อุ๊งอิ๊งค์ : ทักษิณจะกลับไทย 10 ส.ค. นี้

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีกำหนดกลับไทยเดือนหน้า หลัง 15 ปี หนีคุกคดีซื้อที่ดินรัชดาปี 2551
นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2023.07.26
กรุงเทพฯ
อุ๊งอิ๊งค์ : ทักษิณจะกลับไทย 10 ส.ค. นี้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระหว่างให้สัมภาษณ์ที่ฮ่องกง วันที่ 25 มีนาคม 2562
เอเอฟพี

น.ส. แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊งค์ บุตรสาวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ปัจจุบันหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ เปิดเผยว่าบิดาของตนเองกำลังจะเดินทางกลับมาประเทศไทยในวันที่ 10 สิงหาคม 2566

น.ส. แพทองธาร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย โพสต์รูปบิดาของตนเอง และเขียนข้อความลงบนอินสตาแกรมส่วนตัวในช่วงเช้าวันพุธที่ 26 กรกฎาคม อวยพรวันเกิดนายทักษิณ และเปิดเผยรายละเอียดการเดินทางกลับบ้านเกิดของบิดา

“26 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญของลูกเสมอ แต่ปีนี้ลูกยังไม่อยากเชื่อตัวเอง ในสิ่งที่ลูกกำลังจะพิมพ์ พ่อจะกลับมาแล้ว วันที่ 10 สิงหาคมนี้ ที่สนามบินดอนเมือง” น.ส. แพทองธาร เขียน

“ใจของลูกและทุกคนในครอบครัวเราหนักอึ้ง ทั้งดีใจ ทั้งเป็นห่วง แต่ก็เคารพการตัดสินใจของพ่อเสมอ ลูกขอให้บุญรักษานะคะ ให้พ่อของลูกแข็งแรงปลอดภัย ได้มาส่งหลาน ๆ ไปโรงเรียนบ่อย ๆ เหมือนที่พ่อตั้งใจไว้” น.ส. แพทองธาร ระบุ

นายทักษิณ อายุ 74 ปี อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เคยชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2544-2549 แต่ถูกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือคนเสื้อเหลือง ชุมนุมขับไล่ กระทั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ทำรัฐประหาร ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ขณะที่นายทักษิณ เดินทางประชุมสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทำให้นายทักษิณต้องลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศหลังจากนั้น

ต่อมาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 นายทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยครั้งแรก หลังจากที่พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล ระหว่างนั้น นายทักษิณ ต้องเดินทางไปขึ้นศาลเพื่อต่อสู้คดีกระทำผิด ในการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ภรรยา ในขณะที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งในเดือนสิงหาคม 2551 เขาได้ขออนุญาตศาลเพื่อเดินทางไปดูการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศจีน และไม่เคยเดินทางกลับประเทศไทยอีกเลย

หลังจากนั้น ศาลได้ตัดสินคดีลับหลังอีกอย่างน้อยสามคดี เช่น คดีหวยออนไลน์, คดีสั่งธนาคารเอ็กซิมแบงค์ปล่อยเงินกู้ให้กับเมียนมา และคดีถือหุ้นบริษัทในกลุ่มชินคอร์ป เป็นต้น โดยต้องโทษจำคุกรวมกันกว่าสิบปี แต่บางคดีหมดอายุความแล้ว

ในวันนี้ สื่อมวลชนได้สอบถาม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าได้มีการรับติดต่อเพื่อขอกลับประเทศของนายทักษิณหรือไม่ นายกรัฐมนตรีระบุว่า “ติดต่อใคร ไม่ทราบ เห็นแต่เพียงข่าวเฉย ๆ”

230726-th-politics-thaksin-return2.jpeg

นางสาว แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย บุตรสาวคนสุดท้องของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมงานแถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่ของพรรค ในกรุงเทพฯ วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 (เอเอฟพี)

ก่อนหน้านี้ มีเอกสารที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางกลับประเทศของนายทักษิณรั่วออกมาถึงมือสื่อมวลชน แต่เมื่อเบนาร์นิวส์พยายามติดต่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อขอรายละเอียดเรื่องดังกล่าวก็ไม่สามารถติดต่อได้

ทั้งนี้ การประกาศกลับประเทศครั้งแรกในรอบ 15 ปี ของนายทักษิณ เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดของการจัดตั้งรัฐบาล ที่นำโดยพรรคก้าวไกล และเพื่อไทย กับพันธมิตรทั้งหมด 8 พรรค ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มี สส. 312 คน จาก สส. ทั้งหมด 500 คน ยืนยันว่าจะเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เขียนโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อำนาจ สว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ทำให้ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม นายพิธา ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจาก สส. และ สว. 324 เสียง ยังไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะเสียงสนับสนุนไม่ถึง 375 เสียง ซึ่งเป็นเสียงกึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมรัฐสภา 749 เสียง

เมื่อตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก้าวไกลจึงส่งไม้ต่อการจัดตั้งรัฐบาลให้เพื่อไทย โดยในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อไทยได้เชิญพรรคภูมิใจไทย, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติพัฒนากล้า, พลังประชารัฐ และชาติไทยพัฒนา มาหารือ ณ ที่ทำการพรรค เพื่อหาแนวทางจัดตั้งรัฐบาล และหลังการพูดทั้ง 5 พรรคได้แสดงจุดยืนว่าไม่พร้อมร่วมรัฐบาลกับพรรคที่ต้องการแก้ไข ม.112 ซึ่งหมายถึงพรรคก้าวไกล สร้างความตึงเครียดระหว่างสองพรรค

ก่อนหน้านี้ พันธมิตร 8 พรรค มีนัดประชุมร่วมกันในวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 แต่นัดก็ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ขณะที่การประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ก็ถูกเลื่อนออกไปเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการ พรรคเพื่อไทย ยังยืนยันว่า 8 พรรคยังคงทำงานร่วมกันได้ แต่อาจต้องมีการแก้ไขข้อตกลง

“เพื่อไทยที่มีการพบปะเมื่อเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นการทำตามมติของ 8 พรรคร่วมเท่านั้นเอง ไม่มีการตกลงขอร่วมรัฐบาลกัน... ผมยืนยัน 8 พรรคยังพูดคุยกันอยู่ ยังทำงานร่วมกัน เรื่องเอ็มโอยู ถ้ามีการนัดหมาย 8 พรรคร่วมอีก คงจะมีการพูดคุยกันเรื่องนี้ ก็ต้องให้สอดคล้อง เพราะว่าเอ็มโอยูเดิมข้อหนึ่ง ที่ว่าเราจะร่วมกันสนับสนุน คุณพิธา โอกาสมันเป็นไปไม่ได้แล้ว” นายประเสริฐ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเล่นเกม เพื่อการนำนายทักษิณกลับบ้านเหนือสิ่งอื่นใด

“เป้าประสงค์หลักที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทำไมเพื่อไทยจึงต้องเล่นแบบนี้ คือการพาทักษิณกลับบ้าน เพราะหากไม่ดีลคนเหล่านี้ที่ได้กล่าวไปแล้ว เชื่อว่าจะยากมาก และจนถึงตอนนี้เพื่อไทยเองก็คงไม่สนใจแล้วว่าจะต้องเสียอะไรไปบ้างระหว่างทาง” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ส่วน ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การกลับมาของทักษิณ ที่ใช้เวลายาวนานถึง 15 ปี เป็นเหตุการณ์สำคัญที่อาจส่งผลต่อบริบทการเมืองไทยอย่างมาก โดยจะมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลเพราะว่าทักษิณจะต้องเผชิญกับการต่อต้านของกลุ่มคนเสื้อเหลือง และกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล

“อธิบายจากข้อมูลที่มี เราแทบจะสรุปได้เลยว่าหากทักษิณกลับไทยได้สำเร็จ เราก็จะไม่ได้เห็นพรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และการจัดตั้งรัฐบาลก็จะกลายเป็นการที่กลุ่มอำนาจเก่า พยายามรักษาฐานที่มั่นของตัวเองเอาไว้” ดร. เอียชา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง