ส่องรัฐบาลชุดใหม่ มีหน้าเก่าร่วมเพียบ
2023.09.01
กรุงเทพฯ

การจัดตั้งรัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เต็มไปด้วยความทุลักทุเล ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนก็เชื่อว่า คณะรัฐมนตรีชุดนี้จะมีอดีตรัฐมนตรีจากรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในโผจำนวนไม่น้อย
แม้นายเศรษฐาจะเปิดเผยว่า ได้ยื่นรายชื่อ “ครม. เศรษฐา 1” ทั้ง 36 คน เพื่อทูลเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วในเย็นวันศุกร์นี้ แต่ก็ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่า ครม. ประกอบไปด้วยใครบ้าง
นายเศรษฐา ซึ่งได้รับเลือกจากรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 และได้รับการโปรดเกล้าฯ ในวันถัดมา แต่ตลอดหลายวันที่ผ่านมา ยังมีข่าวความไม่ลงตัวของเก้าอี้รัฐมนตรีใน ครม. ของเขา เพราะมีการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล และภายในพรรคเพื่อไทยเอง
ในวันศุกร์นี้ นายเศรษฐาได้เดินทางลงพื้นที่พร้อมกับ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แม้ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการก็ตาม เพื่อเยี่ยมชมอุตสาหกรรมประมง ในจังหวัดสมุทรสงคราม
“เป็นธรรมดาที่เราต้องทำงานร่วมกับรัฐมนตรี อยากให้มองเป็นองค์รวมว่า นี่ไม่ใช่รัฐบาลของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นรัฐบาลของประชาชน ประกอบกับด้วยหลายพรรคการเมือง ผมเชื่อว่า ทุกรัฐมนตรีที่ได้รับการพูดถึง ทุกท่านมีความเป็นห่วงปัญหาปากท้องเศรษฐกิจของพี่น้องประชาชน และมีความเป็นห่วงเศรษฐกิจของประเทศ” นายเศรษฐา กล่าวระหว่างลงพื้นที่
ร.อ. ธรรมนัส คือคนที่เคยถูกสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะมีประวัติถูกจับกุม และตัดสินให้จำคุกจากคดียาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลียเมื่อหลายปีก่อน
เพื่อไทย ในฐานะพรรคที่ได้ สส. เป็นอันดับ 2 จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เลือกที่จะปล่อยมือจากพรรคอันดับ 1 อย่างก้าวไกลไปจับมือกับอดีตพรรคร่วมรัฐบาลเดิมอย่าง ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ หลังจากที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่สามารถผ่านความเห็นชอบของ สส. และ สว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (ซ้าย) และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ขณะร่วมการประชุมรัฐสภา ที่กรุงเทพฯ วันที่ 25 กรกฎาคม 2562 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)
การตัดสินใจร่วมรัฐบาลครั้งนี้เกิดขึ้น แม้ว่าในอดีต พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ จะมีส่วนร่วมในการทำรัฐประหาร น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2557 ในขณะเดียวกัน ภูมิใจไทย ก็เคยมีเรื่องหมางใจหลังจากที่ สส. จำนวนหนึ่งตีจากเพื่อไทยไปอยู่ภูมิใจไทย ในปี 2551
จากโผ ครม. เศรษฐา 1 นักวิชาการนิยมพูดว่า ครม. ชุดนี้คือ “เหล้าเก่าในขวดใหม่”
“ถ้าเทียบตำแหน่งคือ แทบจะไม่ได้ต่างจากรัฐบาลชุดก่อน คือ มีนักการเมืองจากพรรคเดิมอยู่ในตำแหน่งสำคัญ ๆ ทั้ง รมว. และ รมช. เยอะพอสมควร เป็นการจัดวางตำแหน่งจากเครือข่ายอำนาจ โดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้ความสามารถ นี่คือการแบ่งเค้กอย่างที่เห็นภาพชัดเจนที่สุด” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ใครได้คุมกระทรวงไหน
ในโผ ครม. อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อไทยจะนั่งในตำแหน่งกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ ที่ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง ซึ่งนายเศรษฐา จะนั่งตำแหน่ง รัฐมนตรี (รมว.) เอง นายภูมิธรรม เวชยชัย ในบทบาท รมว. กระทรวงพาณิชย์ และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในตำแหน่ง รมว. กระทรวงคมนาคม
และที่น่าสนใจคือ นายสุทิน คลังแสง จะได้นั่งในตำแหน่ง รมว. กลาโหม ตำแหน่งเดียวกันกับที่ นส. ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีของเพื่อไทยเคยนั่งก่อนถูกทำรัฐประหาร
ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า ตำแหน่ง รมว. กลาโหมจะเป็นของ พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แต่เกิดกระแสต่อต้านอย่างหนักจาก สส. อีสานภายในพรรคเพื่อไทย ทำให้ท้ายที่สุด นายสุทิน อดีตครูจากมหาสารคาม ได้ตำแหน่งนี้ไป
“ค่อนข้างประหลาด เพราะปกติมักจะเป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์หรือตำแหน่งทางการทหาร แต่กรณีที่เพื่อไทยไปดูแลเอง เหมือนพยายามเข้าไปจัดการ ซึ่งก็มองได้ว่าอาจจะดีลกับประยุทธ์ไว้แล้ว เป็นการต่อรองให้สายของประยุทธ์ขึ้นมามีอำนาจในกองทัพ แต่ให้เพื่อไทยเป็นคนดูแลจัดการ” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ก่อนอำลาตำแหน่ง พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้วางรายชื่อ ผู้บัญชาการทหารของ 3 เหล่าทัพเอาไว้แล้ว
ด้าน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล จะนั่งตำแหน่ง รมว. กระทรวงมหาดไทย ขณะที่ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ น้องชายของ นายเนวิน ชิดชอบ ผู้มีบารมีนอกพรรคภูมิใจไทยจะได้นั่งตำแหน่ง รมว. กระทรวงศึกษาธิการ ส่วนรวมไทยสร้างชาติ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรคจะนั่งในตำแหน่ง รมว. กระทรวงพลังงงาน ขณะที่ น.ส. พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล จะเป็น รมว. อุตสาหกรรม
พลังประชารัฐส่ง พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พล.อ. ประวิตร หัวหน้าพรรค นั่งตำแหน่ง รมว. กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แม้ พล.ต.อ. พัชรวาท จะเคยมีตำแหน่งผู้บริหารในบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจเกษตร-อาหาร ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากบริษัทมักทำธุรกิจด้วยระบบเกษตรพันธสัญญา
วิกฤตการเมืองไทยระลอกปัจจุบัน เริ่มต้นขึ้นในปี 2548 เมื่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือคนเสื้อเหลืองชุมนุมขับไล่ นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กระทั่งเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และนายทักษิณ ต้องลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ
ผลพวงของรัฐประหารครั้งนั้นยังสืบเนื่องถึงปัจจุบัน กระทั่ง นายทักษิณ ตัดสินใจเดินทางกลับมารับโทษในประเทศไทย ท่ามกลางข่าวลือว่า มีการตกลงอย่างลับ ๆ กับผู้มีอำนาจ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ สว. จะยอมโหวตให้กับ นายเศรษฐา แทนที่จะเป็นพรรคก้าวไกล ซึ่งมีนโยบายแก้ไข ม.112 ซึ่งระคายเคืองสถาบันกษัตริย์
ไม่มีดีลกับ ‘ลุงป้อม’
หลังจาก นายเศรษฐาได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็ตัดสินใจลาออก เพื่อรับผิดชอบคำสัญญาของตนเองที่เคยประกาศไว้บนเวทีหาเสียงว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ
“ผมนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ขอทำตามที่เคยประกาศไว้ เป็นสัจจะที่ได้ลั่นวาจาไว้ว่า ถ้าพรรคเพื่อไทย ถ้ากรรมการบริหารพรรคมีมติที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ มีมติไปจับมือกับลุงป้อม ดีลกับลุงป้อม ผมในฐานะหัวหน้าพรรคผมพร้อมจะลาออก และผมก็ขอประกาศ ณ ตรงนี้ว่า ผมขอลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตามที่ผมได้ประกาศเอาไว้ ณ บัดนี้” อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุ
นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (ซ้าย) จับมือกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในกรุงเทพฯ วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)
การตัดสินใจจับมือกับพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคมรดกรัฐประหาร ทำให้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ในฐานะ ‘คนเสื้อแดง’ ซึ่งเคยเป็นผู้สนับสนุนของเพื่อไทยส่วนหนึ่ง มองว่าเป็นการกระทำที่ “ยิ่งกว่าการถูกหักหลัง”
การจัดตั้งรัฐบาลผสมของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้จึงมีสิ่งท้าทายคือ พวกเขาจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจ และเรียกคืนความนิยมจากประชาชนเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้หรือไม่
“เสถียรภาพหลังจากนี้ไป เมื่อตัวผู้นำรัฐบาลก็ยังไม่มีความมั่นคงใด ๆ ทางการเมืองพรรคก็ติดลบเพราะตระบัดสัตย์ทุกข้อ ผู้นำก็มีเรื่องราวที่จะเข้าสู่คดี ตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่เราก็เห็นว่า นักการเมืองหลายคนก็โดนเรื่องนี้ เช่นคุณเอ๋ ปารีณา (ไกรคุปต์) รัฐมนตรีหลายคนก็ติดบ่วงเรื่องจริยธรรม นายกคนที่ 30 ก็น่าจะหนีเรื่องนี้ไม่รอด ถ้าเอามาตรการเดียวกันวัด” นายจตุพร กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“คุณสมัคร สุนทรเวช นักการเมืองเก่ง ๆ อยู่ได้แค่ 7 เดือนเท่านั้น คุณสมชาย วงษ์สวัสดิ์ 2 เดือนครึ่ง สองคนนั้นต้นทุนสูงกว่าคุณเศรษฐาเยอะยังอยู่ไม่ได้” นายจตุพร กล่าวเพิ่มเติม
นายจตุพร อ้างอิงถึงกรณีที่ นายสมัคร นายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชาชน ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง จากกรณีที่ไปเป็นผู้ดำเนินรายการทำอาหารในโทรทัศน์ และนายสมชาย ต้องพ้นจากตำแหน่งหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน ด้วยข้อหาทุจริตเลือกตั้ง ในปี 2551 ซึ่งพรรคพลังประชาชน คือ พรรคที่เกิดขึ้นหลังจากการยุบพรรคไทยรักไทย ซึ่งนายทักษิณเป็นผู้ก่อตั้ง
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน