ประชาชนชุมนุมข้างทำเนียบร้องรัฐล้มร่าง พ.ร.บ. เอ็นจีโอ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.05.24
กรุงเทพฯ
ประชาชนชุมนุมข้างทำเนียบร้องรัฐล้มร่าง พ.ร.บ. เอ็นจีโอ กลุ่มผู้ชุมนุมในนาม ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ขณะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัด พร้อมเครื่องกีดขวาง บนถนนพิษณุโลก ข้างทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 24 พฤษภาคม 2565
สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์

ประชาชนในนาม “ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน” ร่วมร้อยคน ชุมนุมที่ข้างทำเนียบรัฐบาลในวันอังคารนี้ เพื่อเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการออกพระราชบัญญัติมาควบคุมการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร โดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกมารับหนังสือร้องเรียน และยืนยันว่า ครม. จะยังไม่เดินหน้าออกกฎหมายฉบับนี้ และขอเวลา 1 เดือนประชุมร่วมกับตัวแทนภาคประชาชนเพื่อหาข้อยุติ

กลุ่มประชาชนกลุ่มดังกล่าวเห็นว่า พระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร (พ.ร.บ. เอ็นจีโอ) เป็นกฎหมายที่ปิดกั้นเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชน

นายสมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน กล่าวในระหว่างการชุมนุมบนถนนพิษณุโลก ข้างทำเนียบรัฐบาลว่า หากรัฐบาลไม่รับฟังเท่ากับเป็นการทำลายฐานเสียงของตัวเอง

“ถ้ารัฐบาลฉลาดพอ ไม่ควรสร้างเงื่อนไขที่จะไปจำกัดควบคุมการจับกลุ่มรวมตัวของคนทั้งประเทศ นั่นคือการทำลายฐานเสียงของท่านเอง เราแจ้งตั้งแต่วันที่ 24 มีนาว่า ถ้าท่านเดินหน้า เราจะมาที่ทำเนียบ… ในประเทศนี้มันมีกฎหมายที่ควบคุมองค์กรทางสังคมอยู่แล้ว กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง เหตุผลที่รัฐบาลไปออกกฎหมายฉบับนี้ คือเพื่อสร้างอำนาจใหม่ขึ้นมาที่เกินอำนาจของศาล ซึ่งผมคิดว่า อันนี้เป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้” นายสมบูรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายฯ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อระบุว่า 1. ให้มีมติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. .... ที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยทันที และยุติการเสนอกฎหมายควบคุมเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ 2. ให้ทำข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ... และกฎหมายควบคุมเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับอีก และ 3. ให้การรับรองว่าจะไม่มีผู้ใดตกเป็นเป้าหมายการถูกคุกคาม การใช้ความรุนแรง ถูกจับกุมคุมขัง หรือถูกตั้งข้อหาต่อการที่ประชาชนใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมและแสดงออกโดยสันติ

ด้าน นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนรัฐบาลซึ่งมาเจรจากับผู้ชุมนุม ระบุว่า จะได้นำข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเข้าสู่ ครม. และขอเวลา 1 เดือน เพื่อพูดคุยกับตัวแทนของกลุ่มผู้คัดค้านกฎหมายฉบับนี้

“สิ่งที่เราเรียกร้องจะยกเลิกกฎหมายนี้อย่างไร สิ่งที่เรา (ครม.) พูดคุยคือ ยังไม่เดินหน้ากฎหมายนี้อย่างแน่นอน เป็นขั้นตอนตามกฎหมาย ถ้าประชาชนไม่เอา กฎหมายนี้ไม่มีทางที่จะผ่าน ท่านจะเห็นความชัดเจนจากกระทรวง พม. (การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) อย่างแน่นอน” นายอนุชา กล่าว

หลังจากการแถลงของนายอนุชา ฝ่ายผู้ชุนนุมได้โห่ร้องแสดงความไม่พอใจกับคำตอบ โดยนายสมบูรณ์ ระบุว่า “รัฐบาลสร้างเงื่อนไขให้เราอยู่กรุงเทพต่อ” ซึ่งผู้ชุมนุมยืนยันที่จะยังปักหลักประท้วงต่อไปจนกว่าจะได้รับคำตอบที่น่าพอใจ

ปัจจุบัน พ.ร.บ. เอ็นจีโอ เสร็จสิ้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งยังไม่ได้มีระบุว่าจะเริ่มพิจารณาเมื่อใด

ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรมีเรื่องเร่งด่วน เช่น กำหนดเพื่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณปี พ.ศ. 2566 ในสัปดาห์นี้จนถึงสัปดาห์หน้า

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ครม. ได้อนุมัติหลักการของร่าง พ.ร.บ. เอ็นจีโอ เพื่อควบคุมการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม หลังจากที่รัฐบาลอ้างว่ามีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในประเทศไทยที่จดทะเบียนถูกกฎหมายเพียง 87 องค์กร และหลายองค์กรไม่ได้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของแหล่งทุน

สาระสำคัญโดยสรุปของ พ.ร.บ. เอ็นจีโอ คือ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร คือกลุ่มเอกชนที่รวมตัวกันเพื่อดำเนินกิจกรรมโดยไม่หวังผลกำไร และไม่ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง, หากกฎหมายบังคับใช้ จะมีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งมี รมว. พม. เป็นประธานเพื่อกำหนดแผนการทำงาน และดูแลการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

ห้ามองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรดำเนินการที่ไม่ควร เช่น 1. กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ 2. กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม 3. เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย

นอกจากนั้น องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศต้อง 1. แจ้งชื่อแหล่งเงินทุนต่างประเทศ บัญชีธนาคารที่จะรับเงิน จำนวนเงินที่จะได้รับ 2. ใช้เงินตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งต่อนายทะเบียน (ปลัด พม.)

ร่าง พ.ร.บ. เอ็นจีโอ ถูกวิจารณ์และต่อต้านอย่างมากจากภาคประชาสังคมไทย โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2564 องค์กรภาคประชาสังคมของไทยและต่างชาติ รวมถึงนักสิทธิมนุษยชนรวม 47 องค์กร/บุคคล นำโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, กรีนพีซ รวมถึง นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึง ครม. คัดค้านการออกร่างกฎหมายดังกล่าว และเมื่อ 7 มกราคม 2565 เครือข่ายภาคประชาสังคม ประชาชน นักวิชาการ และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช) 1,867 องค์กรได้ออกแถลงการณ์คัดค้าน พ.ร.บ. ฉบับนี้เช่นกัน

“ผมเชื่อว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ เกิดจากความไม่พอใจของคุณประยุทธ์ ที่มักถูกพวกเอ็นจีโอต่างประเทศวิจารณ์การทำงาน กฎหมายนี้จึงออกมาเพื่อควบคุมและลงโทษจนเกินอำนาจของกฎหมายอาญา ซึ่งหากกฎหมายถูกบังคับใช้จริงก็จะเหลือแต่เอ็นจีโอเด็กดี ที่เชื่อฟัง หรือช่วยงานของรัฐ ในรูปแบบสังคมสงเคราะห์” นายสมบัติ บุญงามอนงค์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ด้าน นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ. การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า “กมธ. ได้มีการเชิญตัวแทนจาก พม. และ กต. (กระทรวงการต่างประเทศ) รวมถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา มาชี้แจงว่า ทำไมกฎหมายฉบับนี้ริดรอนสิทธิเสรีภาพมาก และเราได้แนะนำไปว่า หากจะป้องกันการฟอกเงิน สามารถพัฒนากฎหมายป้องกันการฟอกเงินได้ ไม่ควรออกกฎหมายที่เหมาเข่ง ปิดกั้นกันขนาดนี้” นายณัฐชา กล่าว

สุนทร จงเจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง