ปลัด อก. ระบุ จะย้ายกากแคดเมียมกลับตาก 7 พ.ค. นี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.04.17
กรุงเทพฯ
ปลัด อก. ระบุ จะย้ายกากแคดเมียมกลับตาก 7 พ.ค. นี้ เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบกองกากตะกอนแคดเมียมและสังกะสี ภายในอาคารโรงงานแห่งหนึ่งย่านบางซื่อ กรุงเทพมหานคร วันที่ 11 เมษายน 2567
กรมควบคุมมลพิษ

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า จะเริ่มย้ายกากแคดเมียมที่ถูกลักลอบขนมายังกรุงเทพฯ สมุทรสาคร และชลบุรี กลับพื้นที่ต้นทางจังหวัดตาก 7 พฤษภาคม 2567 โดยยอมรับว่า ต้องเลื่อนจากแผนเดิมที่จะเริ่มขนย้าย 17 เมษายนนี้ เนื่องจากต้องเตรียมความพร้อมเรื่องความปลอดภัย ด้าน ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม พบข้อมูล เจ้าหน้าที่รัฐ และนายทุนชาวจีนเกี่ยวข้องกับการลักลอบขนย้าย 

“การขนย้ายกลับจะต้องดำเนินการเร็วที่สุดและปลอดภัย จึงต้องมีการเตรียมการ และทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และเตรียมการเรื่องรถที่จะใช้ขนส่ง จะต้องใช้เวลาดำเนินการ จึงสามารถเริ่มได้ในวันที่ 7 พฤษภาคม หากขั้นตอนการเตรียมบ่อเรียบร้อย ไม่ชำรุดและการขออนุญาตไปด้วยความรวดเร็วก็อาจจะดำเนินการได้เร็วกว่าที่กำหนด” นายณัฐพล กล่าวในการประชุม กมธ. อุตสาหกรรม

นายณัฐพล ยืนยันว่า “ความกังวลของประชาชนที่ว่า อาจจะนำแคดเมียมบางส่วนไปหลอมนั้น จากการตรวจเตาหลอม ไม่พบสารแคดเมียม ซึ่งแสดงว่าไม่มีการนำไปหลอม”

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกับบริษัทเอกชนดำเนินการขนย้ายอย่างรัดกุมที่สุด โดยห่อถุงกากแร่ 2 ชั้น และหุ้มด้วยพลาสติก ขนส่งโดยรถบรรทุก พร้อมรถตำรวจนำ บ่อฝังกลบต้องผ่านการตรวจสอบความแข็งแรง และป้องกันการปนเปื้อน โดยทำความสะอาดทุกขั้นตอนด้วยการดูดฝุ่นไม่มีการใช้น้ำชะล้างลงสู่ธรรมชาติ เบื้องต้น จะสามารถขนได้ 450 ตันต่อวัน 

กรณีที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจาก นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส. ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวในวันที่ 3 เมษายน 2567 ว่ามีการร้องเรียนว่าบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.ตาก ขายกากแร่แคดเมียมเศษเหลือจากการทำเหมืองแร่ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งให้กับ บริษัทแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และส่งผลกระทบกับประชาชน

ในวันถัดมา นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และคณะจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานหลอมหล่ออะลูมิเนียมแท่ง บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ใน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พบกากแร่แคดเมียมจริง จึงได้สั่งการให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และต่อมามีการพบในพื้นที่อื่น ๆ และจะต้องนำกากแร่ดังกล่าวกลับไปยังพื้นที่ฝังกลบในจังหวัดตาก 

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า มีข้อมูลการขนกากแคดเมียม 13,800 ตัน ปัจจุบัน สามารถตรวจพบและยึดอายัดได้ประมาณ 12,000 ตัน ประกอบด้วย บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด 2,440 ตัน บริษัท อิฟง จำกัด ใน อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี 6,720 ตัน 

บริษัท ซิน หงส์ เฉิง อินเตอร์ เทค (2008) จำกัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร จำนวน 1,034 ตัน  โรงงานย่านคลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ประมาณ 1,000 ตัน และ บริษัท ล้อโลหะไทย เมททอล จำกัดเขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 150 ตัน 

ด้าน นายอัครเดช เปิดเผยกับสื่อมวลชนที่อาคารรัฐสภาว่า พบข้าราชการเกี่ยวข้องกับการลักลอบขนย้ายกากแร่ครั้งนี้

“เอกสารที่มีการส่งมาในเบื้องต้น มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนต้นทางปลายทางหรือส่วนกลางรอให้มีความชัดเจนอีกครั้งจะแจ้งให้ทราบอีกทีนึง เรียกร้องให้นายกฯ หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นวาระแห่งชาติในการดำเนินการกับนักลงทุนจีนสีเทาทางด้านอุตสาหกรรมที่ละเมิดกฎหมาย เพราะ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ทุนจีนกระทำความผิดซ้ำซาก ทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนต่อเนื่องรุนแรง ซึ่งทาง กมธ. เคยสอบสวน และให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินคดีมาแล้ว” นายอัครเดช กล่าว

433964279_746898294301383_6805591589430900332_n.jpg
เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษเข้าตรวจสอบโกดังเก็บถุงบรรจุแคดเมียม ที่โรงงานของบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด จ.สมุทรสาคร วันที่ 4 เมษายน 2567 (กรมควบคุมมลพิษ)

เบื้องต้นในการดำเนินคดีทางกฎหมาย พ.ต.อ. อภิสัณฐ์ ไชยรัตน์ ผู้กำกับการ(ผกก.) กองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เปิดเผยว่า นายเจษฎา เก่งรุ่งเรืองชัย กรรมการ บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด จ.สมุทรสาคร จะเดินทางเข้าไปให้ปากคำในฐานะที่โรงงานอาจมีความผิดฐานประกอบการหล่อหลอมแคดเมียมโดยไม่ได้รับอนุญาต ในวันที่ 18 เมษายน 2567 

ขณะเดียวกัน นางปาริชาติ อ่อนละม่อม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ.ห้วยทราย 2 ต.หนองบัวใต้ อ.เมือง จ.ตาก เปิดเผยว่า คนในพื้นที่รู้สึกกังวล และไม่ต้องการให้นำกากแร่แคดเมียมกลับมา

“มี 7 หมู่บ้านที่อยู่ใกล้โรงถลุงแร่ และที่จัดเก็บแคดเมียม น่าห่วงว่าแคดเมียมอาจจะปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมในน้ำและอากาศ ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากต้องลุกออกมาคัดค้าน หลายคนไม่เห็นด้วย เพราะเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยใกล้กับสารแคดเมียม อยากให้มีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบในด้านความปลอดภัยสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และมีการแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบ หากมีสิ่งเกิดขึ้นกับสารแคดเมียมรั่วไหล” นางปาริชาติ กล่าว

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้มีการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยเสนอให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับนักลงทุนที่นำแร่ไปหลอมหรือส่งออกแบบไม่ถูกกฎหมาย สนับสนุนการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการให้เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. เพื่อรวมศูนย์การพัฒนา สื่อสาร ส่งเสริมและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ และเสนอให้รัฐบาลผลักดันการนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ต่อยอดการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์วัสดุเพื่อลดการนำกากของเสียไปฝังกลบ

ต่อประเด็นนี้ ดร. ณัฐฐา แสงนรินทร์ เหมจินดา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า รัฐมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ข้อมูลกับประชาชนเพื่อสร้างความชัดเจน และความสบายใจ 

“ภาครัฐที่ต้องเข้าไปตรวจสอบ พื้นที่จัดเก็บและบริเวณโดยรอบ หากพบการปนเปื้อน ต้องขยายวงรัศมีการตรวจสอบออกไปจนกว่าจะพบพื้นที่ที่ไม่มีการปนเปื้อนแล้ว และต้องมีแนวทางการจัดการกากแคดเมียมที่ค้นพบอย่างถูกต้องต่อไป ประชาชนในละแวกใกล้เคียงอย่าเพิ่งตื่นตระหนก แต่ให้ติดตามข่าวสารใกล้ชิด ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการสูดดมแคดเมียมที่อาจกระจายตัวอยู่ในอากาศ” ดร. ณัฐฐา กล่าว

อนึ่ง ดร. สนธิ คชวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ที่มาของปริมาณกากแคดเมียมที่ถูกฝังกลบภายในโรงงาน จ.ตาก จำนวน 330,342 ตัน ในบ่อเก็บกากแร่ มาจากผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตแร่สังกะสีแบบดั้งเดิมที่ดำเนินการมาเป็นระยะเวลากว่า 33 ปี 

"มีการขนกากอุตสาหกรรมหรือตะกรันที่เกิดจากการหลอมแร่สังกะสี ซึ่งในกากตะกรันดังกล่าวมีแคดเมียมปนเปื้อนถึง 38% จากบ่อฝังกลบกากอุตสาหกรรมแบบปลอดภัย (secured Landfill) ซึ่งปิดหลุมแบบถาวรไปแล้ว โดยหลุมนี้ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของโรงงานถลุงแร่สังกะสี บริษัทผาแดง อินดัสทรี จำกัด จ.ตาก และได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทเบาด์ แอนด์ บียอนต์ จำกัด เมื่อปี 2564 โดยนำใส่ในถุง big bag รวมแล้วประมาณ 15,000 ตัน ขนส่งไปเก็บในอาคารของโรงงานของ บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ตั้งอยู่ที่ ถ.เอกชัย ต.บางน้ำจืด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงงานลำดับที่ 106 ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการหลอมแท่งโลหะอะลูมิเนียมเพื่อเตรียมหลอมหรือขายต่อ" ดร. สนธิ กล่าว

"ประเด็นที่สำคัญคือ ตะกรันกากสังกะสีแคดเมียมถูกฝังกลบแบบถาวรไปแล้ว แต่หน่วยราชการ จ.ตาก ไปอนุญาตให้ขุดขึ้นมาได้อย่างไร? ทั้งที่รายงานอีไอเอของโรงงานถลุงสังกะสีผาแดงได้ระบุว่า เป็นกากอุตสาหกรรมอันตรายให้ฝังกลบแบบถาวรตลอดไป ซึ่งตามกฏหมายมาตรการในรายงานอีไอเอดังกล่าวถือเป็นเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบอนุญาตที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และ จ.ตาก ยังอนุญาตให้ขนส่งไปรีไซเคิลยังโรงงานเจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานได้รับอนุญาตให้กักเก็บและบดย่อยกากอุตสาหกรรมและหล่อหลอมอะลูมิเนียมเท่านั้น ได้อย่างไร?"

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง