รัฐสภาไม่รับร่างแก้ รธน. ฉบับประชาชน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.11.17
กรุงเทพ
รัฐสภาไม่รับร่างแก้ รธน. ฉบับประชาชน กลุ่มรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญเดินขบวนจากตลาดนัดสวนจตุจักรไปยังอาคารรัฐสภา วันที่ 13 มีนาคม 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติในวันพุธนี้ ไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอโดยภาคประชาชน ซึ่งฝ่ายผู้เสนอต้องการยกเลิกวุฒิสมาชิกออกจากระบบสภา เพราะเห็นว่าเป็นเครื่องมือให้กับการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กระทำรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนมาเมื่อกว่า 7 ปีก่อน 

นายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวว่า ที่ประชุมร่วมมีมติไม่รับหลักการด้วยคะแนน 473 เสียง รับหลักการ 206 คะแนน และงดออกเสียง 6 เสียง ซึ่งปัจจุบัน มีสมาชิกรัฐสภามีสมาชิก 723 คน เป็น ส.ว. 248 คน และ ส.ส. 475 คน ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้รับคะแนนเห็บชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่ง 

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนญฉบับนี้ เป็นความพยายามของภาคประชาชนครั้งที่สองที่ต้องการลดทอนอำนาจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาลง โดยกลุ่ม Re-Solution ซึ่งได้รวบรวมประชาชนรับรอง 135,247 รายชื่อ และยื่นต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เพื่อให้มีการอภิปรายรับหลักการ ซึ่งรัฐสภาได้เปิดอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเมื่อวานนี้และลงคะแนนในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ 1. ยกเลิกวุฒิสมาชิก และใช้เพียงสภาผู้แทนราษฎร 2. ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ที่คัดเลือกโดย คสช. และให้คัดเลือกใหม่ 3. ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 4. นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น 5. เพิ่มกลไกต่อต้านรัฐประหาร และยกเลิกนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร 6. เพิ่มอำนาจฝ่ายค้านตรวจสอบ กองทัพ ศาล และองค์กรอิสระได้ และ 7. เพิ่มเงื่อนไขให้ประชาชน 2 หมื่นคนให้เข้าชื่อตรวจสอบตุลาการได้ 

“รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้เป็นอะไรซับซ้อนไปกว่ารัฐธรรมนูญของระบอบของประยุทธ์ เพื่อระบอบประยุทธ์ โดยระบอบประยุทธ์ หากเราวิเคราะห์ตั้งแต่ที่มา กระบวนการ และเนื้อหา เราจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 60 นั้นเขียนขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เดียวเท่านั้น นั่นคือการสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์” นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ หนึ่งในผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวต่อสภาเมื่อวันอังคารนี้ 

“เราจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 60 ให้อำนาจวุฒิสภาเยอะกว่าที่เคยเป็นมาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ประการแรก การที่ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง สามารถมาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส. 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่ขัดอย่างชัดเจนที่สุดกับหลักหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของระบอบประชาธิปไตย” นายพริษฐ์ กล่าว 

ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2563 เป็นต้นมา กลุ่มนักศึกษาและเยาวชน ได้ออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่รัฐประหารรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2557 โดยเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ก้าวลงจากอำนาจ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์  

แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ต้องการให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นำไปสู่การประท้วงของกลุ่มนิยมประชาธิปไตยที่เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือของฝ่ายผู้มีอำนาจ 

อย่างไรก็ตาม นายเสรี สุวรรณภานนท์ วุฒิสมาชิก กล่าวว่าว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีเจตนาแอบแฝง จึงไม่สามารถรับหลักการได้ 

“ถ้อยคำที่เขียนหลักการและเหตุผล สาระในรัฐธรรมฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ เขียนไว้รุนแรง มีกระบวนการที่สมาชิกหลายท่านได้อภิปรายมาแล้วว่าร่างฉบับนี้เป็นร่างที่แทรกแซงหลายระบบ หลายองค์กร… ประสงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ สมาชิกวุฒิสภาก็ไม่ขัดข้อง แต่ต้องมาโดยสุจริต ไม่แอบแฝงผลประโยชน์ส่วนตน ต้องแก้ไขเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ”​ นายเสรี กล่าวในวันอังคารนี้ 

นายเนียง ลิน นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “การโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สะท้อนถึงความหวงและเห็นแก่อำนาจของสมาชิกวุฒิสภาอย่างชัดเจน 

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ส.ว. ชุดนี้ เป็นหนึ่งในโครงสร้างอำนาจของรัฐบาล เป็นเหมือนไม้ค้ำยัน ที่ถูกสร้างขึ้นจาก คสช.” นายเนียง ลิน กล่าว 

ก่อนหน้านี้ ในเดือนกันยายน 2563 ประชาชนโดยการนำของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เคยยื่นกว่า 1 แสนรายชื่อเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาได้มีมติไม่รับหลักการร่างดังกล่าวนั้นที่มีเนื้อหาครอบคลุมไปถึงการแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ ไปเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563   

ในท้ายที่สุด สภาได้ให้ความเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งถูกเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ในวาระสามร่าง ไปเมื่อเดือนกันยายน 2564 ซึ่งมีสาระให้มีการปรับบัตรเลือกตั้งจาก 1 ใบเป็น 2 ใบในการเลือกตั้งครั้งหน้า และไม่มีการแตะหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์  

 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนโดย รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และผ่านการลงประชามติ ในปี 2559 ซึ่งได้รับเสียงเห็นชอบ 16.8 ล้านเสียง และเห็นชอบบทเฉพาะกาลอายุ 5 ปี ที่ให้สิทธิ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี 15.1 ล้านเสียง 

iLaw กล่าวว่า การลงประชามติครั้งนั้นไม่ได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายมีการรณรงค์คัดค้าน และระบุว่ามีผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการรณรงค์เรื่องประชามติ อย่างน้อย 131 ราย 

ทั้งนี้ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ส.ส. ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลเคยยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ในปี 2563 ซึ่งสามารถผ่านความเห็นชอบในวาระ 1 และ 2 มาได้ แต่เมื่อถึงวาระที่ 3 ในเดือนมีนาคม 2564 ที่ประชุมรัฐสภาออกเสียงไม่เห็นชอบทำให้ร่างทั้งหมดตกไป 

จากนั้น ในเดือนมิถุนายน 2564 จึงมีการยื่นญัตติใหม่ 13 ร่าง แต่ผ่านความเห็นชอบวาระที่ 1 เพียง 1 ร่าง ก่อนที่จะมีการลงมติในวาระ 2 และ 3 โดยรัฐสภาและผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขกติกาเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง