“เพนกวิน” ประกาศอดข้าวประท้วงศาลไม่ให้สิทธิประกันตัว
2021.03.15
กรุงเทพฯ

ในวันนี้ ที่ศาลอาญา “เพนกวิน” หรือ นายพริษฐ์ วารักษ์ ได้ลุกขึ้นประท้วงศาลพร้อมประกาศอดอาหาร จนกว่าผู้ต้องหาทุกคนจะได้รับการประกันตัว ในระหว่างการนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีที่แกนนำกลุ่มราษฎรและแนวร่วม จำนวน 22 คน ทำความผิดตามมาตรา 112 และ มาตรา 116 และคดีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการชุมนุมปักหมุดที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19-20 กันยายนปีที่ผ่านมา
ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องแกนนำกลุ่มราษฎรและแนวร่วมจำนวนรวม 22 คน ที่มาที่ศาลทั้งหมด อาทิ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายอานนท์ นำภา, นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, นายภานุพงศ์ จาดนอก, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์ ในคดีที่ถูกฟ้องร่วมกันเป็นจำเลยในการทำความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันฯ ร่วมกันมั่วสุมฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116 และข้อหาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมปักหมุด ที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน พ.ศ. 2563
ด้าน นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบรท์ นนทบุรี หนึ่งในจำเลยตาม ม.116 จากเหตุเดียวกันที่สนามหลวง ซึ่งอยู่ในห้องพิจารณาคดี เล่าเหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดีต่อสื่อมวลชน หลังเสร็จสิ้นการตรวจสอบพยานหลักฐานในช่วงเช้าว่า มีเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้น เมื่อศาลไม่อนุญาตให้นายพริษฐ์ แถลงความอึดอัดใจต่อศาล
นายชินวัตร กล่าวต่อด้วยว่า นายพริษฐ์ ได้ประกาศต่อหน้าศาลว่า เขาจะอดข้าวประท้วง จนกว่าเขาจะได้รับประกันตัวออกมาต่อสู้ในขั้นตอนของศาลต่อไป
“นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะขออดอาหาร ประทังชีพด้วยน้ำ น้ำหวาน และนมเท่านั้น ไปจนกว่าท่านจะคืนสู่สามัญสำนึกโดยการคืนสิทธิประกันตัวสู้คดีให้กับข้าพเจ้า ให้กับผู้กล่าวหาคดีมาตรา 112 และให้กับผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองทุกคน หรือจนกว่าชีวิตของข้าพเจ้าจะหาไม่” ข้อความระบุว่า เป็นของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ โพสต์ลงบนเฟซบุ๊ก ราษฎร ในช่วงบ่ายวันนี้
“หากข้าพเจ้าต้องสละชีวิตลง ข้าพเจ้าก็ยินดีสละ เพื่อวันหนึ่งประเทศของเราจะไม่มีกฎหมายมาตรา 112 ไม่มีใครต้องตกเป็นนักโทษทางการเมือง และ 3 ข้อเรียกร้องจะบรรลุเป็นจริง ประเทศไทยจะได้เป็นของคนไทยทุกคนอย่างเสมอภาคโดยสมบูรณ์ ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุ
อย่างไรก็ตาม หลังเสร็จสิ้นการตรวจสอบพยานหลักฐาน ศาลมิได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยรายใด
โดยนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า ผิดหวังในการประกันตัวจำเลยมาแล้วหลายครั้ง สำหรับการยื่นประกันตัวในอนาคตนั้นจะยื่นหรือไม่ จะต้องปรึกษากับจำเลยก่อน
ในตอนเช้า เมื่อรถควบคุมผู้ต้องขังมาถึงยังศาลอาญาแล้วเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวแกนนำ กลุ่มราษฎรที่ชูสามนิ้วเดินลงมาจากรถ ขณะที่ตะโกนไปยังผู้สื่อข่าว และมวลชนที่มาให้กำลังใจ
“บอกพวกเขาด้วยว่า ถึงเขาจะขังผมได้ แต่เขาไม่อาจจะขังความจริงได้ ความจริง ย่อมเป็นความจริง ไม่ว่าจะอยู่ที่ตรงไหน เครื่องทรมาน หรือหลักประหาร ความจริงย่อมเป็นความจริง” นายพริษฐ์ ตะโกน
ด้านนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล มาถึงศาลด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม และตะโกนไปยังกลุ่มเพื่อนที่มาให้กำลังใจว่า “กูคิดถึงมึง” ก่อนถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวเข้าไปในศาลทั้งน้ำตา
ทั้งนี้ ศาลไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนและผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ารับฟังในห้องพิจารณา
อาจารย์มหาวิทยาลัย : อย่าทำร้ายคนรุ่นใหม่
ในวันเดียวกัน กลุ่มอาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้เดินทางมาสังเกตการณ์และให้กำลังใจนักกิจกรรมที่ศาลอาญา
ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหายังไม่ถูกตัดสินว่าทำความผิด ควรจะได้รับสิทธิในการประกันตน และขอร้องว่าอย่าทำร้ายคนรุ่นใหม่อีกเลย
“คนรุ่นนี้คือคนรุ่นใหม่ เยาวชน คือความหวังของชาติ สิ่งที่เขาทำ เรารู้กันดีเพื่อหวังให้สังคมเขาดีขึ้น เพียงแต่สิ่งที่เขาเสนอนั้น แตกต่างไปจากผู้ที่มีอำนาจต้องการที่จะได้ยิน จริง ๆ แล้วโดยสามัญสำนึก เรารู้กันอยู่ว่าต้องการให้สังคมดีขึ้น ฉะนั้น วิธีที่สังคมอารยะจะทำกับเยาวชนที่เสียสละความมั่นคงในชีวิตตัวเอง ออกมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรม เพื่อสังคมที่ดีขึ้น ก็ควรรับฟังเขาและเจรจา คุยกับเขาไม่ใช่ด้วยวิธีการลงโทษเขาแบบนี้” ผศ.ดร.พวงทอง กล่าว
“สังคมไทยทำผิดพลาดมาแล้วหลายครั้งในอดีต คือการทำร้ายคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา หรือกรณีพฤษภา 2535 ก็มีคนรุ่นใหม่เสียชีวิตจำนวนมาก ขณะนี้ เรากำลังทำผิดครั้งที่สอง เรากำลังทำร้ายคนรุ่นใหม่ที่ดิฉันคิดว่าเป็นกลุ่มคนที่ดีที่สุดที่สังคมไทยจะสร้างขึ้นมาได้” ผศ.ดร.พวงทอง กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แสดงความกังวลว่า หากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ผู้ต้องหาบางคนอาจเสียโอกาสในการศึกษา และการสอบประจำภาคเรียน
สำหรับ 11 ข้อหาที่อัยการสั่งฟ้อง คือ ม.112, ม.116, ม.215, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กระทำการกีดขวางทางสาธารณะ, วางตั้งสิ่งของยื่นกีดขวางทางสาธารณะ, ตั้งวางสิ่งของกีดขวางถนน, ทำลายโบราณสถาน, ทำให้เสียทรัพย์ และโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ขออนุญาต
ปัจจุบัน จำเลยทั้ง 7 คนแรก ถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ ทั้งหมดยกเว้นเพียง น.ส.ปนัสยา ซึ่งถูกฝากขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง โดยจำเลยที่เหลือ ซึ่งไม่ได้ถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีประกอบด้วย 1. นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ 2. นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบร์ท เมืองนนท์ 3. นายชูเกียรติ แสงวงศ์ 4. นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 5. นายณัทพัช อัคฮาด 6. นายธนชัย เอื้อฤาชา 7. นายธนพ อัมพะวัต 8. นายธานี สะสม 9. นายภัทรพงศ์ น้อยผาง 10. นายสิทธิทัศน์ จินดารัตน์ 11. น.ส. สุวรรณา ตาลเหล็ก 12. นายอะดิศักดิ์ สมบัติคำ 13. นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ฟอร์ด เส้นทางสีแดง 14. นายณัฐชนน ไพโรจน์ และ 15. นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์ หรือแอมมี่ ซึ่งถูกฝากขังจากคดีวางเพลิงหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 68 ราย ใน 59 คดี โดยผู้ที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ นายพริษฐ์ 19 คดี, นายอานนท์ 11 คดี, น.ส.ปนัสยา 9 คดี และนายภาณุพงศ์ 8 คดี
การชุมนุมของกลุ่มประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” เริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่กรุงเทพฯ ก่อนเกิดการชุมนุมในลักษณะใกล้เคียงกันหลายครั้งในหลายจังหวัด โดยมี 3 ข้อเรียกร้องหลักประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ ในการชุมนุมบางครั้งมีการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ชุมนุม จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย โดย น.ส. พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายฯ ระบุว่า มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง ถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 382 คน จาก 223 คดี ตามข้อมูลในวันที่ 3 มีนาคม 2564