ศาลสั่งคุก 2 เดือน อาชีวะปกป้องสถาบันทำร้ายช่างภาพข่าว
2023.03.01
กรุงเทพฯ

ศาลแขวงดุสิต พิพากษาจำคุก 2 เดือน และปรับเงิน 5 พันบาท สมาชิกกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน 2 คน ซึ่งก่อเหตุทำร้ายร่างกายช่างภาพข่าว ระหว่างติดตามทำข่าวชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 ด้านนักวิชาการชี้ สมาคมสื่อไทยยังไม่ได้แสดงความเข้มแข็งในการปกป้องสื่อมวลชนด้วยกันเอง
ผู้พิพากษาศาลแขวงดุสิต อ่านคำพิพากษาในเวลา 10.10 น. ในคดีที่ นายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ เป็นโจทก์ฟ้อง นายเบญจภกรณ์ วิคะบำเพิง เป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 (สงวนชื่อและนามสกุล) ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน ข้อหาความผิดต่อร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295
“จำเลยที่ 1 และ 2 ถูกตัดสินจำคุก 4 เดือน และปรับ 1 หมื่นบาท แต่จำเลยทั้งสองรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง จำคุก 2 เดือน ปรับ 5 พันบาท สำหรับจำเลยที่ 1 ให้รอลงโทษ 2 ปี ระหว่างนี้ให้มีการคุมประพฤติ และต้องมารายงานตัวทุก 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่รอลงโทษ เนื่องมีคดีทำร้ายร่างกายหลายคดี” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ
หลังฟังคำพิพากษา เบนาร์นิวส์ได้สอบถามไปยังนายณัฐพลเกี่ยวกับผลคำพิพากษา
"คิดไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าตัดสินโทษออกมาคงไม่หนักมาก แต่ก็ไม่คิดว่าจะโทษน้อยขนาดนี้ ถ้าดูจากความตั้งใจในการก่อเหตุ ส่วนอีกคนที่โดนโทษจำคุก แต่ยังให้ประกันตัว ทั้ง ๆ ที่มีคดีทำร้ายร่างกายอยู่ 10 คดี นับรวมคดีผมด้วยเป็น 11 อันนี้รู้สึกแปลกใจมาก ยิ่งเมื่อถ้าเทียบกับการที่เยาวชนออกไปทำโพลสำรวจความคิดเห็น แล้วศาลไม่ให้ประกันตัว ต้องเข้าเรือนจำอย่างน้อย 3-6 เดือน" นายณัฐพล กล่าวกับเบนาร์นิวส์
คดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อเวลาประมาณ 21.35 น. ของวันที่ 22 เมษายน 2565 หลังเสร็จสิ้นการทำข่าวชุมนุมทัวร์มูล่าผัว ของกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ นายณัฐพล ซึ่งกำลังคร่อมอยู่บนจักรยานยนต์ของตัวเอง เพื่อเตรียมที่จะเดินทางกลับบ้าน ถูกทำร้ายที่หน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาโรงเรียนสตรีวิทยา ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยถูกกลุ่มคนร้ายใช้กระบองตีที่หลังและศีรษะ หลังเกิดเหตุ นายณัฐพลได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สน.ชนะสงคราม
นายณัฐพล ระบุว่า ก่อนเกิดเหตุถูกกลุ่มคนร้ายเข้ามาสอบถามว่าชื่ออะไร และเป็นสื่อมวลชนหรือไม่ เมื่อตนเองตอบว่า เป็นสื่อมวลชนก็ถูกทำร้ายทันที ต่อมา นายเบญจภกรณ์ จำเลยที่ 1 ได้เปิดเผยบนวิดีโอถ่ายทอดสดของเฟซบุ๊กเพจ “อาชีวะปกป้องสถาบัน” ว่า ในวันดังกล่าวได้ทำร้ายนายณัฐพลจริง เนื่องจากไม่เชื่อว่า นายณัฐพลเป็นสื่อมวลชน และนายณัฐพลพยายามเรียกเพื่อนมาทำร้ายตนเอง จึงต้องทำร้ายนายณัฐพลเพื่อเป็นการป้องกันตัว ทั้งยังยอมรับว่า ในวันดังกล่าวกลุ่มคนร้ายได้ชักอาวุธมีดปอกผลไม้ออกมาเพื่อเตรียมที่จะทำร้ายนายณัฐพล หากนายณัฐพลต่อสู้
หลังเกิดเหตุ ในวันที่ 24 เมษายน 2565 อาชีวะปกป้องสถาบัน ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษต่อเหตุที่เกิดขึ้น และกลุ่มได้มีมติให้กลุ่มผู้ก่อเหตุหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน จนกว่าคดีจะสิ้นสุด
ก่อนหน้านี้ คดีความ ของนายณัฐพล และกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน ไม่มีความคืบหน้า หลังจากที่พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามได้ส่งสำนวนฟ้องไปยังอัยการผู้รับผิดชอบคดี เมื่อเดือนตุลาคม 2565 กระทั่ง วันที่ 12 มกราคม 2566 น.ส. วศินี พบูประภาพ สมาชิกอนุกรรมการสิทธิเสรีภาพสื่อและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA) ได้สอบถามความคืบหน้ากับอัยการที่รับผิดชอบคดี กระทั่งคดีได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และอ่านคำพิพากษาในวันพุธนี้
ต่อประเด็นที่เกิดขึ้น ดร. เหงียน ตู อัญ อาจารย์ประจำสาขาวารสารศาสตร์ระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มองว่า สมาคมนักข่าว หรือสมาคมสื่อมวลชนของไทยยังขาดความเข้มแข็งในการปกป้องผู้ร่วมวิชาชีพ
“เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเมื่อสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ไม่เป็นปากเป็นเสียงเรื่องนี้ให้กับณัฐพล มากกว่าการออกแถลงการณ์ ในยุโรปหากเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงแบบนี้ขึ้น แน่นอนว่านอกจากจะไม่ต้องดำเนินการฟ้องร้องด้วยตนเองแล้ว ยังอาจได้รับการเยียวยาด้วย ในช่วงที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ กรณีแบบนี้น่าสนใจว่า ขนาดคู่กรณีเป็นประชาชน และเกิดเหตุทำร้ายร่างกายซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรง ช่างภาพยังต้องดำเนินการต่าง ๆ ด้วยตนเอง แล้วถ้าคู่กรณีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นอย่างไร” ดร. เหงียน กล่าว
ด้าน นายธนเวศม์ สัญญานุจิต นักสื่อสารมวลชนชำนาญการ กรมประชาสัมพันธ์ ระบุว่า “เราขาดความเข้มแข็งจากสมาคมในการช่วยเหลือเวลาเกิดเรื่องแบบนี้ ทุกวันนี้เราจึงเห็นแต่สื่อเล็ก ๆ สื่อทางเลือกที่ต้องมาช่วยกันเอง เป็นปากเป็นเสียงกันเอง สุดท้ายสื่อขนาดเล็กถูกโดดเดี่ยวจากสังคมเรื่อย ๆ ไม่ต้องพูดถึงปัญหาอื่น ๆ เช่น เวลาทำงานที่ไม่สมดุล หรือปัญหาสุขภาพ ทำให้คุณภาพชีวิตของบุคลากรในแวดวงนี้ต่ำมาก และกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง”
นายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ปัจจุบัน เป็นช่างภาพ ให้กับสำนักข่าวสเปซบาร์ เคยมีผลงานภาพข่าวกับเบนาร์นิวส์ ล่าสุดเพิ่งได้รับรางวัลป๊อปปูล่าโหวต และชมเชย จากการประกวดภาพถ่ายหัวข้อ Protect the Protest ประจำปี 2565 จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากเชียงใหม่ ร่วมรายงาน