กระแสสังคมวิจารณ์ อุบัติเหตุที่คร่าชีวิตหมอกระต่าย
2022.01.28
กรุงเทพฯ

หมอกระต่าย หรือ พญ. วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ต้องเสียชีวิตเพราะถูกจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ที่ไม่ติดทะเบียน ขับขี่โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชนอย่างรุนแรง ขณะกำลังข้ามถนนบนทางม้าลาย เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 21 มกราคม 2565 ที่ถนนพญาไท หลังจากนั้นผู้ก่อเหตุได้เข้าอุปสมบทเป็นพระเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย ในขณะที่ถูกตำรวจตั้ง 7 ข้อหา ก่อกระแสสังคมวิพากษ์-วิจารณ์ถึงความเหมาะสม
โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้ ได้กลายเป็นกระแสบนโลกออนไลน์ที่ใช้วิจารณ์เสียดสีถึงเหตุที่ประชาชนไทยต้องเผชิญ เมื่อต้องเดินข้ามถนนท่ามกลางการจราจรคับคั่ง แม้แต่บนทางม้าลายขาวดำ ซึ่งยานพาหนะทุกคันจะต้องหยุดให้ผู้ใช้ถนนเดินข้ามพ้นเสียก่อน
“การข้ามถนนในประเทศไทย คุณต้องคิดว่า คุณกำลังวิ่งหนีตาย ไม่ก็คิดว่ากำลังวิ่งหนีหมาบ้า” หญิงนุ้ย (สงวนชื่อและนามสกุลจริง) นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การข้ามถนนในประเทศไทยต้องใช้ความเร็วสูงมาก เพราะรถมักไม่ยอมหยุดให้
ผู้เห็นเหตุการณ์บอกกับสื่อมวลชนว่า ร่างของหมอกระต่ายกระเด็นไปไกลกว่า 10 เมตร หลังถูกบิ๊กไบค์สีแดงชนอย่างรุนแรง ขณะที่รถยนต์คันอื่นจอดรอ เพื่อให้หมอกระต่ายข้ามถนน แต่มอเตอร์ไซคันดังกล่าวไม่หยุด ซ้ำยังแซงมาด้วยความเร็ว
“ความเร็วในขณะที่ผู้ต้องหาใช้รถจักรยานยนต์แซงรถตู้ อยู่ที่ 108-128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งผิดกฎ เพราะเป็นการขับขี่รถเร็วเกินกว่ากำหนดที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง” พล.ต.ต. จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) แถลงในวันศุกร์นี้ ซึ่งหลังจากนี้พนักงานสอบสวนจะทำการเรียกตัวผู้ต้องหามาเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเป็นข้อหาที่ 8
คนขับขี่มอเตอร์ไซค์ยังอยู่ในที่เกิดเหตุ ขณะตำรวจท้องที่จะมาถึง แต่ไม่ได้มีการควบคุมตัวผู้ก่อเหตุไว้ ด้านหมอกระต่ายหลังจากถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล เธอเสียชีวิตลงเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียง 3 วัน ก่อนวันคล้ายวันเกิดอายุ 34 ปี ของเธอ
เจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องใช้เวลาถึง 2 วัน กว่าจะชี้แจงว่า จักรยานยนต์สีแดง ยี่ห้อดูคาติ รุ่นมอนสเตอร์ 900 ซี.ซี. ซึ่งไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน มีผู้ขับขี่ชื่อ ส.ต.ต. นรวิชญ์ บัวดก ผู้บังคับหมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1 บก.อคฝ.)
โดย ในวันจันทร์ ส.ต.ต. นรวิชญ์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้ง 7 ข้อหา ที่รวมข้อหาการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งโทษสูงสุดถึงจำคุก 10 ปี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ส.ต.ต. นรวิชญ์ ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน
คนใช้ถนนขณะรอข้ามทางม้าลาย ที่ใกล้แยกพญาไท เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 (Thai News Pix)
เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
หลังจากนั้น ส.ต.ต. นรวิชญ์ และ ร.ต.ต. นิคม บัวดก บิดา ได้เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดปริวาสราชสงคราม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับหมอกระต่าย ภาพของคนทั้งคู่ห่มผ้าเหลืองถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางบนอินเทอร์เน็ต และถูกวิพากษ์-วิจารณ์ถึงความเหมาะสม ทั้งสร้างความขุ่นเคืองให้กับสังคม มีเสียงวิพากษ์-วิจารณ์ รวมทั้งการเสียดสี-ยั่วล้อจากโลกอินเทอร์เน็ตมากมาย เพราะขณะที่บวช ส.ต.ต. นรวิชญ์ มีสถานะเป็นผู้ต้องหา
พล.ต.ต. นครินทร์ สุคนธวิท ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน กล่าวกับสื่อมวลชนว่า “ส.ต.ต. นรวิชญ์ รู้สึกเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นมาก และการบวชเป็นการตัดสินใจของเขาและพ่อ ไม่ใช่จากผู้บังคับบัญชา”
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยกับการแสดงความรับผิดชอบแบบที่ ส.ต.ต. นรวิชญ์ ทำ
“มีใครคิดเหมือนเราไหมว่า เขาโดนแนะนำให้บวชเป็นพระ เพราะนอกจากจะทำให้เขาปลอดภัยตอนไปขอโทษครอบครัวหมอกระต่าย เขายังจะถูกกราบไหว้ ให้ความเคารพในฐานะพระด้วย” น.ส. รัตนพร (สงวนนามสกุล) กล่าวกับเบนาร์นิวส์
หลังจากที่สังคมวิจารณ์กรณีดังกล่าวอย่างหนัก มหาเถรสมาคมได้เปิดชี้แจงว่า การอุปสมบทขณะเป็นผู้ต้องหาทำไม่ได้ ทำให้หลังจากเป็นพระได้เพียงวันเดียว ส.ต.ต. นรวิชญ์ ต้องลาสิกขา
“เดี๋ยวสึกพรุ่งนี้ครับ ตอนนี้ (สภาพจิตใจ) ยังไม่ดีครับ ขอขมาแล้วครับ และขอโทษ” พระนรวิชญ์ กล่าวกับสื่อมวลชนในวันอังคาร
อย่างไรก็ตาม การขอขมาของ ส.ต.ต. นรวิชญ์ ไม่ได้ทำให้ครอบครัวหมอกระต่ายหายเจ็บปวดและโศกเศร้า
“ก็อนุโมทนาที่เขาได้ไปบวช แต่เรื่องของการสูญเสียของเรา มันไม่อาจจะทดแทนกันได้ เราสูญเสียลูกไปทั้งชีวิต คนที่เหลืออยู่ก็เศร้าโศกกันไปตลอดชีวิต ก็ขอให้มันเกิดความเป็นธรรม รวดเร็ว เท่านั้น” นพ. อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล บิดาของหมอกระต่าย กล่าวกับสื่อมวลชนในวันพุธ
ด้าน ประชาชนเชื่อว่า เรื่องที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงแค่กระแสชั่วคราว ไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
“กรณีนี้ กลายเป็นที่สนใจ เพราะคนที่ถูกชนมีสถานะทางสังคม เป็นหมอ มีอนาคตที่ดี หน้าตาดี และคนชนเป็นตำรวจอีก ทำให้สังคมเพ่งเล็ง ถ้าคนถูกชนเป็นชาวบ้านธรรมดาอาจจะไม่มีใครสนใจก็ได้” นายภาคภูมิ เจริญสุข กล่าวกับเบนาร์นิวส์
WinsatonSamith ทวีตเปรียบเทียบ ภาพเดอะบีเทิลส์ ข้ามถนนแอบบี ในกรุงลอนดอน และสิ่งที่อาจเกิดขึ้นหากอยู่ในกรุงเทพฯ [Twitter @WinsatonS]
กระแสแรงในสังคมออนไลน์
ศิลปินและนักวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีการเมือง หันมาใช้ทวิตเตอร์ เพื่อแสดงความคิดเห็นในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“ไปสู่สุคตินะหมอกระต่าย และขอให้พระเจ้าทรงช่วยคุ้มครองคนข้ามถนนในประเทศไทยด้วย” ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ WinsatonSamith เขียนข้อความดังกล่าวพร้อมกับโพสต์ภาพสมาชิกวง ’เดอะบีเทิลส์’ ลอยขึ้นไปในอากาศ หลังถูกจักรยานยนต์ชน ขณะพยายามข้ามถนน
ด้านศิลปินล้อการเมือง Uninspired by Current Events ได้โพสต์งานถึง 3 ชิ้น ที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของหมอกระต่าย โดยมีรูปตำรวจพยายามจะทาสีแดงเพิ่มลงไปบนทางม้าลายสีขาวดำ หรือรูปที่อนุสาวรีย์ตำรวจอุ้มตำรวจด้วยกันเอง โดยใกล้ ๆ กันมีจักรยานยนต์สีแดงล้มอยู่
ทั้งนักเขียนการ์ตูนล้อการเมือง Stephff (@stephffart) ได้ทวีตการ์ตูนภาพผู้ก่อเหตุแต่งกายเป็นพระวิ่งออกจากจุดที่เกิดเหตุ โดยสลัดชุดเครื่องแบบตำรวจไว้เบื้องหลัง
[การ์ตูนโดย ขวด สำหรับเบนาร์นิวส์]
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก อุบัติเหตุจากความประมาท
เหตุที่เกิดขึ้นกับหมอกระต่าย ทำให้หลายคนนึกถึงเหตุการณ์ที่นักศึกษาอายุ 16 ปี ขับรถเก๋งชนรถตู้บนทางด่วนโทลล์เวย์ ในปี 2553 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 9 คน
ต่อมา น.ส. อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือแพรวา คนขับรถเก๋งในฐานะจำเลยของคดี ถูกลงโทษเพียงการให้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมเป็นเวลา 138 ชั่วโมง สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ แพรวา ถูกพูดถึงในฐานะ “ลูกคนรวย” ที่มี “อภิสิทธิ์” ในการไม่ต้องรับโทษจำคุก แม้จะก่อเหตุสะเทือนขวัญในสังคม
เช่นเดียวกับกรณีของ นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทของบริษัทยักษ์ใหญ่ “กระทิงแดง” ซึ่งขับรถเฟอร์รารี่ชนจักรยานยนต์และทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตในปี 2555 ก็ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในต่างประเทศ
ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยบนท้องถนน เมื่อปี 2561 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชีย มีสถิติการเสียชีวิต 32.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน
ในทุกปีประเทศไทยมีคนเสียชีวิตบนท้องถนนถึงกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ในประเทศไทย ทางเศรษฐกิจ องค์การอนามัยโลกประเมินว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยเฉพาะปี 2562 ปีเดียวมีมูลค่าถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับ 3 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)