ไทยงดออกเสียงเวทียูเอ็น ประณามรัสเซียผนวกดินแดนยูเครน

นนทรัฐ​ ไผ่เจริญ
2022.10.13
กรุงเทพฯ
ไทยงดออกเสียงเวทียูเอ็น ประณามรัสเซียผนวกดินแดนยูเครน เซอร์กีย์ คิสลิตสยา เอกอัครราชทูตยูเครนประจำสหประชาชาติ ใช้กล้องส่องทางไกลเพื่อส่องดูการประชุมสมัชชาใหญ่ ก่อนการลงมติ ประณามการผนวกส่วนต่าง ๆ ของยูเครน โดยรัสเซีย ที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในนิวยอร์ก วันที่ 12 ตุลาคม 2565
รอยเตอร์

ไทยงดออกเสียงในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ที่ได้มีมติประณามความพยายามของรัสเซียที่จะผนวกรวม 4 ภูมิภาคของยูเครนไว้เป็นของตน โดยให้เหตุผลว่าการประณามจะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสงครามนิวเคลียร์และการล่มสลายทางเศรษฐกิจระดับโลก

การประชุมมีขึ้นในช่วงค่ำวันพุธตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกา มีผู้ออกเสียงประณามรัสเซีย 143 ประเทศ งดออกเสียง 35 ประเทศ เช่น ไทย จีน เวียดนาม ลาว อินเดีย เป็นต้น และออกเสียงคัดค้านมติ 5 ประเทศ ประกอบด้วย รัสเซีย เบลารุส เกาหลีเหนือ ซีเรีย และนิการากัว โดยสหประชาชาติมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ

“ไทยตัดสินใจงดออกเสียงในมติดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบัน สถานการณ์และบรรยากาศเต็มไปด้วยอารมณ์และมีความเปราะบางมาก จึงยิ่งลดทอนโอกาสสำหรับการทูตในภาวะวิกฤตซึ่งเป็นทางออกสู่การเจรจาที่สันติและเป็นรูปธรรมในความขัดแย้งนี้ จนอาจนำพาโลกตกสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดสงครามนิวเคลียร์และการล่มสลายทางเศรษฐกิจระดับโลก” ดร.สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ระบุผ่านหนังสือแถลงการณ์

“เรายังกังวลต่อการแปรเปลี่ยนหลักการระหว่างประเทศให้เป็นประเด็นการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีผลในแง่ลบต่อกระบวนการและหนทางสู่การยุติสงครามเสียเอง การประณามกระตุ้นให้เกิดการไม่ประนีประนอมต่อกัน จึงลดโอกาสในการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์อีกด้วย… เราจึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในโศกนาฏกรรมนี้ในยูเครน ลดความขัดแย้ง ความรุนแรง และแสวงหาสันติวิธีเพื่อยุติความแตกต่าง โดยการเปิดเผยความเป็นจริงในทางปฏิบัติ และข้อกังวลของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” ตอนหนึ่งของคำชี้แจง ระบุ

เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2565 นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ประกาศผนวกภูมิภาคโดเนตสก์, ภูมิภาคลูฮันสก์ทั้งหมด, ภูมิภาคซาปอรีเชีย, และดินแดนไครเมีย ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ทำให้สถานการณ์ระหว่างสองประเทศทวีความรุนแรงขึ้น นำมาสู่การลงมติประณามรัสเซียในครั้งนี้

ในก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ประกาศปฏิบัติการทางทหารในยูเครน โดยมีการนำทหารและอาวุธสงครามเข้าโจมตีหลายเมืองในยูเครน ซึ่งชนวนของการสู้รบครั้งนี้ สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ทั่วโลกเชื่อว่า เกิดจากการที่ยูเครนพยายามใกล้ชิดองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization - NATO) ที่รัสเซียเห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย และเมื่อยูเครนไม่ยอมเปลี่ยนท่าที รัสเซียจึงเริ่มโจมตี จนทำให้ทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

ส่วนแถลงการณ์สหประชาชาติ ระบุความตอนหนึ่งว่า “ประเทศสมาชิกหลายประเทศแสดงความเสียใจต่อการรุกรานของสหพันธรัฐรัสเซียที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้าน และการพยายามผนวกดินแดนของยูเครน โดยการเพิกเฉยต่อหลักการพื้นฐานที่องค์กรก่อตั้งขึ้น… การกระทำเหล่านี้เป็นการละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยของยูเครน และไม่สอดคล้องกับหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ สมัชชาประกาศ เรียกร้องให้ทุกรัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และหน่วยงานของสหประชาชาติไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงสถานะของทั้งสี่ภูมิภาคของยูเครนโดยสหพันธรัฐรัสเซีย”

221013-th-russia-resolution1.JPG

รัสเซียโจมตีด้วยขีปนาวุธในกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน วันที่ 10 ตุลาคม 2565 (รอยเตอร์)

ล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย

นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศคาซัคสถาน และรองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่า ไทยควรกล้าออกเสียงในประเด็นสำคัญบนเวทีนานาชาติ

“ไทยควรตัดสินใจเลือกความถูกต้อง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น รัสเซียกระทำผิดชัดเจน การโหวตจึงสะท้อนวิธีคิดของรัฐบาลได้ เพราะรัฐบาลประชาธิปไตยต้องยึดถือหลักการประชาธิปไตยเป็นสำคัญ ไทยจึงควรโหวตเหมือนประเทศส่วนใหญ่ เพราะเราไม่ได้มีผลประโยชน์มากถึงขนาดที่ต้องเกรงใจรัสเซีย แบบอินเดีย การตัดสินใจเรื่องนี้จึงไม่ควรเป็นเรื่องยาก” นายรัศม์ กล่าว

ด้าน นายเนียง ลิน นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อว่า เป็นอีกครั้งที่ไทยพยายามใช้แนวทางการทูตแบบไทย หรือ Siamese Talk

“การงดออกเสียงของไทยเรื่องยูเครน-รัสเซีย มองผ่านสายตาของชาวโลก คือไทยไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าเรื่องไหนถูกหรือผิด และน่าจะมีความกังวลเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจคล้ายกับหลายประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะจีนที่เชื่อว่าหนุนรัสเซียอยู่ แต่แน่นอน การงดออกเสียงหรือไม่งดออกเสียง ล้วนมีราคาที่ต้องจ่ายในประเด็นความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ เช่นกัน” นายเนียง ระบุ

ทั้งนี้ หลังจากที่รัสเซียได้นำกำลังทหารบุกเข้าไปในยูเครน นานาชาติได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรรูปแบบต่าง ๆ เช่น การหยุดซื้อเชื้อเพลิงจากรัสเซีย, ยกเลิกเที่ยวบินเข้าไปในรัสเซีย รวมถึงยุติการทำธุรกรรมทางการเงินกับรัสเซีย ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ไทยก็เป็นหนึ่งใน 141 ประเทศ ของสมัชชาสหประชาชาติที่ร่วมประณามการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ไทยเคยลงมติงดออกเสียงประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัสเซียต่อยูเครนมาแล้ว

ปฏิกิริยาในเวียดนาม

เวียดนาม เป็นหนึ่งในประเทศที่งดออกเสียงเช่นกัน นายโฮง ฮึง นักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลประจำกรุงโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย เครือข่ายร่วมกับเบนาร์นิวส์ ว่าท่าทีของรัฐบาลเวียดนาม ทำให้หลายคนผิดหวัง โดยเสริมว่าเวียดนามไม่ต้องการตอบโต้รัสเซีย เนื่องจากความสัมพันธ์ด้านกลาโหมและการสำรวจน้ำมันในทะเลจีนใต้

“มันเป็นแนวปฏิบัติของเวียดนาม ตั้งแต่เริ่มสงคราม [ยูเครน] ที่จะไม่การลงมติต่อต้านรัสเซีย” นายโฮง กล่าว

“อย่างไรก็ตาม [เรา] ควรให้ความสนใจต่อคำแถลงของผู้แทนเวียดนามในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เนื่องจากเวียดนามมีการเรียกร้องเสมอมา ให้เคารพกฎบัตรสหประชาชาติ เคารพอธิปไตยของชาติ และเคารพหลักการไม่ใช้กำลัง จึงเป็นที่เข้าใจกันว่า การเรียกร้องดังกล่าวหมายความว่า รัสเซีย [ไม่ควร] บุกยูเครน แต่การงดออกเสียงครั้งนี้ ขัดแย้งกับสิ่งที่เคยประกาศ ซึ่งทุกคนก็เห็นกันเช่นนั้น” นายโฮง กล่าว

ขณะที่ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยกล่าวว่า เวียดนามควรลงมติยูเอ็นร่วมประณามการกระทำรัสเซีย

“ในความเห็นของผม ถ้าโฮจิมินห์ยังมีชีวิตอยู่ เขาคงละอายใจที่เวียดนามไม่ลงมติ” วิลล์ เหงียน ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยชาวเวียดนาม-อเมริกัน กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย 

“ในความเป็นจริงนั้น ไม่มีอะไรมีค่าไปกว่าความเป็นอิสระและมีเสรีภาพ เวียดนามควรโหวตสนับสนุนยูเครน” วิลล์ เหงียน กล่าว

ปูตินยังไม่ตอบรับมาประชุมเอเปค

ในวันนี้ ช่องเนชั่นทีวี รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวสถานทูตรัสเซียว่า นายวลาดิเมียร์ ปูติน ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเดินทางมาร่วมประชุม APEC 2022 ในประเทศไทยช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 หรือไม่

ด้าน ดร. ปณิธาณ วัฒนายากร ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาล กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะโลกเพิ่งผ่านพ้นวิกฤติการระบาดของโควิด และเหล่าผู้นำประเทศสามารถที่จะพูดคุยเรื่องแผนการณ์และแนวคิดในการฟื้นฟูประเทศ

“ประการหนึ่ง การประชุมที่จะมีขึ้นนี้ ยังมีประโยชน์ที่ผู้นำระดับประเทศชั้นนำ จะสามารถพูดคุยแบบทวิภาคี หรือการพูดคุยนอกรอบเพื่อหารือเรื่องราวต่าง ๆ ที่สร้างความซับซ้อนให้กับสถานการณ์โลกในขณะนี้ การประชุมครั้งนี้ อาจจะปูทางไปสู่ทางออกของข้อพิพาทในปัจจุบัน และสถานการณ์ตึงเครียดอื่น ๆ” ดร. ปณิธาณ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง