ครม. เห็นชอบร่างข้อตกลงแรงงาน ไทย-ซาอุดีอาระเบีย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2022.03.01
กรุงเทพฯ
ครม. เห็นชอบร่างข้อตกลงแรงงาน ไทย-ซาอุดีอาระเบีย แรงงานก่อสร้าง ขณะทำงานบนอาคารแห่งหนึ่ง ในกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย วันที่ 18 ตุลาคม 2560
รอยเตอร์

คณะรัฐมนตรี มีมติในวันอังคารนี้เห็นชอบร่างข้อตกลงเรื่องแรงงานระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย เพื่อขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน หลังจากที่ยุติไปเพราะเหตุแรงงานไทยขโมยเพชรบลูไดมอนด์จากพระราชวังซาอุดิอาระเบียเมื่อกว่าสามสิบปีก่อน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างข้อตกลงด้านแรงงานระหว่างกระทรวงแรงงานกับกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม ซาอุดีอาระเบีย 2  ฉบับ ประกอบด้วย หนึ่ง ร่างข้อตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงาน และสอง ร่างข้อตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงานทำงานบ้าน โดยตัวแทนจากซาอุดีอาระเบียจะมาลงนามข้อตกลงร่วมกับฝ่ายไทย ในสัปดาห์หน้า

“ร่างข้อตกลงแรงงานทั้ง 2 ฉบับ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความมั่นใจในการจัดหาแรงงานไทย ไปทำงานในซาอุดีอาระเบียอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีจริยธรรม และมีประสิทธิภาพ คุ้มครองสิทธิของนายจ้างและลูกจ้าง โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันดำเนินการนำไปสู่ระบบที่เป็นที่ยอมรับ ทั้งการจัดหาแรงงาน การจัดส่งแรงงานไปทำงาน และการส่งแรงงานกลับประเทศ” นายธนกร กล่าว

นายธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า แรงงานและนายจ้างจะมีสิทธิรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ และสามารถดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับสำนักงานจัดหางาน บริษัทจัดหางาน หรือตัวแทนจัดหางาน ในกรณีละเมิดกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อกำหนดที่ใช้บังคับได้

ทั้งนี้ ร่างข้อตกลง ฯ นี้ มีผลบังคับใช้ เมื่อมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร มีระยะเวลา 5 ปี และจะต่ออายุได้อีก 5 ปี โดยอัตโนมัติ เว้นแต่ภาคีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแสดงเจตจำนงระงับหรือสิ้นสุดข้อตกลง

นายธนกร ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะร่วมลงนามกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมซาอุดีอาระเบีย หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย โดยคาดว่า ฝ่ายซาอุดีอาระเบียจะเดินทางมายังประเทศไทยช่วงวันที่ 5-7 มีนาคม และจะลงนามในวันที่ 7 มีนาคม 2565

ด้านซาอุดีอาระเบีย จะเป็นฝ่ายระบุคุณสมบัติและประเภท ค่าจ้าง ผลประโยชน์ และเงื่อนไขอื่น ๆ สำหรับแรงงานไทย ฝ่ายไทยจะเป็นผู้ดูแลคุณสมบัติของแรงงานไทย ไม่ให้มีปัญหาสุขภาพ ไม่มีประวัติเสื่อมเสีย และเป็นผู้ผ่านการฝึกอบรมทักษะ รวมถึงอำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทาง

ร่างข้อตกลงดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเยือนซาอุดีอาระเบียของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามคำเชิญของ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2565 ซึ่งนับเป็นการเยือนของนายกรัฐมนตรีไทยครั้งแรกในรอบ 30 ปี  และเป็นผลจากการหารือระหว่าง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งซาอุดีอาระเบียมีความต้องการแม่บ้าน คนขับรถ พี่เลี้ยงเด็ก คนสวน จากประเทศไทย

นายฮานีฟ สาลาม นักวิจัยโครงการพหุวัฒนธรรมทางศาสนา ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย แรงงานและเยาวชนจะได้รับผลดี

“ผมเชื่อว่าการร่วมมือครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีของคนไทยในการไปทำงานที่ซาอุฯ การเดินหน้าความสัมพันธ์ครั้งนี้ของซาอุฯ น่าจะเป็นการพยายามคานอำนาจกับประเทศมุสลิมอื่น ๆ ที่มีบทบาทอย่างมากในการความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่ประเทศที่มีมุสลิม แต่ไม่ได้มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ ตุรกี บาห์เรน และหลายประเทศ ทำนนโยบายไว้ค่อนข้างดี” นายฮานีฟ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

เปิดน่านฟ้าบินตรงอีกครั้งในรอบกว่า 30 ปี

นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียได้เริ่มเปิดเส้นทางบินโดยตรงมายังประเทศไทยอีกครั้ง โดยเมื่อเวลา 18.05 น. ของวันจันทร์ที่ผ่านมา เครื่องบินของสายการบิน Saudi Arabian Airlines เที่ยวบิน SV846 บรรทุกผู้โดยสารจากซาอุดีอาระเบีย 71 คน เดินทางมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นครั้งแรกในรอบ 32 ปี

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยในวันอังคารนี้ว่า การเดินทางจากซาอุดีอาระเบียมีค่าใช้จ่ายคนละประมาณ 9 หมื่นบาท กระทรวงฯ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากซาอุดีอาระเบีย เดินทางมาไทย 2 แสนคน และตั้งเป้าจะมีนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง 5 แสนคน ในปี 2565 และตั้งเป้ารับนักท่องเที่ยว 1 ล้านคนในปี 2566

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง