กกต. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ยุบก้าวไกล
2024.03.18
กรุงเทพฯ

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้สั่งยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากเชื่อว่า ก้าวไกลมีกิจกรรมที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา ด้านพรรคก้าวไกล ระบุว่า หวังได้ชี้แจงข้อมูลต่อศาล และยืนยันว่า ภายในพรรคได้เตรียมแผนรับมือกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้เป็นตัวแทนของ กกต. ยื่นคำร้องและดำเนินคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล และ ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ตามพ.ร.ป.ว่าพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)
“จากเหตุมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว กกต. ยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ E-filing ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด” นายแสวง เปิดเผยกับสื่อมวลชน
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ที่ประชุม กกต. ได้พิจารณาผลการศึกษาและวิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว มีมติโดยเอกฉันท์ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคก้าวไกล โดยกรณีที่เกิดขึ้น สืบเนื่องจากกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ว่า การที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกลใช้การยกเลิก ม.112 เป็นนโยบายการหาเสียงเลือกตั้ง เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ห้ามไม่ให้รณรงค์ หรือแสดงความเห็นเรื่องดังกล่าวอีกในอนาคต
ด้าน นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยหลังทราบข่าวมติ กกต. ส่งเรื่องยุบพรรคก้าวไกลต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า
“ก็คงต้องต่อสู้เต็มที่ แม้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะทำให้เราต่อสู้ได้ยาก มากกว่าในคดีอื่นๆ แต่ว่าเราคงต้องต่อสู้เต็มที่ว่า มันไม่มีเหตุผลเพียงพออย่างไร ที่จะต้องมีคำวินิจฉัยถึงขั้นยุบพรรคก้าวไกล ปกติศาลต้องไต่สวน อย่างน้อยศาลต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้อง คือพรรคก้าวไกลได้แก้ข้อกล่าวหา” นายชัยธวัช กล่าว
“ถ้าไม่เปิดให้มีการไต่สวน คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญอยู่ที่ดุลยพินิจของศาลว่า เมื่อไหร่ที่ศาลเห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอแล้วศาลมีสิทธิที่จะยุติการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ เป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่คงต้องต่อสู้ให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงให้มากที่สุด” นายชัยธวัช กล่าวเพิ่มเติม
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น โบกมือให้กับฝูงชน ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมกับพรรคแนวร่วม เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 (อาทิตย์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์)
ขณะที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า พรรคก้าวไกลได้เตรียมพร้อมในการต่อสู้ และรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้แล้ว
“เรามีการวางแผนทุกฉากทัศน์ ไม่อยากให้เราด่วนสรุป ว่าพรรคก้าวไกลจะถูกยุบ จนกระทั่งมีคำวินิจฉัยศาลออกมา สิ่งที่เรากังวลมากกว่า คือเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ต่อค่านิยมของการเมืองไทย เพราะยิ่งมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่กับพรรคก้าวไกล แต่เป็นพรรคการเมืองในอดีตด้วย” นายพริษฐ์ กล่าว
“กลายเป็นว่า เรากำลังไปสร้างค่านิยม หรือวัฒนธรรมทางการเมือง ที่การยุบพรรคกลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่เราควรจะสร้างนิเวศทางการเมือง ที่ทุกพรรคการเมืองสามารถเติบโตเป็นสถาบันการเมืองได้ ไม่ได้ยึดที่ตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นศูนย์รวมคนที่มีชุดความคิดแบบเดียวกัน" นายพริษฐ์ กล่าวเพิ่มเติม
ต่อประเด็นนี้ ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า มีโอกาสสูงที่ก้าวไกลจะถูกยุบพรรค
"ความเป็นไปได้ที่พรรคก้าวไกลจะถูกยุบพรรคนั้นค่อนข้างสูง เนื่องจากกกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า มีหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าก้าวไกลมีพฤติกรรมในการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายพรรคการเมืองโดยตรง” ดร. เอียชา กล่าว
“แต่ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น พยานหลักฐานของ กกต. มีน้ำหนักเพียงพอหรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญจะตีความกฎหมายอย่างไร สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอน และต้องจับตาสถานการณ์การเมืองไทยก็คือประชาชนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลจะรู้สึกผิดหวัง สูญเสียตัวเลือกทางการเมือง อาจเกิดความตึงเครียดในสังคม ไปจนถึงขั้นที่ไม่มั่นใจในระบบการเลือกตั้ง” ดร.เอียชา กล่าวเพิ่มเติม
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีที่เห็นว่า การที่พรรคกู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ไปใช้ดำเนินกิจกรรมของพรรคในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ปี 2562 เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นทำให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี สมาชิกพรรคอนาคตใหม่จำนวนหนึ่งจึงออกมาก่อตั้งพรรคก้าวไกล
การยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่คนรุ่นใหม่ ต้นปี 2563 มีการชุมนุมในพื้นที่มหาวิทยาลัยต่อเนื่อง กระทั่งกรกฎาคม 2563 เกิดการชุมนุมเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่การชุมนุมปี 2563 ถึงสิ้นกุมภาพันธ์ 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 1,951 คน จาก 1,279 คดี ในนั้นเป็นคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 268 คน จาก 295 คดี มีผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีการเมืองอย่างน้อย 40 คน ในนั้นเป็นคดีมาตรา 112 ถึง 15 คน และในทั้งหมดมีถึง 25 คน ที่ถูกคุมขัง แม้คดียังไม่เป็นที่สิ้นสุด
ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังคดีการเมืองอย่างน้อย 4 คน ที่อดอาหารเพื่อประท้วงการถูกควบคุมตัวด้วย
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน