เจ้าหน้าที่พบกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในโรงงานหลอมเหล็ก
2023.03.20
กรุงเทพฯ

ในวันจันทร์นี้ คณะเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบค้นหาแท่งซีเซียม-137 ที่หายไปจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่ง ในจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตรวจจับกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในถุงบิ๊กแบ๊กที่บรรจุฝุ่นแดงที่เกิดจากการหลอมเหล็กได้จากโรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง ในจังหวัดเดียวกัน เมื่อวานนี้
นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า เพื่อความปลอดภัย ตนได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมพื้นที่โรงงานหลอมเหล็ก ซึ่งไม่ได้ระบุชื่อ ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
นอกจากนั้น ได้สั่งให้พนักงานของโรงงาน 70 คน หยุดปฏิบัติงาน และให้เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ทีมแพทย์ พยาบาลตรวจสุขภาพ สังเกตอาการ และเตรียมให้ตรวจเลือดเพิ่มเติมในวันนี้ รวมถึงกั้นพื้นที่ระหว่างตัวโรงงานและชุมชน ซึ่งอยู่ห่างกันพอสมควร
“เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าที่เราตรวจวัดตรวจกระเป๋าบิ๊กแบ๊ก ยืนยันว่าเป็นสารซีเซียม-137 ไม่สามารถเกิดด้วยธรรมชาติด้วยตัวของมันเอง มันจะเป็นผลิตโดยน้ำมือมนุษย์” ผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวเพิ่มเติม
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ได้รับแจ้งว่า วัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้าของ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ ในจังหวัดปราจีนบุรี และเจ้าหน้าที่ได้ออกติดตามโดยมีเป้าหมายที่ร้านรับซื้อของเก่า ร้านคู่ค้าของโรงงานทั้งในจังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดใกล้เคียง และโรงงานหลอมเหล็กขนาดใหญ่ จนตรวจพบสารซีเซียม-137 ที่เครื่องมือตรวจวัดขึ้นค่า 10 เต็ม10 ในกระเป๋าบิ๊กแบ๊กขนาดใหญ่ ในโรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง พื้นที่อำเภอกบินทร์บุรี ปราจีนบุรี วานนี้
นายรณรงค์ อ้างคำกล่าวจากเจ้าหน้าที่ ระบุว่า สิ่งที่อยู่ในกระเป๋าบิ๊กแบ๊ก คือส่วนที่เหลือจากการผลิตเหล็ก โดยหลังจากที่นำเหล็กเทเข้าไปในเตาหลอม ซึ่งมีอุณหภูมิ 1,200 องศาแล้ว จะเกิดฝุ่นที่เรียกว่า ฝุ่นเหล็ก เป็นละอองสีแดงขึ้นมา ซึ่งอยู่ในระบบปิด มีความร้อนสูงไม่สามารถแพร่กระจายออกมาข้างนอกได้ ละอองจะลอยไปติดกับฟิลเตอร์ด้านบนที่กั้นไว้ เมื่อเย็นตัวจะตกผลึกเป็นเม็ดเล็ก ๆ เก็บไว้ในถุงบิ๊กแบ๊ก
ด้าน นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แถลงว่า โรงงานหลอมเหล็กใช้อุณหภูมิสูงถึง 1,200 องศาเซลเซียส ในการหลอมเหล็กให้กลายเป็นของเหลว ในระบบปิด แต่สารซีเซียมระเหยไปกับเขม่าเมื่อเจออุณหภูมิเพียง 600 องศาเซลเซียส ดังนั้นเหล็กที่รีดออกมาจึงไม่พบสารซีเซียมปนเปื้อน แต่พบปนเปื้อนอยู่ในเขม่าฝุ่นแดงในเตาหลอมเหล็ก
ด้าน ดร. กิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่และใช้เครื่องมือตรวจวัดรังสี ดูดอากาศ ในรัศมีครอบคลุม 5 กิโลเมตรรอบโรงงาน มีการเก็บตัวอย่างดิน น้ำ อากาศ ผลการตรวจสอบไม่พบการฟุ้งกระจาย ไม่พบการเปรอะเปื้อนของสารซีเซียม 137 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด
“ผมอยากจะยืนยันว่า วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่ปนเปื้อนในฝุ่นโลหะในโรงงานแห่งหนึ่ง ถูกควบคุมและจำกัดอยู่ในพื้นที่เฉพาะ และไม่ได้มีการแพร่กระจาย หรือฟุ้งกระจายใด ๆ ออกจากพื้นที่โรงงาน” ดร. กิตติ์กวิน ระบุ
“เราได้ทำการตรวจวัดการเปรอะเปื้อนภายนอกร่างกายของพนักงานในโรงงาน เราไม่พบการเปรอะเปื้อนใด ๆ ของพนักงานที่อยู่ในโรงงานที่เกิดการหลอมโลหะแห่งนี้เช่นกัน”
ด้าน นายแพทย์สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผยว่า หลังจากได้รับแจ้งว่าซีเซียม137 หายไป ได้สั่งให้มีการประเมินอาการของผู้ที่เข้าข่ายอาจจะได้รับผลกระทบจากสารซีเซียม137 ว่าจะมีอาการเบื้องต้นประกอบด้วย ระบบผิวหนังเป็นแผล, ระบบทางเดินอาหาร คลื่นใส้ อาเจียน ถ่ายเหลว, ระบบเลือดไหลเวียนโลหิต และเข้าไขกระดูก อาจเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ และในส่วนระบบประสาท อาจมีอาการชัก เกร็ง เสียชีวิตได้ ซึ่งจากการตรวจสอบย้อนหลัง 1 เดือน ไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัด พบว่ายังไม่มี และหากมีจะทราบได้ เพราะส่วนใหญ่อาการจะค่อนข้างรุนแรง และจากการลงพื้นที่พบว่า โรงงานเป็นระบบปิดและตั้งอยู่ห่างจากชุมชนพอสมควร
“เบื้องต้นให้สันนิษฐานว่าพนักงานในโรงงานทั้งหมด 70 คน เป็นต่างด้าว 60 คน และคนไทย 10 คนเป็นกลุ่มเสี่ยง จะมีการตรวจสุขภาพและเฝ้าระวังเป็นระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี” นายแพทย์สุรินทร์ กล่าว
นอกจากนี้ จะทำการประเมินชุมชนรอบข้างว่า มีความเสี่ยงหรือข้อกังวลอย่างไรหรือไม่ หากประชาชนมีความกังวลจะจัดเจ้าหน้าที่ไปลงพื้นที่ตรวจสุขภาพให้
ด้าน พล.ต.ต. วินัย นุชชา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี แถลงว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับโรงไฟฟ้าแล้ว กรณีผู้ครอบครองวัตถุที่หายไปแล้วไม่แจ้งโดยพลัน ตาม พรบ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2562 มาตรา 100 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี ในความผิดฐานในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี แล้วไม่แจ้งโดยทันที
“โรงงานเตรียมตัวกำลังจะโดนแล้ว ผู้ครอบครองเขาต้องครอบครองโดยตลอด ถ้าหายเมื่อไหร่เขาต้องแจ้งทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติโดยทันที จากที่สืบสวนเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ มีการเออเร่อ (ผิดพลาด) เกิดขึ้น แต่ทางสำนักงานปรมาณูและสันติ ทางตำรวจมารู้วันที่ 10 มีนาคม” พล.ต.ต. วินัย ระบุ