เจ้าหน้าที่ยังไม่พบแท่งซีเซียม-137 ที่สูญหายในปราจีนบุรี
2023.03.15
กรุงเทพ

ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยในวันพุธนี้ว่า เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่พบวัสดุกัมมันตภาพรังสี ซีเซียม-137 ที่สูญหายไปจากโรงงานไฟฟ้าแห่งหนึ่งในปราจีนบุรีเมื่อสัปดาห์ก่อน ท่ามกลางความกังวัลว่าจะมีคนนำไปแยกส่วนผิดวิธีจนอาจมีอันตรายถึงชีวิต
ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ฯ ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ได้รับแจ้งว่าแท่งซีเซียม-137 ได้หายออกไปจากโรงงานไฟฟ้าของ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จึงแจ้งเตือนให้ประชาชนทั่วไปหากพบเห็นให้รีบแจ้งทางศูนย์ฯ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสวัตถุดังกล่าว จากนั้นได้เร่งค้นหาโดยได้ตรวจสอบสถานประกอบการกิจการรับซื้อเศษโลหะและโรงหลอมเหล็กขนาดใหญ่ จำนวน 15 แห่ง ภายในอำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี
“ใช้เครื่องมือตรวจวัดทางรังสีในการสำรวจวัสดุกัมมันตรังสีที่สูญหาย และการสอบถามข้อมูลจากสถานประกอบการดังกล่าว ผลการตรวจสอบยังไม่พบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในพื้นที่” ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ฯ ระบุในวันพุธนี้
สำหรับวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 (Cesium-137, Cs-137) มีลักษณะเป็นท่อกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม ใช้เป็นเครื่องมือวัดระดับของขี้เถ้าในไซโลของโรงงงาน บริษัทได้ทำการติดตั้งท่อดังกล่าวตั้งแต่ปี 2534 รวม 10 ท่อ แต่เพิ่งทราบว่า วัสดุดังกล่าว 1 ชิ้นได้หายจากโรงงานเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 แต่ยังไม่ทราบว่าหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ และหายไปได้อย่างไร
ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ระบุว่า หลังจากได้รับแจ้งเหตุ ในวันถัดมา ได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือเข้าตรวจสอบโดยละเอียด รวมทั้งประสานไปยังร้านรับซื้อของเก่าในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 40 แห่งแล้ว แต่ยังไม่พบวัตถุที่แจ้งสูญหาย
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุในการแถลงข่าวว่า วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ติดอยู่ที่ไซโล ใช้วัดระดับของขี้เถ้าบนถังไซโล มีความสูงประมาณ 16-17 เมตร
“วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หากอยู่ในสภาพปกติจะไม่เกิดผลกระทบใด ๆ ยกเว้นมีการผ่าและสารกัมมันตรังสีรั่วไหลผู้ที่สัมผัสจะเกิดอันตราย หากถูกนำไปทิ้งน้ำโดยที่สภาพไม่ชำรุด จะไม่เกิดอันตราย แต่วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 จะอยู่ได้อีกราว 300 ปี ถึงจะหายไป” นายเพิ่มสุข กล่าว
ด้าน นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า ตนเชื่อว่าอุปกรณ์ยังไม่แตก เพราะเจ้าหน้าที่เอาเครื่องตรวจวัดรังสี แต่ยังไม่พบรังสีในจุดนั้น พร้อมทั้งเสนอเงินรางวัล 50,000 บาท ให้กับผู้ที่ชี้เบาะแสจนสามารถนำวัสดุกัมมันตรังสีที่สูญหายกลับมาได้
ขณะที่ นายกิตติพันธ์ จิตต์เป็นธรรม ผู้แทนโรงไฟฟ้า เนชั่นแนล เพาเวอร์ กล่าวทางโรงงานยังตรวจสอบอยู่ว่าแท่ง ระบุว่า แท่งซีเซียม-137 หายไปได้อย่างไร แต่ขณะนี้ยังเกิดผลกระทบกับพนักงานบริษัท
“บริษัทฯ ยังไม่ยืนยันว่าวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่หายไป เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เกิดจากฝีมือมนุษย์ หรือเกิดจากอุบัติเหตุ ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด แต่โดยปกติบุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปด้านในได้ ยกเว้นได้รับอนุญาต” นายกิตติพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ที่พบเห็นหรือต้องการแจ้งเบาะแสสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 0858350190 ของ นายอารีย์ จักษ์ตรีมงคล ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด หรือ สายด่วน 1784 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ด้าน รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลกระทบที่อาจเกิดจากซีเซียม-137 ว่าจะเกิดอันตรายมากหากมีผู้นำวัตถุดังกล่าวไปจัดเก็บไม่ถูกวิธี
“ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ท่อวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 อาจจะทำให้ผิวหนังของผู้สัมผัสเกิดอาการเน่าภายใน 3 วัน ในกรณีที่รังสีมีความเข้มข้น และผู้ที่เก็บวัสดุดังกล่าวไปไม่ควรผ่าท่อรังสีโดยเด็ดขาด ที่สำคัญ สารชนิดนี้ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี จึงทำให้ผู้ที่สัมผัสในครั้งแรกจะไม่มีอาการ แต่ภายใน 3 วัน จุดที่สัมผัสจะเริ่มเปื่อยเน่า และภูมิต้านทานในร่างกายจะค่อย ๆ ลดลงและหายไป” รศ.ดร. เจษฎา ระบุผ่านเฟซบุ๊กเพจ
เมื่อปี 2543 ได้เกิดเหตุการณ์คล้ายกันจนทำให้มีผู้เสียชีวิต กล่าวคือ มีบุคคลเก็บแท่งโคบอลต์-60 ซึ่งใช้สำหรับเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ ที่ถูกทิ้งไว้ในบริเวณลานจอดรถร้าง และถูกนำไปขายต่อให้กับร้านขายของเก่าใน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ต่อมาเมื่อคนขายของเก่าพยายามแกะแท่งดังกล่าว จึงทำให้รังสีแพร่กระจายและส่งผลกระทบถึงคนอย่างน้อย 12 คน โดยมีผู้เสียชีวิต และพิการจากการสัมผัสใกล้ชิดแท่งดังกล่าว
ต่อมา น.ส. จิตราภรณ์ เจียรอุดมทรัพย์ และผู้ได้รับผลกระทบรวม 12 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทที่เกี่ยวข้องให้รับผิดชอบต่อผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว กระทั่งปี 2559 ศาลแพ่งได้ตัดสินให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ได้รับผลกระทบคนละ 5.29 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย