คนไทยรอคอยเศรษฐาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

จิตต์สิรี ทองน้อย
2024.05.26
กรุงเทพฯ
คนไทยรอคอยเศรษฐาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบปะกับ นายแอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ทำเนียบประธานาธิบดีฯ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 16 พฤษภาคม 2567
เอเอฟพี

ในฐานะเจ้าของกิจการตู้ขายสินค้าของชำ และเครื่องดื่มต่าง ๆ รักติ ญวนกระโทก มีโอกาสเห็นพฤติกรรมการจับจ่ายของชาวบ้านได้อย่างไม่มีใครเหมือน

หากแต่แนวโน้มในการใช้สอยดูไม่ดีเท่าไร เนื่องจากคนกดซื้อขายของน้อยลงมาก ในจังหวัดขอนแก่นที่รักติอาศัยอยู่ และได้วางตู้ไว้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ กว่าพันตู้

“ตู้ที่เราติดตั้งในชุมชน เราเห็นกำลังซื้อมันลดลง เคยมีพันตู้ในขอนแก่น เราก็ถอนตู้ออกไปเรื่อย ๆ ต่อเนื่องตั้งแต่โควิดแล้วก็ยังไม่ฟื้นเลย” รักติกล่าวกับเบนาร์นิวส์

รักติกล่าวว่า นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขายังไม่มีแผนการขยายกิจการทั้งในธุรกิจนี้และธุรกิจอื่น ๆ ที่เขามี ทั้งในภาคการขนส่งและอสังหาริมทรัพย์ นอกเหนือไปจากการที่ธนาคารไม่ค่อยปล่อยให้กู้ยืมเงินในช่วงนี้

รักติคาดหวังว่า รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางเศรษฐกิจ "เพราะเรามีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาอย่างยาวนาน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ พอมีรัฐบาลใหม่ก็มีความคาดหวังสูง แต่ก็ไม่ได้เป็นตามคาดหวังร้อยเปอร์เซนต์”

“ตอนนี้กำลังซื้อไม่ค่อยดี อย่าว่าแต่คิดก่อนใช้เลย แต่เงินในกระเป๋าไม่ค่อยมีให้คิดเลย”

หลังเข้ารับตำแหน่งเก้าเดือนก่อน รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสินได้เริ่มทำงานด้านเศรษฐกิจ ผสมผสานระหว่างการใช้นโยบายประชานิยม นโยบายทางการทูต และโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ โดยมีการเดินทางอย่างบ่อยครั้งไปยังหลายประเทศทั่วโลก เพื่อโปรโมทประเทศไทยว่ามีความพร้อมในการเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ 

แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ความพยายามของนายเศรษฐาถูกกลบด้วยความเชื่องช้าของเศรษฐกิจไทย ที่ยังไม่สามารถกระเตื้องขึ้นได้เสียที แม้ว่าการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาปากท้อง จะเป็นตัวชูโรงของพรรคเพื่อไทยในช่วงการเลือกตั้งในปี 2566 ก็ตาม 

TH-economy-2.jpg
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยืนข้างนายคริสเตียน ฮอนเนอร์ หัวหน้าทีมเรดบูล (Red Bull) ที่สนามอิโมลาเซอร์กิต ประเทศอิตาลี วันที่ 19 พฤษภาคม 2567 (เอพี)

โดยนโยบายหลักคือ ดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นการคาดหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบขนานใหญ่ ด้วยการให้คนไทยจับจ่ายใช้สอยผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ที่จนถึงปัจจุบันหลายฝ่ายยังไม่เชื่อมั่นว่าจะได้เริ่มต้นในไตรมาสสี่ตามที่นายกรัฐมนตรีรับปากหรือไม่ 

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการเดินสายพบปะกับผู้นำทางการเมืองและภาคเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยล่าสุดได้พบปะกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส นายแอมานุแอล มาครง และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอิตาลี นางจอร์จา เมโลนี ในระหว่างการเดินทางเยือนสองประเทศอย่างเป็นทางการ โดยเป็นการเยือนนครปารีสครั้งที่สองของนายเศรษฐา หลังจากไปเยือนครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

หมายกำหนดการของนายเศรษฐา มีการพบปะกับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคแฟชั่นและเครื่องประดับไฮเอนด์ เพื่อหวังยกระดับความร่วมมือกับภาคการออกแบบและสินค้าแฟชั่นของไทย และยังมีการเจรจาขยายความร่วมมือทั้งในด้านการท่องเที่ยว พลังงาน และรถยนต์ไฟฟ้า 

TH-economy-3.jpg
เรือขนส่งสินค้า ณ ท่าเรือกรุงเทพ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

นอกจากนั้นแล้วยังมีการนำเสนอโครงการเมกะโปรเจกต์แลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อทางบกในแถบคอคอดกระของไทย เพื่อเชื่อมมหาสมุทรอินเดียเข้ากับมหาสมุทรแปซิฟิกโดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ทั้งนี้นายเศรษฐากล่าวว่า ทางกลุ่มธุรกิจของอิตาลีได้ให้ความสนใจกับโครงการนี้

นายเศรษฐายังได้เข้าพบกับ Formula One Group ผู้ถือสิทธิ์ในการจัดการแข่งขันรถ FIA Formula One World Championship หรือ F1 โดยแสดงวิสัยทัศน์ว่าประเทศไทยอาจได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน F1 ในอนาคต

“ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นเจ้าภาพ F1 ได้ และการจัด F1 จะนำการจ้างงาน รายได้ และความรู้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทย สร้างประโยชน์มหาศาลต่อคนไทยในหลายมิติ อยากให้ทุกคน โดยเฉพาะแฟน ๆ Motor Sport ช่วยกันเป็นกระบอกเสียง และช่วยผลักดันให้ไทยได้เป็นเจ้าภาพ F1 เพื่อเศรษฐกิจไทย เพื่อคนไทยทุกคนครับ” นายเศรษฐากล่าวทาง X ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ตัวเลขทางเศรษฐกิจน่าหดหู่

ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนทวีปยุโรปนั้น ข่าวคราวด้านเศรษฐกิจในประเทศไทยกลับน่ากังวล ซึ่งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัวที่ 1.5% โดยข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงในช่วงเวลาที่เหลือของปี ยังเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

เป้าหมายของนายเศรษฐา คือ นำพาเศรษฐกิจไทยให้โตในระดับ 5% ต่อปี โดยในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตอยู่ที่ 1.9% ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะโตอยู่ที่ราว 3% ในปี 2568

สศช. ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ในกรอบ 2% - 3% จากเดิมที่ 2.2% - 3.2%

TH-economy-4.JPG
ผู้คนจับจ่ายสินค้าที่ตลาดสดในกรุงเทพมหานคร วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 (อาทิตย์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์)

รักติ เจ้าของกิจการในจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ตนเองยังไม่ค่อยแน่ใจในทิศทางของประเทศไทยโดยรวมว่าจะเป็นอย่างไร

“ในระยะสั้นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกคนดูว่าเรากำลังไปถูกทาง ทุกคนจะได้กล้าลงทุน กล้าใช้สอย มันยังไม่ชัดว่าความเชื่อมั่นอยู่ตรงไหน”

“นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็เป็นความคาดหวังว่าจะใช้ปลายปี ก็ไม่รู้ว่าปลายทางจะได้ใช้จริงมั้ย ก็ทำให้ความเชื่อมั่นไขว้เขว

"เรื่องแลนด์บริดจ์ ก็เป็นการวาดฝันทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไกลตัวว่าผู้ประกอบการใครจะได้ประโยชน์มาก ถ้ามองอย่างผิวเผินผมอยู่ภาคอีสาน พื้นที่ที่ได้ประโยชน์น่าจะเป็นใต้ตอนบน หรือกลางตอนล่างมากกว่า”

ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยทุกเดือน วัดจาก 6 องค์ประกอบ ได้แก่ การผลิต คำสั่งซื้อ การลงทุน ต้นทุนการผลิต ผลประกอบการ และการจ้างงาน ในเดือนเมษายนมีอัตราลดลงจากเดือนก่อนหน้า

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 1/2567 พบว่า ภาพรวมดัชนีเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 52.36 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 67.81 โดยปัจจัยเป็นลบได้แก่ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจน ภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และกำลังซื้อโดยรวมลดลง  

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายเดือนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ในเดือนมีนาคม โดยปัจจัยที่สำคัญคือ การลดลงของยอดการผลิตรถยนต์ภายในประเทศ นอกจากนั้นแล้วยอดขายรถยนต์ในประเทศยังลดลงถึงเกือบ 25% ในช่วงไตรมาสแรก และกระทรวงพาณิชย์ ยังรายงานภาวะการส่งออกของไทยติดลบ 10.9% ในเดือนมีนาคมเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน

TH-economy-5.JPG
คนงานไทยทำงานในโรงงานผลิตรถยนต์ของเครือบริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล ในอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 (รอยเตอร์)

ตัวช่วยภาคเศรษฐกิจไทยยังเป็นการท่องเที่ยว โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 13.7 ล้านคน ระหว่างวันที่ 1 มกราคมถึง 19 พฤษภาคม ตามข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา

“หลาย ๆ คนยังไม่พร้อมลงทุนขยายกิจการ ยังจด ๆ จ้อง ๆ ทั้งเรื่องความไม่ชัดเจนนโยบายในประเทศ และเรื่องภูมิรัฐศาสตร์” รศ.ดร. ปิติ ศรีแสงนาม จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว

“รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบชอร์ตไฟฟ้า ไม่ใช่แบบหยอดน้ำข้าวต้มด้วยดิจิทัลวอลเล็ต แต่จนถึงตอนนี้มันก็ยังไม่เกิดขึ้น ก็เลยทำให้ความเชื่อมั่น หรือแผนการทุกอย่างก็ซึมและซมไป”

นักวิชาการอีกรายเห็นว่า นโยบายของนายเศรษฐามองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ

“นโยบายและโครงการต่าง ๆ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย คือปัญหาผลิตภาพต่ำและการขาดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ” ศ.ดร. ภวิดา ปานะนนท์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว

“หากไม่มีการพัฒนาปรับปรุงปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น บุคลากรที่มีทักษะ ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นธรรม นโยบายประชานิยมเหล่านี้อาจจะไม่เพียงพอที่จะพยุงเศรษฐกิจ และอาจจะทำให้สายเกินไปที่จะแก้ไขเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องการการปรับโครงสร้างอย่างมาก” 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง