ก้าวไกลเผยได้เสียง ส.ว. เลือกนายกฯ พิธา ใกล้ถึงเป้า

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.06.20
กรุงเทพฯ
ก้าวไกลเผยได้เสียง ส.ว. เลือกนายกฯ พิธา ใกล้ถึงเป้า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มาถึงพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกับพรรคร่วม 8 พรรค เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ที่กรุงเทพฯ วันที่ 22 พฤษภาคม 2566
เอเอฟพี

น.ส. ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า ปัจจุบันมีสมาชิกวุฒิภา (ส.ว.) ที่รับปากว่าจะเลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี ใกล้ครบแล้ว ขณะที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่า พรรคพร้อมเลือกนายกฯ จาก พรรคที่รวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้มากที่สุด เพื่อเป็นการรักษามารยาททางการเมือง

“มีความน่าพอใจที่จะได้เดินหน้าพูดคุยกับฝั่ง ส.ว. แล้วเราก็ยังได้เสียงจาก ส.ว. เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ เรียกได้ว่า อีกนิดเดียวใกล้ที่จะถึงเป้าที่เราต้องการแล้ว แล้วก็เราจำเป็นที่จะต้องมีการทำเป้าเพิ่ม ในกรณีที่จะต้องหาประธานสภาที่จะต้องงดออกเสียง แล้วก็ป้องกันในกรณีที่จะเปลี่ยนใจได้ในอนาคต ก็ต้องทำให้เกินเป้าไว้ก่อน” น.ส ศิริกัญญา กล่าว

“เนื่องจากขณะนี้ การสืบสวนไต่สวนยังดำเนินการอยู่ ไม่สามารถพิจารณาได้เสร็จภายใน 60 วัน จึงประกาศให้ ส.ส.ทำหน้าที่ก่อน หากเห็นว่า ส.ส.ที่รับรองทำผิดกฏหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมือง ก็สามารถยื่นคำร้องต่อ กกต.ได้ กรอบระยะเวลาดำเนินการพิจารณคำร้องให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 ปี” นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กกต. กล่าวในวันอังคารนี้

ก่อนหน้านี้ หลังทราบผลเลือกตั้ง พรรคก้าวไกล, เพื่อไทย, ประชาชาติ, ไทยสร้างไทย, เพื่อไทรวมพลัง, เสรีรวมไทย, เป็นธรรม, พลังสังคมใหม่ และใหม่ รวม ส.ส. 313 เสียงจากทั้งหมด 500 เสียง ได้ประกาศจับมือกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้ให้อำนาจ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งหมายความว่า นายพิธา จะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต่อเมื่อมีเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 376 เสียง จากทั้งหมด 750 เสียงของรัฐสภาร่วม ทำให้ก้าวไกลพยายามเจรจากับ ส.ว. เพื่อโน้มน้าวให้เลือกนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี

ด้าน ร.อ. ธรรมนัส กล่าวหลังเข้ารับรายงานตัวเป็น ส.ส. ว่า “การที่จะโหวตนายกฯ เนื่องจากเป็นเรื่องของสองสภา ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราก็ต้องเคารพว่า รัฐธรรมนูญกำหนดว่ายังไง แต่ทิศทางว่าจะเลือกใคร ณ วันนี้ ท่านหัวหน้าพรรค(พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ท่านก็ให้นโยบายแล้วว่า ควรจะให้พรรคที่ได้รับการยอมรับจากพี่น้องประชาชน เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล เราต้องมีมารยาททางการเมือง ก็จะเคารพกติกา”

หลัง กกต. รับรองผลเลือกตั้ง พรรคก้าวไกล แถลงผ่านเฟซบุ๊กเพจว่า ส.ส. ของพรรคทั้ง 151 คน ซึ่งเพิ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจาก กกต. ในวันจันทร์ พร้อมที่จะทำงานตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้

“เราสัญญาว่าจะทำงานอย่างเต็มที่ที่สุด เพื่อให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนเปลี่ยนเป็นพลังความเปลี่ยนแปลง จะผลักดันนโยบายและกฎหมายตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนอย่างเต็มที่ที่สุด ทำงานด้วยความโปร่งใสพร้อมถูกตรวจสอบ และยืนหยัดอยู่ข้างความถูกต้อง จะยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่เชื่อว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน” แถลง ระบุ

ในวันจันทร์ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับรองผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 อย่างเป็นทางการ โดยพรรคก้าวไกล มี ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ 151 คน เพื่อไทย 141 คน ภูมิใจไทย 71 คน พลังประชารัฐ 40 คน รวมไทยสร้างชาติ 36 คน ประชาธิปัตย์ 25 คน ชาติไทยพัฒนา 10 คน ประชาชาติ 9 คน ไทยสร้างไทย 6 คน เพื่อไทรวมพลัง และชาติพัฒนากล้า พรรคละ 2 คน เสรีรวมไทย, ประชาธิปไตยใหม่, ใหม่, ท้องที่ไทย, เป็นธรรม, พลังสังคมใหม่ และครูไทยเพื่อประชาชน พรรคละ 1 คน

เมื่อ กกต. รับรอง ส.ส. แล้ว หลังจากนั้นระหว่างวันที่ 20-24 มิถุนายน 2566 ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้งต้องเข้าไปรับหนังสือรับรองจาก กกต. และ ส.ส ต้องรายงานตัวต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน 15 วัน คือ ก่อน 3 กรกฏาคม 2566 ซึ่งในหลวงจะทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นจะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้มีกำหนดวันเวลาที่ต้องดำเนินการ ระหว่างนั้น รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

“ยินดีกับทุกคน ยินดีกับ ส.ส. ใหม่ป้ายแดงทุกคน ก็ขอให้อยู่กันให้ครบก็แล้วกัน หลายคนอาจจะมีปัญหาบ้างอะไรบ้างก็แล้วแต่ท่าน (เรื่องเลือกประธานสภา) ก็เป็นเรื่องของพรรคอันดับต้นของเขา หนึ่งสองก็ว่ากันไป เรา (รวมไทยสร้างชาติ) มีคะแนนเสียงไม่ได้มากมายนัก ประมาณ 36 (ส.ส.) ก็ฟังพรรคใหญ่ ๆ เขาคุยก่อน อยากให้จัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็วที่สุดนะ เพราะปัญหามันเยอะแยะ” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวในวันอังคาร

ทั้งนี้ กกต. ระบุว่า คะแนนเสียงที่นำมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อมีทั้งหมด 31,522,698 คะแนน ซึ่ง กกต. ใช้ 375,226 คะแนน ต่อ ส.ส. 1 คนคือ หลังจากนี้ กกต. ยังมีอำนาจพิจารณาการสืบสวนไต่สวน ตามมาตรา 138 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 หากมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า ส.ส. ได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริต สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ โดยมี ส.ส. ที่ถูกร้องเรียนทั้งสิ้น  82 คน

ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม ชี้ว่า สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน อาจทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยอมเลือกนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี

“กรณี ประชาธิปัตย์หรือธรรมนัส (พลังประชารัฐ) ที่อาจร่วมเลือกพิธา คือ มีการปรับยุทธศาสตร์ทางการเมือง เพื่อให้ประชาชนเห็นว่า กลับเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย จึงมีความจำเป็นและสมเหตุสมผลอย่างยิ่งที่จะต้องโหวตให้พิธา เพราะพรรคเหล่านี้มีสถานะจนมุม เป็นพรรคเสียงข้างน้อย และแนวทางที่ดีที่สุดก็คือ หลังจากนี้ก็เป็นฝ่ายค้านและตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาลใหม่ให้เต็มที่” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าว

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง