โรงงานหมิงตี้เคมีคอลระเบิดกระทบกว่า 8 หมื่นราย เสียชีวิต 1 ราย
2021.07.06
กรุงเทพฯ

นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ แถลงในวันอังคารนี้ว่า เหตุโรงงานพลาสติกระเบิดและเกิดเพลิงลุกไหม้เมื่อตีสามของวันจันทร์ที่ผ่านมานั้น ได้ส่งกระทบถึงประชาชนกว่าแปดหมื่นราย ขณะที่ประมาณสองพันรายต้องอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย โดยเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ในตอนก่อนพลบค่ำของวันอังคารนี้
ส่วนประชาชนในพื้นที่ คาดหวังว่า รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน ด้านนักวิชาการชี้ว่า ควรที่จะมีการแก้ข้อกำหนดผังเมืองเพื่อช่วยให้สามารถป้องกันผลกระทบในอนาคตได้
เหตุระเบิดและไฟไหม้ โรงงานเคมี บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ในซอยกิ่งแก้ว 21 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี เกิดขึ้นเมื่อเวลา 03.30 น. ของวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เจ้าหน้าที่ได้พยายามดำเนินการฉีดโฟมเพื่อควบคุมเพลิง ทั้งทางบกและทางอากาศ แต่มีการปะทุอย่างน้อยสามครั้ง ก่อนในท้ายที่สุด เพลิงจะดับลงหลังเวลา 17.20 น. ของวันอังคารที่ 6 กรกฎาคม 2564 ด้วยมีฝนตกลงมา
นายวันชัย ได้การแถลงสถานการณ์ว่า มีประชาชน 30 หมู่บ้านของ 4 ตำบล ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว
“แรงระเบิดทำให้เกิดความเสียหายทั้งหมด บริเวณพื้นที่โรงงานและบริเวณรอบข้าง ขยายไปยังบ้านเรือนประชาชน มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ภัยยังไม่สิ้นสุด ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 80,916 คน 56,291 ครัวเรือน” นายวันชัย ระบุ
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤต ระบุข้อมูลล่าสุดว่า มีคนในโรงงาน และผู้ที่อยู่อาศัยใกล้โรงงาน ได้รับบาดเจ็บจากแรงระเบิด ชิ้นส่วนอาคารหล่นทับ สูดควันพิษเข้าไปในปริมาณมาก มีแผลไฟไหม้ กล้ามเนื้อฉีกขาด และบาดแผลบนผิวหนัง ถูกนำส่งโรงพยาบาล 43 ราย ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 9 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นายกรสิทธิ์ ลาวพันธุ์ อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเสียชีวิตจากไฟคลอก
นายวันชัย ยังกล่าวว่า แรงระเบิดทำให้บ้านเรือน ทรัพย์สิน รวมถึงรถยนต์ของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงได้รับความเสียหาย เกิดกลุ่มควันลอยฟุ้งกระจายในท้องฟ้า โดยจังหวัดประกาศให้อพยพคนในรัศมี 10 กิโลเมตร เมื่อช่วงสายของวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยศูษย์พิษวิทยา โรงพยาบาลศิริราช ระบุว่า สารเคมีที่ปนเปื้อนในอากาศ คือ สารสไตรีน ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ และเป็นสารก่อมะเร็ง
“คุณภาพอากาศตรงโรงงานยังอาจจะมีผลกระทบอยู่ บริเวณรอบ ๆ สถานการณ์ค่อย ๆ ดีขึ้น รัศมี 3-5 กิโล เราตรวจวัดไม่พบแล้ว แต่ต้องควบคุมสถานการณ์ไฟอย่าให้เกิดขึ้นอีก” นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดในวันอังคารนี้
เรื่องการชดเชยค่าเสียหาย พล.ต.ต. ชุมพล พุ่มพวง ผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวในการแถลงว่า ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบไปร้องทุกข์ที่ สภ. บางแก้ว เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ประสาน บริษัท หมิงตี้เคมีคอล ในการชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งต่อไป โดยล่าสุดมีประชาชนเข้าร้องทุกข์แล้ว 183 ราย ขณะที่ ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า บริษัท หมิงตี้เคมีคอล ได้ทำประกันโรงงานด้วยวงเงิน 420.90 ล้านบาท ซึ่งจะได้แจกจ่ายชดเชยเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป
ขณะเดียวกัน ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ได้เปิดศูนย์รับผู้อพยพแล้ว 9 จุด มีผู้อพยพจากพื้่นที่ดังกล่าวแล้ว 1,992 ราย โดยมีศูนย์สำรองที่พร้อมเปิดเพิ่มอีก 2 จุดในอนาคต หากจุดที่มีอยู่ไม่เพียงพอ
ชาวบ้านขอรัฐแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ
ด้าน นายกฤษฎา พิทยาภรณ์ พนักงานบริษัทเอกชน อายุ 31 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในย่านบางนา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนตัดสินใจอพยพเพราะจุดระเบิดแค่ 7 กิโลเมตร
“ได้กลิ่นสารเคมี ญาติ ๆ เป็นห่วงจึงตัดสินใจว่าจะย้ายไปพักที่บ้านญาติแถวลาดพร้าว 2-3 คืน รู้ว่าเขามีศูนย์อพยพที่จังหวัดตั้งขึ้น แต่ไม่คิดจะไปเพราะคนน่าจะเยอะและคนแก่ที่บ้านยังไม่ได้ฉีดวัคซีน น่าจะเพิ่มความเสี่ยงติดโควิด อยากให้จังหวัดและเจ้าหน้าที่ ๆ เกี่ยวข้องจัดการสถานการณ์ให้ได้โดยเร็ว เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็อยากกลับบ้าน แบบที่ไม่มีสารพิษในอากาศหลงเหลืออยู่” นายกฤษฎา กล่าว
ในเรื่องนี้ นายสนธิ คชวัฒน์ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า สารสไตรีน ซึ่งปนเปื้อนจากเหตุระเบิดนั้น จะสามารถซึมลงสู่น้ำใต้ดิน และฟุ้งกระจายในอากาศได้จากการเผาไหม้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
“ถ้าหายใจเข้าไปจะระคายเคืองทางเดินหายใจและลำคอ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และมึนเมา ถ้าได้รับสารปริมาณสูง จะมีอาการชัก และเสียชีวิตได้… อาจมีอาการทางสายตา การได้ยินเสื่อมลง และการตอบสนองช้าลง ผลในระยะยาวยังไม่ทราบแน่ชัด ถ้าเข้าตา จะเคืองตา ถูกผิวหนังจะรู้สึกระคายผิว ผิวแดง แห้งและแตก” นายสนธิ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก
นักวิชาการแนะแก้ผังเมืองเพื่อป้องกันผลกระทบในอนาคตได้
ดร. พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ปัจจุบัน ระบบผังเมืองของประเทศไทยยังไม่เป็นระบบ ทำให้เมื่อเกิดเหตุุฉุกเฉินจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
ในกรณีนี้ ข้อมูลในเว็บไซต์ของบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ระบุว่า บริษัทก่อตั้งในปี 2541 ก่อนที่จะมีการใช้ผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ. 2544 ซึ่งจัดพื้นที่ตั้งโรงงานเป็นผังสีแดง แต่อนุญาตให้ใช้ประกอบกิจการพาณิชย์ได้ โดยมีช่องว่างเรื่องโรงงาน
“กฏกระทรวงเรื่องผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ. 2544 มันหลวม ทำให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรม บ้านจัดสรร หอพักคนงาน ตรงไหนก็ได้ จึงเป็นที่มาของเรื่องนี้ ถ้าอนาคตไม่อยากให้มีเพิ่ม ต้องระบุให้ชัดเจนว่า อนุญาตให้เฉพาะโรงงานที่มีมาก่อนเท่านั้น ไม่สามารถขยายหรือสร้างเพิ่มได้ ต้องเขียนกฎปิดช่องไม่ให้โรงงานเกิดเพิ่มขึ้น” ดร.พรสรร กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“กระบวนการวางผังต้องอาศัยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนการก่อสร้าง เราจะเจอภาพของชาวบ้านถูกรังแก นายทุนกดดันให้เปลี่ยนสีของพื้นที่ในผังเมือง บางครั้งก็มีจากนโยบายของรัฐเอง ถ้าจัดการความขัดแย้งนี้ได้ จะนำมาสู่ข้อตกลงร่วมกัน” ดร. พรสรร ระบุ
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน