พาณิชย์สั่งห้ามส่งออกหมู 3 เดือนเพื่อแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพง
2022.01.06
กรุงเทพฯ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้ค้าสุกรในประเทศไทยส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม 2565 นี้ หลังจากประเทศต้องประสบปัญหาราคาเนื้อหมูแพง ขณะที่นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุจะใช้เวลาแก้ปัญหาหมูแพงภายใน 4 เดือน
นายจุรินทร์ กล่าวในการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งที่ 1/2565 ว่า หลังจากที่ประเทศไทยประสบปัญหาราคาเนื้อหมูมีราคาแพง จึงได้พิจารณาใช้มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นการงดส่งออกชั่วคราวจนถึงวันที่ 5 เมษายน 2565
“ห้ามส่งออกเบื้องต้นเป็นเวลา 3 เดือนชั่วคราว แล้วจะพิจารณาต่อไปถ้ามีความจำเป็นก็อาจต้องมีการขยายเวลาออกไป… เร่งขอให้กรมปศุสัตว์ส่งเสริมให้เกษตรกรได้เลี้ยงหมูเพื่อป้อนหมูเข้ามาให้เพียงพอกับความต้องการให้เร็วที่สุด” นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ ระบุว่า มาตรการที่จะใช้แก้ปัญหายังมีการสั่งให้ผู้เลี้ยงสุกรที่มีปริมาณเกิน 500 ตัว, ผู้ค้าส่งที่มีปริมาณเกิน 500 ตัว, ห้องเย็นที่มีการเก็บสต๊อกเกิน 5,000 กิโลกรัม ต้องแจ้งปริมาณสุกรในการดูแลของตนเองให้กระทรวงฯ ทราบทุก 7 วัน เพื่อให้กระทรวงทราบปริมาณสุกร และเนื้อหมูที่แท้จริงในประเทศ และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบร้านขายเนื้อหมู โดยผู้ขายต้องติดป้ายราคาให้ชัดเจนและห้ามขายเกินราคา
ด้านนายประภัตร ระบุว่า สาเหตุที่สุกรขาดแคลนมาจากความเข้มงวดของรัฐบาลไทยต่อผู้เลี้ยงสุกรสืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในประเทศเพื่อนบ้าน, การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการบริโภคสุกรลดลง, ต้นทุนอาหารสัตว์ และยารักษาโรคในสุกรปรับสูงขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรลดปริมาณการเลี้ยงสุกรลง ปริมาณเนื้อหมูที่เข้าสู่ตลาดจึงน้อยลง จนเกิดภาวะขาดแคลน
“เราขอความร่วมมือจากฟาร์มใหญ่ โดยให้เขาผลิตลูกหมูเพิ่มขึ้นอีกสักล้านตัวเพื่อให้รายย่อย ประมาณ 1.8 แสนรายเอาหมูไปเลี้ยง ธ.ก.ส พร้อมที่จะสนับสนุนเงินทุน… คาดว่าภายใน 4 เดือนจำนวนสุกรขุนจะเพิ่มขึ้นและราคาปรับเข้าสู่ภาวะปกติ” นายประภัตร กล่าว แลระบุว่า ปี 2563-2564 ไทยมีผู้เลี้ยงสุกร 190,000 ราย ในนั้น 10,000 รายเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่และกลาง ขณะที่ 180,00 0 ราย เป็นประกอบการขนาดเล็ก
ทั้งนี้ จากกการประเมินของกระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่า ปี 2565 จะมีสุกรในประเทศเหลือเพียง 13 ล้านตัว แต่ความต้องการในการบริโภคในประเทศยังอยู่ที่ 18 ล้านตัว ขณะที่ในปี 2564 ประเทศไทยมีจำนวนสุกรมีชีวิต 19 ล้านตัว ซึ่งมีความต้องการบริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว และส่งออกต่างประเทศ 1 ล้านตัว
ด้านนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวกับสื่อมวลชนว่าปัญหาหลักของการที่สุกรขาดตลาดมาจากโรคระบาด ประกอบกับราคาอาหารสุกรที่สูงขึ้นกว่าเดิม 30 เปอร์เซ็นต์
“ปริมาณหมูในประเทศลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุหลักมาจากปัญหาโรคระบาดในหมูหลายโรคซึ่งได้สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตหมูมา 2 ปีแล้ว ปัญหาหลัก ๆ มาจากโรคระบาดรุนแรงมากกว่าปัจจัยเรื่องราคาอาหารสัตว์เพราะต้นทุนอาหารควบคุมได้ กรมการค้าภายในขอความร่วมมือให้จำหน่ายหมูในราคากิโลกรัมละ 150 บาท แต่เอกชนทำไม่ได้เพราะต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ยสูงเกินกว่าปกติไปแล้ว” นายสุรชัย กล่าว
จากการสำรวจของเบนาร์นิวส์ ในวันพฤหัสบดีนี้ พบว่าราคาขายเนื้อหมูในห้างสรรพสินค้าอยู่ที่กิโลกรัมละ 180-200 บาท ขณะที่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2564 เนื้อหมูมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 160-170 บาท และในเดือนธันวาคม 2563 เนื้อหมูมีราคาอยู่กิโลกรัมละ 130-140 บาท ขณะเดียวกัน สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุว่า ปัจจุบัน ราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 105 บาท โดยในปี 2563 มีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 72 บาท ขณะที่ ปี 2562 มีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 66 บาท