้ตำรวจได้ทำหน้าที่อย่างมีศักดิ์ศรีโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินจะการทุจริต
จากข้อมูลของ สตช. ในปี พ.ศ. 2560 สำหรับนายสิบตำรวจสายปราบปรามที่เข้ารับราชการใหม่ จะได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าครองชีพ และเงินตามสิทธิอื่น ๆ รวมประมาณ 15,000 บาท แต่มีสวัสดิการอื่น ๆ ให้ เช่น บ้านพักหรือค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียนบุตร และค่ารักษาพยาบาลบิดามารดา เป็นต้น
ด้าน ดร. ณัฐกร วิทิตานนท์ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ชี้ว่าภาระหนี้สินเกิดจากการจัดสรรงบประมาณ และสวัสดิการของรัฐที่มีให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เพียงพอ จึงต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด
“ตำรวจมีภาระ แต่งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้นั้นไม่เพียงพอ นำมาสู่การใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งบางครั้งมาจากเงินส่วนตัว หรือว่าใช้เงินสีเทาที่อาจมาจากการส่งส่วยให้ตำรวจ เมื่อมีภาระหนี้สินส่วนบุคคลขึ้นมา ก็นำมาสู่สาเหตุหนึ่งของการฆ่าตัวตาย ทางแก้คือ รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ สำหรับการใช้จ่ายของตำรวจ และมีสวัสดิการให้อย่างเหมาะสม” ดร. ณัฐกร กล่าว
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากเชียงใหม่ ร่วมรายงาน