พิธา ได้กลับเข้าสภา หลังศาล รธน. ชี้ไอทีวีไม่ได้ทำสื่อแล้ว

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และนาวา สังข์ทอง
2024.01.24
กรุงเทพฯ
พิธา ได้กลับเข้าสภา หลังศาล รธน. ชี้ไอทีวีไม่ได้ทำสื่อแล้ว นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรรคก้าวไกล ขณะเดินทางมารับฟังการอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ในกรุงเทพฯ วันที่ 24 มกราคม 2567
Thai News Pix/เบนาร์นิวส์

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในวันพุธนี้ ให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส. และอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล สามารถทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ต่อไปได้ แม้นายพิธา ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด เนื่องจากศาลชี้ว่า ไอทีวีไม่ได้มีสถานะเป็นสื่อมวลชนแล้ว ด้านนักวิชาการชี้ว่า การที่นายพิธากลับมาทำหน้าที่ สส. จะช่วยให้ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มแข็งมากขึ้น

“สมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้อง (นายพิธา) ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 1 อนุ 6 ประกอบมาตรา 98 อนุ 3” คำวินิจฉัย ตอนหนึ่ง

“ตั้งแต่ สปน. (สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) บอกเลิกสัญญาจนถึงปัจจุบัน บริษัทไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน อีกทั้งไม่ปรากฎข้อมูลหลักฐานว่า บริษัทไอทีวีได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553” ตอนหนึ่งของคำวินิจฉัย ระบุ

นายพิธา กล่าวแก่สื่อมวลชนหลังฟังคำวินิจฉัยว่า พร้อมกลับไปทำงานในรัฐสภา

“รู้สึกปกติเฉย ๆ ก็คงจะเดินหน้าทำงานเพื่อประชาชนต่อไป ภารกิจแรกก็จะเป็นการแถลงถึงแผนงานประจำปีของพรรคก้าวไกล ตามที่ได้รับมอบหมายจากคุณชัยธวัช (ตุลาธน) แต่การที่จะกลับเข้าสภาได้เมื่อไหร่ ก็จะให้คนที่อยู่ในสภา หรือวิปได้มีโอกาสหารือกับทางประธานสภาอีกทีว่า กลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้เมื่อไร เมื่อกลับเข้าไปในสภาก็จะปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เต็มที่สมกับที่รอมา” นายพิธา ระบุ

นายพิธา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ตนเองจะไม่มีการดำเนินคดีกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นผู้ร้อง และพรรคก้าวไกลยังไม่มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้ตนเองกลับไปเป็นหัวหน้าพรรค

หลังทราบผลคำวินิจฉัย ผู้สนับสนุนหลายร้อยคนที่มารอให้กำลังใจนายพิธา ที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้โห่ร้องแสดงความดีใจและตะโกนว่า “นายกฯ พิธา” เป็นระยะ

240124-Pita3.jpg

ประชาชนกว่าร้อยคนมาให้กำลังใจ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 24 มกราคม 2567 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)

คดีนี้ สืบเนื่องจากวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบนายพิธา กรณีการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี ซึ่งเคยประกอบธุรกิจสื่อมวลชน 4.2 หมื่นหุ้น ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่

เมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกลได้ชนะการเลือกตั้ง โดยคว้าที่นั่ง สส. 151 ที่นั่ง โดยมีประชาชน 14 ล้านเสียงสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถรวมเสียง สส. เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งมี สส. 141 ที่นั่งเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลแทน

มิถุนายน 2566 กกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับคำร้องกรณีการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา เนื่องจากคำร้องถูกยื่นเกินระยะเวลาตรวจสอบคุณสมบัติ แต่ กกต. ตั้งคณะกรรมการไต่ส่วนในประเด็นที่ว่า นายพิธา สมัครรับเลือกตั้ง สส. ทั้งที่รู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติหรือไม่ ตามมาตรา 42(3) และมาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. พ.ศ. 2561

กระทั่ง กกต. มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับพิจารณาคำร้องของ กกต. เกี่ยวกับการที่สถานภาพ สส. ของนายพิธา สิ้นสุดลงหรือไม่ และสั่งให้นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ทำให้นายพิธาลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และนายชัยธวัช ตุลาธน ถูกเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ รวมทั้งทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านแทน

หลังฟังคำวินิจฉัย นายชัยธวัช ยืนยันว่า พร้อมที่จะคืนตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกลให้แก่นายพิธา

“ผมไม่ได้มีปัญหาครับ ผมไม่ได้ยึดติดอยู่แล้ว อยู่ตรงไหนก็ได้ครับ” นายชัยธวัช กล่าวแก่สื่อมวลชน

สำหรับผลคำวินิจฉัย ผศ. นพพร ขุนค้า อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ เชื่อว่าหากนายพิธากลับมาทำหน้าที่ สส. ก็จะช่วยให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มแข็งมากขึ้น และประชาชนจะสนใจการประชุมสภามากขึ้นด้วย

“มติศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นข้อยุติแล้ว สมเหตุสมผล เป็นการวางบรรทัดฐานของศาลในการพิจารณาคดีลักษณะนี้” ผศ. นพพร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ในขณะที่นายพิธา ลดบทบาทลงระหว่างต่อสู้คดี มีรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลเข้ามามีส่วนสำคัญในการตรวจสอบ และสื่อสารไปยังประชาชนว่า รัฐบาลมีข้อผิดพลาดอะไรบ้าง เมื่อนายพิธากลับเข้าสภาฯ มามีบทบาทตรวจสอบด้วยตนเองก็จะเข้มข้นขึ้น เพราะนายพิธาได้รับความนิยมมากกว่า มีบรรดาแฟนคลับที่ติดตามข่าวการเมืองเพราะนายพิธาด้วย” ผศ. นพพร กล่าวเพิ่มเติม

ไอทีวี เริ่มออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 ต่อมาได้จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2541 และดำเนินการออกอากาศเรื่อยมา ต่อมามีคดีความเรื่องการสัมปทาน ซึ่งนำไปสู่การยุติการออกอากาศ ตั้งแต่ 24.00 น. วันที่ 7 มีนาคม 2550 หลังการบอกเลิกสัญญาร่วมงานของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)

ปัจจุบัน บริษัท ไอทีวี ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการสื่อแล้ว แต่ยังมีสถานะเป็นบริษัท เนื่องจากคดีที่บริษัทเป็นโจทก์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยังคงดำเนินอยู่

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสมาชิกภาพ สส. ตามรัฐธรรมนูญ หลังพบว่า นายธนาธรถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเคยเป็นบริษัทที่ผลิตนิตยสาร “Who” แม้ว่านิตยสาร Who จะเลิกผลิตไปแล้วตั้งแต่ก่อนที่ธนาธรจะได้รับเลือกให้เป็น สส. ก็ตาม

ทั้งนี้ ในวันที่ 31 มกราคม 2567 นี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ อดีตแกนนำ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ยื่นคำร้องเพื่อให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา และพรรคก้าวไกล ซึ่งเสนอการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่

จรณ์ ปรีชาวงศ์ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง