ครอบครัวหมอกระต่ายฟ้อง สตช.-ส.ต.ต. นรวิชญ์ เรียกค่าเสียหาย 72 ล้านบาท

ยังฟ้องกทม. ให้จ่ายค่าเสียหายจำนวนเท่ากัน ทั้งให้ปรับปรุงทางม้าลาย
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.02.17
กรุงเทพฯ
ครอบครัวหมอกระต่ายฟ้อง สตช.-ส.ต.ต. นรวิชญ์ เรียกค่าเสียหาย 72 ล้านบาท คนใช้ถนนขณะรอรถหยุดเพื่อข้ามทางม้าลาย ที่ใกล้แยกพญาไท กรุงเทพฯ วันที่ 25 มกราคม 2565
Thai News Pix/เบนาร์นิวส์

ครอบครัวของ พญ. วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย ได้เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 72 ล้านบาท จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ ส.ต.ต. นรวิชญ์ บัวดก ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์พุ่งชน พญ. วราลัคน์ จนเสียชีวิต ขณะกำลังข้ามทางม้าลาย เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 และได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เรียกร้องค่าเสียหายจำนวนเท่ากัน จากกรุงเทพมหานคร

นพ. อนิรุทธ์ และนางรัชนี สุภวัตรจริยากุล บิดา-มารดา ของ พญ. วราลัคน์ พร้อมด้วย นายณัฐพล ชิณะวงศ์ ทนายความ ได้เดินทางไปยื่นฟ้องศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ในช่วงเช้าวันนี้ ซึ่งศาลแพ่งได้รับฟ้องเรียบร้อยแล้ว และจะนัดพูดคุยประเด็นข้อพิพาทครั้งแรก ในวันที่ 20 เมษายน 2565

“เราฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นจำเลยที่ 1 นรวิชญ์ เป็นจำเลยที่ 2 ค่าเสียหายเราเรียกร้องไปประมาณ 72 ล้านบาทเศษ… คุณหมอกระต่ายสามารถที่จะทำงานจนถึงเกษียณ หรือหลังจากนั้นไปได้ รายได้ไม่น่าจะต่ำกว่า 200 กว่าล้าน คิดเป็นเฉพาะภาษีของรัฐที่เสียไป ก็ไม่ต่ำกว่า 30 ล้าน” นายณัฐพล กล่าวกับสื่อมวลชน

นายณัฐพล ระบุว่า เหตุที่ฟ้อง สตช. เนื่องจากมีหลักฐานว่าขณะที่ ส.ต.ต. นรวิชญ์ ขี่จักรยานยนต์ชน พญ. วราลัคน์ เป็นช่วงเวลาที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ซึ่งเชื่อว่า สตช. มีความสามารถในการจ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้

ด้าน นพ. อนิรุทธ์ ระบุว่าการดำเนินคดีในทางอาญา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของพนักงานอัยการ ส่วนการเรียกร้องทางแพ่งครั้งนี้ เพื่อการทดแทนค่าเสียหาย

“มันเป็นเรื่องของความสูญเสียที่ไม่มีอะไรจะมาทดแทนได้ ไม่ว่าจำนวนเงินจะมากจะน้อย ทดแทนกันไม่ได้ อันนี้เป็นการคิดในเรื่องของการสูญเสียเบื้องต้นเท่านั้นเอง ส่วนการเยียวยาภาวะจิตใจ มันประเมินกันไม่ได้” นพ. อนิรุทธ์ กล่าวกับสื่อมวลชน

เบนาร์นิวส์ ได้ติดต่อไปหา พล.ต.ต. ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก สตช. เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับการฟ้องครั้งนี้ แต่ พล.ต.ต. ยิ่งยศ ระบุว่า ไม่สะดวก

การยื่นฟ้องครั้งนี้ สืบเนื่องจากช่วงบ่ายของ วันที่ 21 มกราคม 2565 ส.ต.ต. นรวิชญ์ ได้ขี่จักรยานยนต์บิ๊กไบค์พุ่งชน พญ. วราลัคน์ ขณะกำลังข้ามทางม้าลาย หน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เขตพญาไท จนทำให้ร่างของ พญ. วราลัคน์ กระเด็นไปไกลกว่า 10 เมตร และเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่า รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวใช้ความเร็วระหว่าง 108-128 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขณะที่ชน ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 พนักงานสอบสวนได้ส่งฟ้อง คดีของ ส.ต.ต. นรวิชญ์ ต่อพนักงานอัยการใน 9 ข้อหา ซึ่งรวมถึงการขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิตด้วย

ในวันเดียวกัน ครอบครัว และทนายความได้เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เรียกร้องค่าเสียหายจากกรุงเทพมหานครเป็นเงินจำนวนเท่ากันคือ 72 ล้านบาท และสั่งให้ปรับปรุงทางม้าลาย เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของพื้นที่จุดเกิดเหตุ ขณะที่ศาลยังไม่ได้มีการกำหนดนัดครั้งต่อไป

“เรามายื่นฟ้องที่ศาลปกครองเป็นเรื่องที่เราเห็นว่า ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการดูแลความปลอดภัยทางม้าลาย สืบเนื่องมาจากคดีของคุณหมอกระต่าย เราเห็นว่าทางม้าลายจุดเกิดเหตุไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ ทาง กทม. รู้อยู่แล้วว่าเป็นจุดเสี่ยงอันตราย” นายณัฐพล กล่าว

ในการฟ้องศาลปกครองครั้งนี้ นิสิตจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับทนายความในการทำสำนวนฟ้องด้วย โดยชี้ว่าจุดที่ พญ. วราลัคน์ ถูกชนไม่มีป้ายแจ้งเตือนทางม้าลายที่ชัดเจน และการกำหนดความเร็วไม่เหมาะสม

“การที่ไม่ได้มีการจำกัดความเร็วที่เหมาะสม คือการที่ตามกฎหมายมีความเร็วอยู่ที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้ามาวิ่งในเขตที่เป็นจุดเสี่ยง และเขตชุมชนเช่นนี้ ถ้าเกิดอุบัติเหตุชนคนข้ามทางม้าลาย แรงกระแทกที่คนข้ามถนนจะได้รับจะเทียบเท่ากับคนตกตึก 8 ชั้นเลย ซึ่งโอกาสเสียชีวิตสูงมาก” น.ส. นันทวรี อัจฉริยวนิช นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุ กรุงเทพฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่มาปรับปรุงทางม้าลายบริเวณดังกล่าว ด้วยการทาสีแดงรอบทางม้าลาย และปรับการควบคุมความเร็วจากเดิม 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงให้เหลือ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ไทยถือเป็นประเทศที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยบนท้องถนน เมื่อปี 2561 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงที่สุดในเอเชีย ด้วยสถิติการเสียชีวิต 32.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน

ในทุกปี ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตบนท้องถนนถึงกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 WHO ยังประเมินว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนในไทยเฉพาะปี 2562 ปีเดียวมีมูลค่าถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับ 3 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)

“มันควรจะมีการปรับปรุงกวดขัน เรื่องวินัยจราจรให้ดียิ่งขึ้น การที่ กทม. ได้มาปรับปรุงแก้ไขในภายหลัง เท่ากับเป็นการยอมรับผิดว่าที่ผ่านมามันไม่ดี ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ตรงนี้ก็ต้องเป็นเรื่องของการรับผิดชอบ และต้องมีการแก้ไขจริงจัง เพื่อความปลอดภัยของคนข้ามถนน” นพ. อนิรุทธ์ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง

ความคิดเห็น

เกียรติ โคราช
Oct 08, 2022 04:31 AM

ขอเป็นหนึ่งกำลังใจ ในการต่อสู้ เพื่อให้ทุกคน จนท.รัฐ ลงมือ ทำ ทำ ทำ ให้เกิดความปลอดภัยบนถนน ครับ