ฝ่ายค้านอัดประยุทธ์-อนุทิน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรก

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.07.19
กรุงเทพฯ
ฝ่ายค้านอัดประยุทธ์-อนุทิน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่รัฐสภา ในกรุงเทพฯ วันที่ 19 กรกฎาคม 2565
เอพี

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โต้ฝ่ายค้านที่กล่าวหาว่า รัฐบาลมีการคอร์รัปชัน บริหารเศรษฐกิจล้มเหลว และแก้ไขกัญชาให้ถูกกฎหมาย โดยไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบต่อสังคม ในวันแรกของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ พ.ศ. 2562

นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้เปิดฉากอภิปรายโจมตี พล.อ. ประยุทธ์ ว่ามีการโกงกิน และขาดประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ

“เป็นยุคที่ทุจริตเฟื่องฟู ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รั้งท้ายของอาเซียน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไร้ภูมิปัญญา ไร้องค์ความรู้ ไร้ความสามารถ ไร้ประสิทธิภาพ สิ่งที่มันเกิดขึ้น ถ้าพลเอก ประยุทธ์ มีภาวะผู้นำที่แท้จริงจะออกมาประกาศยอมรับว่าความผิดพลาด บกพร่อง ล้มเหลวทั้งหมดเนี่ยเป็นความผิดพลาด บกพร่อง เพราะตัวท่านคนเดียว” นายชลน่าน กล่าว

ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง รายงานสถานะหนี้สาธารณะ ที่ประกาศบนเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 นั้นมีการระบุว่า “ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีจำนวน 9,951,962.73 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 60.58 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)” ขณะที่จีดีพี อยู่ที่ 16.42 ล้านล้านบาท

ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า ตนเองและรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว

“เศรษฐกิจพังยับเยิน จนทั้งแผ่นดิน ข้าวของแพง ท่านก็รู้สาเหตุมาจากอะไร ถ้าท่านเอางี้มาพูด ผมก็ถามว่าแล้วท่านจะแก้ยังไง ท่านลองเสนอมาสิครับ ท่านจะช่วยเขาตรงไหน วันนี้ผมช่วยไปถึงต้นทาง กลางทาง ปลายทาง มีการแก้ไขปัญหาความยากจน แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้ครู หนี้ กยศ.” พล.อ. ประยุทธ์ ระบุ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจประจำปี 2565 นี้ จะใช้เวลาระหว่างวันที่ 19-22 กรกฎาคม และจะมีการลงมติในวันที่ 23 กรกฎาคม โดยแบ่งสัดส่วนเวลาให้ฝ่ายค้าน 45 ชั่วโมง และฝ่ายรัฐบาลชี้แจง 19 ชั่วโมง โดยปัจจุบัน ฝ่ายรัฐบาลมี ส.ส. 253 เสียง ขณะที่ ฝ่ายค้านมี 224 เสียง ซึ่งคนที่ถูกอภิปรายมากที่สุดในวันอังคารนื้ คือ กับ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ถล่มกัญชาเสรี

นายสุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า นโยบายกัญชาเสรีของรัฐบาลละเมิดอนุสัญญาสหประชาชาติเรื่องยาเสพติด ได้ทำให้เยาวชนเข้าถึงกัญชาโดยไม่มีการควบคุม และมีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ ซึ่งผิดเจตนารมย์ของรัฐสภา

“องค์กรสหประชาชาติจัดกัญชาไว้ในอันดับที่ 4 เป็นประเภทที่ไม่ใช้ในทางการแพทย์… ปี 2020 เขาก็ย้ายกัญชาจากประเภทที่ 4 ไปอยู่ประเภทที่ 1 คือเป็นประเภทยาเสพติดร้ายแรง แต่อนุโลมให้ใช้ทางการแพทย์และวิจัยเท่านั้น จะมาสูบมาเสพไม่ได้… เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า หนึ่ง ละเมิดกติกาโลก” นายสุทิน กล่าวต่อสภา

“สอง ท่านก็มาละเมิดรัฐสภา มติรัฐสภาไม่ได้ให้คุณไปปลดล็อก แล้วเจตนารมย์แม้ให้คุณไปทำก็ทำได้เพียงการแพทย์และการวิจัย แต่กระทรวงสาธารณสุขเลยเถิดไปถึงส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้เสพได้ก็คือ สันทนาการ” นายสุทิน กล่าวเพิ่มเติม

ขณะที่ นายกูเฮง ยาวอหะซัน ส.ส. นราธิวาส พรรคประชาชาติ ระบุว่า “เป็นเรื่องของความไร้คุณธรรม ไร้จิตสำนึก และผมอาจจะพาดพิงไปถึงท่านนายกรัฐมนตรีด้วยนะครับ เพราะท่านเป็นผู้กำกับดูแลเรื่องนี้… กัญชาถึงแม้จะถูกกฎหมาย แต่มันเป็นสิ่งละเมิดศาสนาของผม ศาสนาอิสลามไม่รับกัญชาเพราะมันเป็นเรื่องผิด แต่เราเอากัญชามาเป็นเรื่องเสรี ยังไม่เท่าไหร่ครับ แต่ประเทศไทยของเราประกาศว่า เป็นกัญชาเสรีแบบสุดโต่ง หรือกัญชาเสรีแบบสูญญากาศ”

การอภิปรายดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565 คณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติ ก็มีมติให้ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดโดยสิ้นเชิง และให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565  ปัจจุบัน กัญชาจึงไม่เป็นยาเสพติด และมีรายงานข่าวการซื้อขายอย่างแพร่หลายแม้แต่ในหมู่เยาวชน

ด้าน นายอนุทิน ได้ชี้แจงว่ารัฐบาลได้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อควบคุมการใช้กัญชาไม่ให้เยาวชนเข้าถึงแล้ว

“พืชกัญชาถึงแม้ว่าจะไม่เป็นยาเสพติดแล้วอีกต่อไป แต่เราก็ต้องใช้แบบระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เยาวชนเข้าถึง ส่วนที่เป็นสันทนาการ และส่วนที่นำมาใช้ประกอบอาหารในร้านอาหารทั่วไป... ระหว่างนี้เราก็จะมีกลไกในการใช้พืชกัญชงกัญชา หลัก ๆ ก็คือ การควบคุมการเข้าถึงของเยาวชนและกลุ่มเปราะบาง เราก็ได้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข” นายอนุทินกล่าว และระบุว่าตนมั่นใจว่า พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง ที่สภากำลังร่างอยู่นั้นจะสามารถควบคุมกิจกรรมเหล่านี้ได้

นักวิชาการเชื่อรัฐบาลประยุทธ์ได้ไปต่อ

ขณะเดียวกัน นายปิยะพงษ์ พิมพลักษณ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อว่าฝ่ายค้านไม่น่าจะล้มรัฐบาลได้ แต่เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับพรรคฝ่ายค้านในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

“การอภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรก ยังไม่เห็นความดุดันของฝ่ายค้านเท่าไหร่ ส่วนการตอบโต้ของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะเจ้าภาพหลายประเด็นอย่างคุณอนุทิน คิดว่าทำได้ตามมาตรฐาน คือพยายามป้องกันเรื่องที่ผิดพลาด ด้วยการไปพูดเรื่องอื่น และหลีกเลี่ยงการปะทะตรง ๆ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะยังได้รับเสียงไว้วางใจ แต่สิ่งที่สังคมต้องการรู้จริง ๆ คือ รัฐบาลนี้มันมีปัญหาอะไรอยู่ใต้พรมบ้าง และความขัดแย้งของรัฐบาลจะสะท้อนจากผลโหวตของการอภิปรายครั้งนี้” นายปิยะพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ นอกจาก พล.อ. ประยุทธ์ และนายอนุทินแล้ว มีรัฐมนตรีอีก 9 คน ที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง