ภาคเกษตรไทยทั่วประเทศต่อต้านร่าง พรบ. จีเอ็มโอ

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.12.09
TH-GMO-DraftBill-800 ผู้คัดค้าน พรบ. จีเอ็มโอ มอบผลิตภัณฑ์อินทรีย์แก่ พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล (ใส่สูท) เพื่อแสดงการต่อต้าน พรบ. จีเอ็มโอ ใกล้ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2558
เบนาร์นิวส์

ในวันพุธ (9 ธ.ค. 2558) นี้ เครือข่ายภาคประชาชน และผู้ประกอบอาชีพในภาคการเกษตรและอาหาร ใน 46 จังหวัด ได้ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าร่าง พรบ. ดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาทำการวิจัย และทำการค้าผลิตผลที่มีการดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified Organism) หรือจีเอ็มโอ จนเกิดผลกระทบต่อการเกษตรในประเทศ

ที่บริเวณอาคารคณะกรรมการพลเรือน ตรงข้ามกับทำเนียบรัฐบาล ในวันนี้ มูลนิธิชีววิถี พร้อมกับผู้ต่อต้าน พรบ. ประมาณสามร้อยคน ได้เดินขบวนแสดงการต่อต้าน พรบ. จีเอ็มโอ โดยเรียกร้องรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สองข้อ คือ ข้อที่หนึ่ง ขอให้งดการผ่านร่างกฎหมายไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และทบทวนเนื้อหาของร่าง พรบ. ใหม่ โดยให้มีตัวแทนภาคเกษตรตัวจริงเข้าร่วมพิจารณาด้วย และข้อที่สอง ขอให้รัฐบาลใช้หลักการป้องกันไว้ก่อน โดยนำเอาความคิดเห็นและข้อท้วงติงที่ทางสภาพัฒน์ฯ และกระทรวงพาณิชย์ มีต่อร่าง พรบ. ที่ว่า การส่งเสริมจีเอ็มโอจะมีผลกระทบอย่างสำคัญ มาพิจารณาด้วย

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถีไทย ได้กล่าวว่า มีการผลักดันกฎหมายจีเอ็มโอมาตั้งแต่ปี 2547 แต่เพิ่งมีการเห็นชอบ โดยคณะรัฐมนตรีในยุคนี้ ทั้งนี้ ฝ่ายต่อต้านจีเอ็มโอเห็นว่าการร่างกฎหมายทำโดยผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากบริษัทข้ามชาติ

นอกจากนั้น ยังมีการรวมตัวของผู้คัดค้าน พรบ. จีเอ็มโอ รวมตัวกันแสดงออกถึงการคัดค้าน พรบ. ดังกล่าว ในอีก 46 จังหวัดอีกด้วย

รัฐบาลรับหนังสือร้องเรียนและเชิญฝ่ายผู้คัดค้านร่วมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พรบ.

พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ได้ออกมารับหนังสือจากกลุ่มผู้คัดค้าน พรบ. จีเอ็มโอ และได้กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องมีพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพว่า ขณะนี้ ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า บ้านเรามีพืชจีเอ็มโอเข้ามาขายอยู่แล้ว และก็ไม่มีกฎหมายอะไรรองรับ จึงต้องมีกฎหมายนี้ขึ้นมา

“แต่อย่างไรก็ตามต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง มันก็เหมือนกับการเปิดโอกาสให้คนมีศักยภาพ มีความสามารถ สามารถทำจีเอ็มโอได้ ขั้นตอนที่ชัดเจน ต้องมองในทุก ๆ มุม เพราะฉะนั้น ในมิติของท่านผมไม่ได้ขัดแย้ง” พลตรีสรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนั้น พลตรีสรรเสริญ ยังได้กล่าวว่า กลุ่มผู้คัดค้านสามารถติดต่อวิปของรัฐบาล ที่ทำหน้าที่ติดต่อกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอเข้าร่วมในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พรบ. จีเอ็มโอได้ ในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

“ไม่ได้หมายความว่าจะประกาศใช้เลย ต้องไปผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งผมเห็นว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้ที่เห็นต่าง แล้วทางรัฐบาลมีวิปที่ติดต่อประสานงานกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย เราก็จะช่วยอธิบายความชี้แจงกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้เชิญตัวแทนของท่านเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการ เพื่อจะได้ถกแถลงกันว่าใครมีเหตุผล ข้อดีข้อเสียอย่างไร” พลตรีสรรเสริญกล่าว

ความวิตกต่อเทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรม

จากข้อมูลที่ประชาชนได้รับทราบ สาระส่วนหนึ่งของ ร่าง พรบ. จีเอ็มโอ คือ การอนุญาตให้บริษัทต่างชาตินำเข้า ทดลอง และผลิตผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอในประเทศไทยได้ ที่ทำให้เกิดความวิตกต่อผลกระทบ ซึ่งในเรื่องนี้ นายจักรกฤษณ์ ควรพจน์ ผู้อำนวยการ การวิจัยด้านกฎหมายเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ กล่าวในรายการทางไทยพีบีเอส ในคืนวันอังคารว่า ร่าง พรบ. จีเอ็มโอ มีการควบคุมการนำเข้าสายพันธุ์และการวิจัยที่เข้มงวด

อย่างไรก็ตาม ยังมีความวิตกกังวลถึงการปนเปื้อนของสายพันธุ์ การผูกขาดตลาดโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติ ที่อาจจะมีผลเรื่องสิทธิบัตรในสายพันธุ์ นอกจากนั้น การปนเปื้อนทางชีวภาพยังทำให้กระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรของไทย ไปยังตลาดที่ไม่ยอมรับจีเอ็มโออีกด้วย

ดร. สุรีย์ ยอดประจง นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ประเทศไทยส่งออกมันสำปะหลัง มีมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท ต่อฤดูกาล โดยเน้นการเป็นผลผลิตชนิดที่ไม่ได้มีการดัดแปลงทางพันธุกรรม และการอนุญาตการทำจีเอ็มโอในประเทศจะส่งผลต่อการส่งออกได้

“ตลอดเวลาที่เราขายมันสำปะหลังออกไปตลาดโลกเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา เราชูตัวเดียว ที่เขาต้องการใช้มันสำปะหลังจากเราในภาคส่วนอุตสาหกรรม เพราะว่ามันสำปะหลังของไทยนั้น นอน-จีเอ็มโอ บ่อยครั้งมันสำปะหลังของเราถูกใช้แทนข้าวโพดที่เต็มไปด้วยจีเอ็มโอของทางอเมริกาและทางยุโรป” ดร. สุรีย์กล่าว

ทางด้านนายทวีศักดิ์ ภู่หลำ นักปรับปรุงพันธ์ข้าวโพดหวาน การเกษตรที่มีมูลค่าตลาดรวมปีละ 7,000 ล้านบาท และ ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้มีครอบคลุมถึงมาตรการในกรณีที่การเข้ามาทำการวิจัยและผลิตพืชจีเอ็มโอ ก่อให้เกิดความเสียหายในประเทศ

“คือกฎหมายฉบับนี้ มันมีความหมายว่าถ้าเกิดความผิดพลาดอะไรในเรื่องของจีเอ็มโอ ตัวที่ภาครัฐรับรองแล้วว่ามันใช้ได้ ก็หมายความว่าเจ้าของจีเอ็มโอ คือเป็นบริษัทต่างชาติหมดไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย ซึ่งอันนี้ มันอาจจะเป็นมูลค่ามหาศาล” นายทวีศักดิ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ณ วันนี้มันเริ่มเป็นปัญหาในประเทศโน้น ประเทศนี้แล้ว อเมริกามีการฟ้องร้องตลอดเกี่ยวกับเรื่องนี้” นายทวีศักดิ์ กล่าว

ส่วนนายวัลลภ พิชญ์พงศา นายกสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย กล่าวว่า “ที่ผู้ทำธุรกิจข้าวมีความเป็นห่วง คือหากมีการปลดปล่อยพืชจีเอ็มโอสู่ธรรมชาติ เรากลัวผลกระทบต่อตลาดของเราโดยเฉพาะตลาดส่งออก ซึ่งหลายๆ ที่ไม่ให้การต้อนรับ หรือแม้แต่ห้ามผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจีเอ็มโอ”

ในปี 2557 ประเทศไทยส่งออกข้าวรวม 10.97 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 174,853 ล้านบาท

สำหรับความเสียหายที่เกิดจากพืชจีเอ็มโอนั้น ในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง เมื่อปี 2014 ได้เคยมีการฟ้องร้องเกษตรกรในรัฐต่างๆ ของสหรัฐต่อบริษัทซินเจนต้า เอจี เนื่องจากว่า ในปี 2011 มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพด Agrisure Viptera ซึ่งเป็นข้าวโพดจีเอ็มโอไปยังประเทศจีน แต่ไม่ได้ขออนุญาตก่อน จนถูกจีนปฏิเสธ เกิดความเสียหายตามมานับพันล้านเหรียญสหรัฐ อันเป็นผลพวงจากการงดนำเข้าของจีนในสายพันธุ์ดังกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง