ก.ตร. อุบชื่อ ผบ.ตร. คนใหม่หลังประชุมเรียบร้อยแล้ว
2023.09.27
กรุงเทพฯ

ในวันพุธนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่เรียบร้อยแล้ว ท่ามกลางรายงานความขัดแย้งของรองผู้บัญชาการ สตช. ที่ดำเนินมาอย่างรุนแรง แต่ไม่ยอมเปิดเผยชื่อในระหว่างรอการทูลเกล้าฯ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อลงพระปรมาภิไธย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานในการประชุม ก.ตร. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ร่วมกับ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ ผบ.ตร. คนปัจจุบัน ที่จะเกษียณอายุราชการในวันสิ้นเดือนกันยายนนี้ โดยใช้เวลาประชุมกว่าห้าชั่วโมง แต่ทั้งนายกรัฐมนตรี และ ผบ.ตร. ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ โดยได้มอบหมายให้ พล.ต.ท. อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแทน
“การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ท่านใหม่นั้นได้มีการพิจารณาคัดเลือกรายชื่อผู้ที่จะเป็น ผบ.ตร. ท่านใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ระหว่างในขั้นตอนทางธุรการเพื่อนำความกราบบังคมทูล จึงยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในวันนี้” พล.ต.ท. อาชยน กล่าวกับผู่สื่อข่าว และระบุว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาแต่งตั้ง รอง ผบ.ตร. และผู้บังคับการ วาระประจำปี 2566 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2566
อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนคาดว่า ที่ประชุม ก.ตร. ได้เลือก พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล หรือบิ๊กต่อ รอง ผบ.ตร. จะได้เป็น ผบ.ตร. คนใหม่ แซงหน้า พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล หรือบิ๊กโจ๊ก รอง ผบ.ตร. ที่มีอาวุโสมากกว่า แต่กำลังโดนพายุถาโถม เพราะการถูกตรวจค้นบ้าน และลูกน้องใกล้ชิดโดนสอบสวนในข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์
มติดังกล่าวมีขึ้นหลังจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพักของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หนึ่งในผู้ท้าชิงตำแหน่ง ผบ.ตร. คนใหม่ ในวันจันทร์ ทำให้ บิ๊กโจ๊กยกเลิกการร่วมงานเกษียณอายุราชการตำรวจ ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน ในเย็นวันอังคาร และไม่เข้าร่วมการประชุม ก.ตร. ในวันพุธนี้ด้วย
“มันเป็นการเมืองภายใน ตร. ท่านเชื่อไหมว่า วันนี้จะค้นบ้าน รอง ผบ. ได้โดยไม่มีความผิด ตั้งนาน ทำไมไม่เกิด ทำไมมันมาเกิดช่วงนี้ การค้นบ้านผมก็เพื่อให้ผมเสียเครดิต” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวในวันจันทร์
ในวันพุธนี้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ยังได้จ้างทนายความเพื่อดำเนินการฟ้องกลับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกหมายค้นบ้านพักของตนด้วย โดยอ้างว่าเป็นการออกหมายค้นที่ไม่ชอบ และไม่ใช่วิธีการดำเนินการที่ปกติ
“ผมไม่อยากทุบหม้อข้าวตัวเอง ผมอยากให้ตำรวจที่เขาไม่ได้เกี่ยว ให้มีทางเดินบ้าง ถ้าผมทุบหม้อข้าวเมื่อไหร่ เปิดเมื่อไหร่ก็ตายกันทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวกับสื่อมวลชนในวันพุธ
4 ว่าที่ ผบ.ตร.
การเลือก ผบ.ตร. คนใหม่ แต่เดิมมีกำหนดเลือกในวันที่ 25 สิงหาคม 2566 แต่ถูกเลือกออกมาเป็นวันพุธนี้ โดย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ระบุว่า ผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. จะต้องคำนึงถึงความอาวุโส และความรู้ความสามารถ
สื่อหลายสำนักระบุตรงกันว่า หากอิงตามหลักเกณฑ์ ผู้ที่เป็นตัวเลือกอันดับ 1 คือ พล.ต.อ. รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 24 และนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 40 เกษียณอายุราชการ ปี 2567 ซึ่งมีผลงานเด่นคือ การจัดการบ่อนพนันภาคตะวันออก, การรักษาความปลอดภัย และดูแลความเรียบร้อย APEC 2022, การเลือกตั้งปี 2562 และปี 2565
อันดับ 2 พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 31 เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 47 เกษียณอายุราชการ ปี 2574 ผลงานเด่นคือ การทำคดีกำนันนกยิงสารวัตรแบงค์ และคดีฆาตกรต่อเนื่องแอมไซยาไนด์ ส่วนอันดับ 3 พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 25 เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 41 เกษียณอายุราชการ ปี 2569 มีผลงานเด่นคือ เป็นหัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
และ อันดับ 4 พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ ซึ่งไม่ได้เป็นนักเรียนเตรียมทหาร และนักเรียนนายร้อย แต่จบรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นพนักงานบริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ ก่อนจะสมัครเข้าเป็นข้าราชการตำรวจ เกษียณอายุราชการ ปี 2567 ผลงานเด่นคือ เป็นหัวหน้าศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา, ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์, ศูนย์บริหารงานป้องกันปราบปราม และศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดพิธีตั้งแถวกองเกียรติยศต้อนรับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ วันที่ 27 กันยายน 2566 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
การเมืองใน ตร. และการปฏิรูป
นายวรชาติ อาวิพันธ์ นักวิชาการ สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ชี้ว่า การบุกค้นบ้าน พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ แสดงถึงปัญหาในองค์กรตำรวจ
“กรณีที่เกิดขึ้นสร้างความสับสนในสังคมมาก แต่ใครก็ดูออกว่าเป็นเรื่องการเมืองในวงการตำรวจ และแสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปตำรวจที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามดำเนินการไม่ประสบความสำเร็จ การบุกค้นโดยตำรวจในหลายคดี มักมีลักษณะทางการเมืองหรือเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสและการใช้อำนาจในทางมิชอบของตำรวจไทย ซึ่งนับเป็นเรื่องไม่ปกติในประเทศที่มีกฎหมาย มีรัฐธรรมนูญ” นายวรชาติ กล่าว
ด้าน ดร. ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่าควรมีการกระจายอำนาจสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
“การปฏิรูปตำรวจมีหลายแง่มุม ต้องปฏิรูปโครงสร้างทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นงานจราจร งานปราบปรามต่าง ๆ เรื่องส่วย เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การแต่งตั้งโยกย้าย มีหลายจุดมากที่ต้องแก้ไข และที่ผ่านมา พ.ร.บ.ตำรวจฯ พยายามจะปฏิรูปโครงสร้าง แต่เชื่อว่าการเมืองต้องแข็งแรงกว่านี้ ถึงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตำรวจได้”
“แนวทางหนึ่งที่คนเรียกร้องคือ การกระจายอำนาจ โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ให้มีคณะกรรมาธิการระดับจังหวัดเป็นผู้พิจารณา แต่แนวทางนั้นก็ไม่เคยสำเร็จ ข้อเสนอที่คนต้องการเรื่องตำรวจท้องถิ่นจึงเป็นแนวคิดที่ยังห่างไกลความเป็นจริง” ดร. ณัฐกร กล่าว
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน