“อาลีฟ” แจ้งความถูกตำรวจ สน.ดินแดงซ้อม ในวันไว้อาลัยวัยรุ่นที่เสียชีวิต
2021.12.10
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์นี้ นายวีรภาพ วงษ์สมาน หรือ อาลีฟ อายุ 18 ปี และทนายความ เข้าแจ้งความกล่าวโทษเจ้าหน้าที่
ตำรวจที่ สน.ดินแดง จากเหตุถูกทำร้ายร่างกายในระหว่างถูกควบคุมตัว เพราะร่วมไว้อาลัยในการเสียชีวิตของนายวาฤทธิ์ สมน้อย วัย 15 ปี ที่เสียชีวิตจากการประท้วงรัฐบาล ที่แยกดินแดง เมื่อสามเดือนก่อน ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งถูกกล่าวหายืนยันว่า ไม่ได้กระทำเหตุตามที่ถูกกล่าวอ้างแต่อย่างใด
นายวีรภาพ เดินทางมายัง สน. ดินแดง ในเวลา 13.00 น. พร้อมด้วยทนายความจากภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน นำหลักฐานเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีถูก พ.ต.ท. พีรรัฐ โยมา รองผู้กำกับสอบสวน สน. ดินแดง และตำรวจอีก 3 นาย ร่วมกันทำร้ายร่างกายตน ในวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมี ร.ต.อ. สหัสชัย มณฑา รองสารวัตรสอบสวน เป็นผู้รับเรื่อง
“คาดหวังให้เจ้าหน้าที่เอาคนที่ร่วมกันทำร้ายร่างกายตัวผมมาลงโทษ เพราะสิ่งที่เกิดกับผมมันคือการล้างแค้น และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เราแค่ออกมาเรียกร้องทำไมต้องทำรุนแรงกันขนาดนี้ ในเมื่อผมไม่ได้ใช้ความรุนแรงอะไรเลย” นายวีรภาพ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ระหว่างการแจ้งความ พนักงานสอบสวนอนุญาตให้ นายวีรภาพ และทนายความเข้าไปดูจุดที่เชื่อว่าเป็นที่เกิดเหตุซึ่งเป็นอาคารสอบสวน 2 ชั้น โดยนายวีรภาพ ระบุว่า ตนเองถูกสอบสวนและทำร้ายร่างกายตั้งแต่บริเวณโซฟาชั้น 1 และถูกพาตัวขึ้นไปที่ห้องประชุมชั้น 2 ซึ่งไม่มีกล้องวงจรปิด ถูกใส่กุญแจมือ และเอามือไขว้หลัง เตะ และเหยียบหน้าอก รวมถึงถูกสั่งให้ถอดกางเกงออก เปลือยท่อนล่าง และเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้บุหรี่จี้บริเวณท้อง
นายวีรภาพ ระบุว่า ตำรวจต้องการให้ตนเองบอกว่าใครเป็นคนใช้ปืนยิงตำรวจ (ส.ต.ต. เดชวิทย์ เล็ทเทนสัน) เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ที่แฟลตดินแดง ซึ่งตนเองกล่าวเพียง “ไม่รู้” นายวีรภาพยังเปิดเผยว่า “ตำรวจเขาบอกผมตอนที่ทำ(ซ้อม)ว่า พวกมึงมาทำสิ่งที่กูเคารพ”
น.ส. จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความจากภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตำรวจรับแจ้งความไว้แล้ว แต่อาจจะส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
“ตำรวจรับแจ้งความ ระบุว่าเป็นการร่วมกันทำร้ายร่างกาย ตำรวจแจ้งว่าจะส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช. เพราะเป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่เราก็เห็นว่ามันมีคดีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งตำรวจส่งเรื่อง ป.ป.ช. แต่หลังจากใช้เวลากว่า 4 เดือน ป.ป.ช. ก็ระบุว่าเป็นเขตอำนาจของตำรวจ ซึ่งเสียเวลา และไม่มีประโยชน์ในทางคดี”
ด้าน น.ส. พรพิมล มุกขุนทด ทนายความจากภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่าในก่อนหน้านี้ นายวีรภาพ ได้ไปร้องเรียนเรื่องที่เกิดขึ้นกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แล้ว แต่เจ้าหน้าที่แนะนำให้แจ้งความที่ สน.ดินแดง เพื่อให้เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลและพยานหลักฐาน ตามกระบวนการปกติ
“เราหวังว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริต ที่สำคัญเราอยากได้รูปจากกล้องวงจรปิด อาลีฟจำได้แม่นว่าตำรวจที่ทำร้ายเขาคือคนไหน และเราอยากให้พนักงานสอบสวนหาตัวคนที่กระทำร่วมกันเพิ่มเติม และระบุตัวว่าใครอยู่ในห้องวันเกิดเหตุ” น.ส. พรพิมล กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ต่อเรื่องนี้ พ.ต.ท. พีรรัฐ โยมา รองผู้กำกับสอบสวน สน.ดินแดง ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหา ระบุผ่านโทรศัพท์กับเบนาร์นิวส์ว่า “ไม่ทราบว่าเขาไปแจ้งความ แต่ก็เป็นสิทธิของเขา ส่วนตัวผมไม่ได้กังวลอะไร เพราะยืนยันได้ว่าไม่ได้กระทำสิ่งนั้น”
ทั้งนี้ นายวีรภาพ ให้ข้อมูลว่า ตนเองมีอาชีพขายเสื้อผ้า เคยถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ชัยพฤกษ์ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 หลังจากใช้สีสเปรย์พ่นข้อความบริเวณแยกดินแดงว่า “ควรปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ”
ในครั้งนั้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหา ม. 112 และข้อหาอื่น ๆ ก่อนให้ประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ 1 แสนบาท และใส่กำไลอิเล็กทรอนิคติดตามตัว(EM) โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามกระทำสิ่งที่ถูกกล่าวหาซ้ำ ห้ามกระทำความวุ่นวาย และกระทำสิ่งที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์
ต่อมา วันที่ 29 ตุลาคม 2564 นายวีรภาพ ได้ไปร่วมกิจกรรมรำลึกการเสียชีวิตของนายวาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ซึ่งถูกยิงตรงข้าม สน. ดินแดง ในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 กระสุนทะลุคอและฝังที่ก้านสมองอยู่ในอาการโคม่าร่วม 2 เดือน โดยกิจกรรมดังกล่าวผู้ชุมนุมได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ มีการสาดเลือด จุดไฟ และพ่นสีสเปรย์ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุม และจับตัวผู้ชุมนุมบางส่วนไป ซึ่งนายวีรภาพรวมอยู่ในนั้น โดยถูกควบคุมตัวตั้งแต่เวลา 18.00-03.00 น. ที่ สน.ดินแดง ก่อนถูกปล่อยตัวด้วยสภาพที่มีบาดแผลตามร่างกายหลายจุด
ด้านองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ถึงสิ่งที่วีรภาพถูกกระทำ โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ควรเร่งสืบหาความจริงในกรณีที่เกิดขึ้นอย่างยุติธรรมโดยด่วน
การชุมนุมซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ 1. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เริ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 โดยมีการชุมนุมหลายร้อยครั้งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ภายหลังพื้นที่ดินแดง กลายเป็นพื้นที่ประจำของการชุมนุมเรียกร้องโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ทะลุแก๊ส
นับตั้งแต่มีการชุมนุมจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้ว 1,684 ราย ใน 957 คดี มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายชุมนุมของตำรวจกว่า 100 ราย โดยในนั้นมีเด็ก เยาวชน และสื่อมวลชนรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเช่นกัน แต่ไม่ได้มีการสรุปจำนวนผู้บาดเจ็บที่แน่ชัด