มาเลเซียติดต่อรัฐบาลเงาเมียนมา อาเซียนล้มเหลวเมียนมาไม่ทำตามฉันทามติ 5 ข้อ

ไชลาจา นีลากันตัน
2022.04.25
วอชิงตัน
มาเลเซียติดต่อรัฐบาลเงาเมียนมา อาเซียนล้มเหลวเมียนมาไม่ทำตามฉันทามติ 5 ข้อ รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศอาเซียนเข้าร่วมสมัยประชุมพิเศษ ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565
เอพี

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซียเผยว่า เขาได้ติดต่อกับรัฐบาลเงาของพม่า มาเลเซียเป็นประเทศแรกของอาเซียนที่ยอมรับว่าติดต่อกับเมียนมา ขณะที่นักเคลื่อนไหวต่างโจมตีอาเซียนที่ล้มเหลวในการดำเนินตามแผนฉันทามติห้าข้อ เพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมา แม้เวลาจะผ่านไปแล้วหนึ่งปีก็ตาม

เมื่อวันอาทิตย์ นายไซฟุดดิน อับดุลละห์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ได้ตอบกลับจดหมายเปิดผนึกจากกลุ่มสมาชิกรัฐสภาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ส่งถึงผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียน ในจดหมายฉบับนั้น กลุ่มนี้ได้กระตุ้นให้อาเซียน “พบกับ NUG ทันทีและอย่างเปิดเผย” NUG หมายถึงรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือนคู่ขนานของเมียนมาที่ตั้งขึ้นมาหลังเกิดรัฐประหาร

“ผมได้พบกับรัฐมนตรีต่างประเทศของ NUG [ผ่านการประชุมทางไกลออนไลน์] และประธานสภาที่ปรึกษาสามัคคีแห่งชาติ (NUCC) อย่างไม่เป็นทางการ ก่อนการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่แล้ว เรามาพบกันและหารือกันเถอะ” รมว.ต่างประเทศมาเลเซียกล่าวผ่านทวิตเตอร์ โดยหมายถึงการประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการที่มีการพบตัวกัน และผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากที่ถูกเลื่อนออกไปท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างกันของเหล่าประเทศสมาชิก

ประธานสภาที่ปรึกษาสามัคคีแห่งชาติ (NUCC) ของเมียนมาประกอบด้วยผู้แทนของ NUG กลุ่มประชาสังคม กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ และกลุ่มพลเรือนที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร

ในทวีตดังกล่าว รมว. ต่างประเทศมาเลเซียได้แท็กกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) กลุ่มที่ส่งจดหมายเปิดผนึกเมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งปีที่ผู้นำอาเซียนและหัวหน้ารัฐบาลทหารพม่าได้ตกลงกันในระหว่างการประชุมสุดยอดวาระฉุกเฉิน เพื่อดำเนินการตามฉันทามติห้าข้อ หลังรัฐประหารในเมียนมา

เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว รมว.ต่างประเทศมาเลเซียผู้ปากกล้า ได้กล่าวว่า เขาจะเปิดการเจรจากับ NUG ถ้ารัฐบาลทหารพม่ายังคงไม่ให้ความร่วมมือกับอาเซียนในการพยายามหาทางแก้ไขข้อขัดแย้งในเมียนมา

เรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) หน่วยงานต้นสังกัดของเบนาร์นิวส์ ได้ติดต่อกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา ที่เป็นประธานอาเซียนของปีนี้ เพื่อขอความคิดเห็น แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับทันที

ขณะเดียวกัน โบละ ติงต์ ผู้แทนพิเศษของ NUG ประจำอาเซียน ได้ตั้งข้อกังขาถึงความจริงจังของอาเซียนต่อการแก้ไขวิกฤตในเมียนมา

“ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา อาเซียนล้มเหลวในการดำเนินการตามข้อพื้นฐานของข้อตกลงร่วมกันของอาเซียนเพื่อยุติความรุนแรง และยังล้มเหลวที่จะปฏิบัติตามข้อที่สอง นั่นคือ การกระจายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเป็นระบบ” โบละ ติงต์ บอก RFA

“ผมอยากจะบอกว่า ถ้าผู้นำอาเซียนไม่ดำเนินการใด ๆ ให้เกิดผล [ต่อรัฐบาลทหารพม่า] แสดงว่าผู้นำอาเซียนไม่จริงจังกับนโยบายหรือกรอบงานที่ผู้นำอาเซียนเป็นผู้กำหนดเอง

ความล้มเหลวห้าข้อ

ในมาเลเซีย นักวิเคราะห์สองคนกล่าวยกย่อง รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ที่กล้าท้าทายอาเซียนและเริ่มดำเนินการตามลำพัง

“มาเลเซียเป็นผู้นำในการเรียกร้องให้ทบทวนแนวทางของอาเซียนที่มีต่อเมียนมา (หลังจากหนึ่งปีที่ไม่เป็นไปตามฉันทามติห้าข้อของอาเซียน) โดยยอมรับว่ามีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับรัฐบาลเงาของเมียนมา” บริเจ็ต เวลช์ นักวิเคราะห์การเมืองที่มหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม มาเลเซีย ได้ทวีตไว้

นักวิเคราะห์อีกคนคือ ไอซาต ไครี อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยกัวลาลัมเปอร์ เห็นด้วย

“ปฏิกิริยาของนายไซฟุดดิน อับดุลละห์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ต่อจดหมายเปิดผนึกของ สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน” เขาบอกเบนาร์นิวส์

ฉันทามติห้าข้อที่ตกลงกันระหว่างผู้นำอาเซียน และพล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย หัวหน้ารัฐบาลทหารพม่า เมื่อวันที่ 24 เมษายนปีที่แล้ว ได้แก่ การยุติความรุนแรง การจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การแต่งตั้งผู้แทนพิเศษอาเซียน การเจรจาระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และการไกล่เกลี่ยโดยผู้แทนพิเศษอาเซียน

อาเซียนไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามข้อใดเหล่านี้เลย จอชัว เกอร์ลันซิก นักวิชาการอาวุโสผู้เชี่ยวชาญเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Foreign Relations) สถาบันคลังสมองในกรุงวอชิงตัน กล่าว

“ผมคิดว่า ทุกข้อ [ของฉันทามตินั้น] ล้มเหลวอย่างแน่นอน ยิ่งตอนนี้กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน และจีนให้การหนุนหลังรัฐบาลทหารพม่ามากขึ้นเรื่อย ๆ จึงไม่มีทางเลยที่จะเป็นไปตามฉันทามติ หรือที่อาเซียนจะทำอะไรจริงจังเกี่ยวกับเมียนมา” โจชัว เคอร์แลนท์ซิก บอกกับเบนาร์นิวส์

“ถอดเมียนมาจากสมาชิกภาพของอาเซียนชั่วคราว จนกว่าจะกลับสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย... แต่อาเซียนคงจะไม่ทำเช่นนั้น”

เขาหมายถึงการที่จีนหนุนหลังเมียนมาในเวทีนานาชาติ รวมทั้งที่สหประชาชาติ นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เมื่อพล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลสันนิบาตแห่งชาติประชาธิปไตย (NLD) ที่มาจากการเลือกตั้ง

นโยบายที่มีมาช้านานของอาเซียนคือ สมาชิกทั้ง 10 ประเทศจะตัดสินใจร่วมกันโดยใช้ฉันทามติ หากประเทศใดประเทศหนึ่งคัดค้านข้อเสนอหนึ่ง ข้อเสนอนั้นเป็นอันตกไป สมาชิกอาเซียนบางประเทศไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการที่เข้มงวดกับเมียนมามากไปกว่าการห้ามผู้แทนของรัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของอาเซียน บรรดานักวิเคราะห์กล่าว

“ความล้มเหลวห้าข้อ” คือสิ่งที่สภาที่ปรึกษาพิเศษสำหรับเมียนมา (SAC-M) กลุ่มเอกเทศที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ เรียกฉันทามติของอาเซียน

“รัฐบาลทหารพม่าไม่ได้ทำตามข้อใดเลยแม้แต่ข้อเดียวในฉันทามติห้าข้อนั้น ข้อตกลงนั้นล้มเหลว และอาเซียนจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทาง” มาซูกิ ดารุสแมน สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวในแถลงการณ์ที่ออกเมื่อวันศุกร์

สภาที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า ในความเป็นจริง ตั้งแต่ที่พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ตกลงตามฉันทามติดังกล่าว ทหารเมียนมาโจมตีประชาชนมากขึ้น และมุ่งเป้าไปที่การกักขังฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองต่อไป นับแต่เกิดรัฐประหาร กองกำลังความมั่นคงของพม่าสังหารประชาชนไปแล้วเกือบ 1,800 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย

220425-th-SEA-ASEAN-BU-inside.jpg

ภาพถ่าย หมู่บ้านบิน ในมินกิน เมืองในเขตซาแกง ในเมียนมา จากโดรน หลังจากชาวบ้านบอกว่ากองทหารพม่าจุดไฟเผา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 (รอยเตอร์)

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า จำเป็นต้องหยุดส่งอาวุธให้แก่กองกำลังความมั่นคงของเมียนมา

“นักเคลื่อนไหวเหล่านี้ต้องการการสนับสนุนอย่างเร่งด่วนจากประชาคมระหว่างประเทศ ในรูปของการคว่ำบาตรทางอาวุธทั่วโลก เพื่อหยุดกองทัพเมียนมาจากการใช้อาวุธสงครามเพื่อสังหารผู้ที่ทำการประท้วงอย่างสันติ” เอเมอลินน์ กิล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเมื่อวันศุกร์

นอกจากนี้ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ยังวิจารณ์รัฐบาลของประเทศโลกตะวันตกด้วยว่า ฉันทามติห้าข้อของอาเซียนได้ “กลายเป็นข้ออ้างแก่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ในการชะลอการดำเนินการที่แท้จริง ภายใต้คำกล่าวอ้างว่ารอการนำของอาเซียน”

“รัฐบาลทหารพม่าได้ฉวยโอกาสที่ประชาคมระหว่างประเทศยอมตามอาเซียน ซึ่งมีประวัติยาวนานว่าละเลยความรับผิดชอบของตนในการปกป้องประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้หลักการของอาเซียนว่าด้วยฉันทามติและการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน” องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว

กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลทหาร : กระบวนการสันติภาพ จะสำเร็จโดยฝ่ายเดียวไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารพม่ากล่าวว่า รัฐบาลทหารกำลังไปในทิศทางที่ถูกต้อง

“ในการต่อรองเพื่อสันติภาพ รัฐบาลจะทำตามที่ขอได้มากแค่ไหน... กระบวนการเพื่อสันติภาพจะสำเร็จโดยฝ่ายเดียวไม่ได้” เตอิน ตุน อู ผู้อำนวยการบริหารของ Thayningha Strategic Studies กลุ่มอดีตนายทหารบอกกับ RFA

“ทั้งรัฐบาลและกองทัพได้ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว และได้เสนอให้มีการเจรจาเพื่อสันติภาพ... เรายังไม่เห็นการตอบสนองที่น่าพอใจจาก EAO [กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ] ตอนนี้เรามีคำถามว่า ประชาคมระหว่างประเทศอยากพูดอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้”

แต่สมาชิกรัฐสภาอาเซียนบอกว่า พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐประหารเมียนมา “ไม่มีเจตนาแต่อย่างใดที่จะปฏิบัติตามฉันทามติของอาเซียน เว้นแต่เขาจะถูกกดดันอย่างจริงจังให้ทำเช่นนั้น”

“ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนจะต้องลงโทษเขา... ความน่าเชื่อถือของอาเซียนขึ้นอยู่กับความสามารถของอาเซียนในการดำเนินการตามความเป็นจริงของสถานการณ์ในเมียนมา” สมาชิกรัฐสภาอาเซียนกล่าวในจดหมายเปิดผนึกถึงอาเซียน

“คำถาม… ตอนนี้คือ อาเซียนจะยอมให้กองทัพก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และคุกคามความมั่นคงของมนุษย์และพัฒนาการของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ต่อไปอีกหนึ่งปียังงั้นหรือ?”

นิชา เดวิด และสุกันยา ลิงเก็น ในกัวลาลัมเปอร์ และซิน มาร์ วิน จากเรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษาเมียนมา ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง