รัฐบาลสั่งเร่งจัดการ แคดเมียม 1.5 หมื่นตันที่สมุทรสาคร

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.04.05
กรุงเทพฯ
รัฐบาลสั่งเร่งจัดการ แคดเมียม 1.5 หมื่นตันที่สมุทรสาคร กากสารแคดเมียม 1.5 หมื่นตัน ถูกบรรจุอยู่ในถุงปิด ณ โรงแรงงานแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567
กรมควบคุมมลพิษ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมลงพื้นที่เพื่อจัดการปัญหาพบ กากสารแคดเมียม 1.5 หมื่นตัน ใน จ.สมุทรสาคร ขณะที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับผลกระทบจากสารเคมี 

“การจัดเก็บกากแร่แคดเมียมจะต้องทำให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผมได้สั่งการให้ท่านรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมลงพื้นที่สมุทรสาครเพื่อกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายให้รวดเร็ว พร้อมทั้งวางมาตรการเพื่อควบคุมสารอันตรายเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกครับ” นายเศรษฐา เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว

ขณะเดียวกัน พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบแล้ว

“เบื้องต้น ยังไม่มีข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียมในบริเวณดังกล่าว และกากแคดเมียมและกากสังกะสี ซึ่งผสมด้วยปอร์ตแลนด์ซีเมนต์ 30% ปัจจุบัน อยู่ในสถานะแข็งตัวและเสถียร หากเก็บไว้ในสถานที่มิดชิดและไม่มีการชำระล้าง จะยังไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” พล.ต.อ. พัชรวาท กล่าว

“ผมไม่นิ่งนอนใจ จึงได้สั่งการไปยังกรมควบคุมมลพิษให้เก็บตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบหาสารปนเปื้อนทั้งในโรงงาน ในอากาศ และแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อรายงานผลให้ประชาชนรับทราบโดยด่วน” พล.ต.อ. พัชรวาท กล่าวเพิ่มเติม 

กรณีที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจาก นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส. ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวในวันที่ 3 เมษายน 2567 ว่า มีการร้องเรียนว่าบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.ตาก ขายกากแร่แคดเมียมซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งให้กับ บริษัทแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และส่งผลกระทบกับประชาชน

ในวันถัดมา นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และคณะจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานหลอมหล่ออะลูมิเนียมแท่ง บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ใน ต.บางน้ำจืด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พบกากแร่แคดเมียม 1.5 หมื่นตัน ที่ถูกขนย้ายมาจาก จ.ตาก จริง จึงได้สั่งการให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ

“ประกาศห้ามมิให้บุคคลใด ๆ เข้าไปอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใด ๆ ในพื้นที่โรงงานดังกล่าวเป็นระยะเวลา 90 วัน หากผู้ใดมีความจำเป็นต้องเข้าไปดำเนินกิจการใด ๆ ตามสิทธิหรือตามกฎหมายที่ให้อำนาจ หรือการดำเนินการเพื่อเป็นการบำบัดปัดป้องภัยพิบัติสาธารณะ หรือการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้แจ้งต่อนายอำเภอเมืองสมุทรสาครในฐานะผู้อำนวยการอำเภอก่อนเข้าดำเนินการ” นายผล กล่าว

นายผล ระบุว่า ปัจจุบัน ได้ห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปในพื้นที่ รวมทั้งห้ามหลอมกากแร่ดังกล่าว และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดได้อายัดกากแร่ทั้งหมดเอาไว้ เนื่องจากกากแร่นี้มีเงื่อนไขห้ามขนย้าย และจะต้องถูกฝังกลบจึงสั่งการให้นำกลับไปฝังที่ จ.ตาก โดยให้เวลาดำเนินการ 7 วัน และจะมีการดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 

“โรงงานนี้ (บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด) ได้รับอนุญาตให้กักเก็บและบดย่อยกากอุตสาหกรรม และหล่อหลอมอะลูมิเนียมเท่านั้น แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้หล่อหลอมกากแร่แคดเมียม การกระทำของโรงงานจึงถือว่ามีความผิดฐานประกอบการหล่อหลอมแคดเมียมโดยไม่ได้รับอนุญาต และยังเก็บวัตถุเป็นพิษโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย” นายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวกับสื่อมวลชน

ด้านตัวแทนโรงงาน (สงวนชื่อและนามสกุล) เปิดเผยว่า กากแร่แคดเมียมดังกล่าว ถูกขนย้ายมายังโรงงานตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้โรงงานจะเร่งดำเนินการขนย้ายแร่ทั้งหมดกลับไปยัง จ.ตาก ภายใน 7 วัน

ขณะที่ นางกัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวกับสื่อมวลชนว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น ยังไม่พบการปนเปื้อนของแคดเมียมสู่ภายนอก

240405_2.jpg
กรมควบคุมมลพิษเข้าเก็บตัวอย่างน้ำในโรงงานและบริเวณโดยรอบโรงงาน ไปตรวจสอบหาสารปนเปื้อน วันที่ 5 เมษายน 2567 (กรมควบคุมมลพิษ)

“จากการตรวจสอบโรงงานพบมีสารแคดเมียมในปริมาณเข้มข้น ส่วนดิน และไอระเหยการฟุงกระจายของสารปนเปื้อนโลหะหนัก ในชุมชนตั้งแต่ท้ายลม และเหนือลมในรัศมี 10 เมตรขึ้นไปยังไม่พบการปนเปื้อน คุณภาพน้ำในพื้นที่โรงงาน ลำรางสาธารณะ แหล่งน้ำ ในชุมชนมาตรวจสอบหาสารโลหะหนักปนเปื้อน คาดว่าจะรู้ผลในอีก 7 วัน” นางกัญชลี กล่าว

แคดเมียม เป็นโลหะหนัก มักพบปนอยู่กับแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แร่สังกะสี แร่ตะกั่ว หรือทองแดง และมักเป็นผลผลิตจากการทำเหมืองสังกะสี สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ผ่านการกิน และการหายใจ เมื่อถูกความร้อน 

321 องศาเซลเซียส สามารถกระจายเป็นควัน เมื่อเข้าสู่ร่างกายคนจะทำให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีปวดศีรษะ กล้ามเนื้อ ปวดท้อง ปอด ไต และตับ จะถูกทำลาย สามารถทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ระบบหายใจล้มเหลว และเป็นมะเร็งได้ 

ด้าน ดร. ทิพวรรณ ประภามณฑล นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่าการจัดการวิกฤตของประเทศไทยยังคงมีข้อบกพร่องในหลายด้าน โดยเฉพาะความล่าช้าในการจัดการ 

“การขนส่งกากแคดเมียม มันเกิดขึ้นมานานแล้วนะ แต่ทำไมเราเพิ่งรู้ อันนี้มันสะท้อนเลยว่าเราขาดการประสานงาน และการสื่อสารระหว่างหน่วยงานที่ยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงกลไกในการจัดการภาวะฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพกว่านี้” ดร. ทิพวรรณ ระบุ

“การประกาศพื้นที่จุดหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ให้เป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน ถือเป็นมาตรการที่จำเป็น เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถระดมกำลังในการช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาได้ประสิทธิภาพขึ้น แต่การใช้เวลาถึง 90 วัน มันอาจไม่ต้องนานขนาดนั้น เชื่อว่าภายในหนึ่งเดือนเราจะรู้ว่ามันได้รับผลกระทบทางสุขภาพมากน้อยเพียงใด” ดร. ทิพวรรณ กล่าวเพิ่มเติม

รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง