ประเทศไทย : เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเร่งดับไฟป่า หมอกควันยังเข้าขั้นวิกฤต

นาวา สังข์ทอง
2023.03.30
เชียงใหม่
air pollution-1.JPG

เฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย (KA-32) บินขึ้นหลังบรรจุน้ำในอ่างเก็บน้ำแม่เย็น จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่กองพลทหารราบที่ 7 เพื่อภารกิจดับไฟป่า วันที่ 21 มีนาคม 2566 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)

air pollution-2.JPG

เฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย (KA-32) ขณะบินนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่เย็น จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อไปดับไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ วันที่ 21 มีนาคม 2566 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)

air pollution-3.JPG

เจ้าหน้าที่ดับเพลิงขึ้นเฮลิคอปเตอร์แบบ KA-32 ที่กองพลทหารราบที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนบินไปสูบน้ำที่อ่างเก็บน้ำแม่เย็น เพื่อดับไฟป่า วันที่ 21 มีนาคม 2566 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)

air pollution-4.jpg

มลพิษทางอากาศบริเวณดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 21 มีนาคม 2566 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)

air pollution-5.jpg

ภาพมุมสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มองจากสถานีรถไฟฟ้าท่าพระ ดูเลือนลาง เพราะถูกปกคลุมไปด้วยหมอก PM2.5 กรุงเทพฯ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)

air pollution-6.jpg

มุมมองจากบริเวณถนนรอบพระตำหนักจิตรลดา เห็นยอดตึกใบหยกเลือนลางจากฝุ่น PM2.5 กรุงเทพฯ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)

air pollution-7.jpg

พื้นที่ธุรกิจบริเวณถนนรัชดาและลาดพร้าวมองจากดาดฟ้าของตึกกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) ที่ปกคลุมไปด้วยหมอก PM2.5 จะดูขมุกขมัว วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)

air pollution-8.jpg

พื้นที่ธุรกิจบริเวณบางรักและสีลม เมื่อมองจากดาดฟ้าชั้นลอยของตึกไอคอนสยาม ที่ปกคลุมไปด้วยหมอก PM2.5 กรุงเทพฯ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)

กองทัพบก และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมมือกันโดยใช้เฮลิคอปเตอร์แบบ KA-32 ปฏิบัติการดับไฟป่า เพื่อลดต้นตอของหมอกควัน โดยเฮลิคอปเตอร์จะขึ้นบินจากกองพลทหารราบที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ ไปสูบน้ำที่อ่างเก็บน้ำแม่เย็นไปทิ้งในจุดที่เกิดไฟไหม้ สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในพื้นที่ภาคเหนือ

กองทัพบกเปิดเผยว่า ในปี 2566 เฮลิคอปเตอร์ทิ้งน้ำไปแล้วกว่า 120 เที่ยว ใช้น้ำไปมากกว่า 3.7 แสนลิตร โดยปฏิบัติการล่าสุดคือ ภารกิจดับไฟป่า ดอยพระบาท จังหวัดลำปาง ด้านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เผยว่า วันที่ 29 มีนาคม 2566 ไทยพบจุดความร้อน 2,870 จุด, เมียนมา 3,964 จุด และสปป.ลาว 2,139 จุด

ในปฏิบัติการแต่ละครั้ง เฮลิคอปเตอร์จะบินต่ำเหนือผิวน้ำ 3 เมตร ใช้เวลาเพียง 1 นาที สูบน้ำ 3 พันลิตร ใส่ถังใต้ท้องเครื่อง และนำน้ำไปทิ้งไว้รอบ ๆ พื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ เพื่อเป็นแนวกันไฟ โดยจะไม่ทิ้งน้ำลงบนประกายไฟ เพราะอาจทำให้เกิดสะเก็ดไฟลุกลามไปในพื้นที่อื่น ๆ ได้

ประเทศไทยเริ่มต้นปีใหม่ 2566 ด้วยสภาพอากาศที่เลวร้ายอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ยกเว้นภาคใต้ โดยในวันที่ 30 มีนาคม 2566 ทุกจังหวัดในภาคเหนือ ล้วนมีค่า PM2.5 เกิน 100 ทั้งสิ้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเรียกได้ว่า เข้าขั้นวิกฤต ปกติค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตามมาตรฐานของไทยต้องไม่สูงเกิน 50 มคก./ล.บม. ขณะที่มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกต้องไม่เกิน 25 ​​มคก./ล.บม.

ในวันพฤหัสบดีนี้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮองสอน PM2.5 อยู่ในระดับ 447 ครองอันดับหนึ่งของภูมิภาค ไล่หลังมาด้วย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ระดับ 373 อยู่อันดับสอง แม้ปัจจุบันค่าฝุ่นในกรุงเทพฯ จะอยู่ในระดับที่ดีขึ้น แต่หากย้อนกลับไปประมาณ 1 เดือนที่แล้ว ทุกเขตของกรุงเทพฯ ก็มีค่า PM2.5 เกิน 100 ทั้งสิ้น เรียกได้ว่า ปัญหาฝุ่นเกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และตลอดภาคเหนือ

“ปีนี้หมอกควันไฟป่าในภาคเหนือหนักกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งจากสถานการณ์ไฟป่า สภาพอากาศ รวมถึงหมอกควันข้ามแดน” พ.อ. วรจรรกดิ์ เตปิน หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 บอกเบนาร์นิวส์ เมื่อสัปดาห์ก่อน

“สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับกับหุบเขา พื้นที่ราบมีจำกัด ทำให้เกษตรกรต้องเพาะปลูกพืชอายุสั้นในป่าเขตที่สูง และใช้ไฟจัดการเศษพืช เพื่อเตรียมการเพาะปลูก” ผศ.ดร. ศุทธินี ดนตรี ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

“ยังไม่สามารถลดการเผาได้ มันก็สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการแก้ไขมีปัญหา โดยเฉพาะการไม่มีหน่วยงานที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหา และกฎหมายที่ไม่บูรณาการ” ผศ.ดร. สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวชี้ถึงปัญหา

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามในการแก้ปัญหา แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นยังมีความรุนแรงอยู่ และทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา และความร่วมมือระหว่างประเทศ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุล่าสุดว่า ไทยได้ประสานขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ

“เราทำหนังสือขอความร่วมมือเพื่อให้เลขาธิการอาเซียนทำหนังสือไปยังรัฐบาลต่าง ๆ มีการทำหนังสือร้องเรียน และหนังสือโต้แย้งไปทุกระยะ ซึ่งเป็นผลบ้าง ไม่เป็นผลบ้าง และในทุกเวทีที่มีการประชุมระดับนานาชาติ ผมและกระทรวงทรัพยากรฯ เราเดินหน้าเรียกร้องไปทุกครั้ง” นายวราวุธ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง