‘รถไต่ถัง’ ของพ่อลูกนักบิดท้าแรงโน้มถ่วง อาชีพที่ใกล้เลือนหาย

มหรสพคู่งานวัดไทยมาร่วมร้อยปี เหลือเพียง 2 คณะสุดท้าย
สุรินทร์ พิณสุวรรณ
2023.11.10
สมุทรปราการ
dare-devil_001.jpg

‘เต้ ไต่ถัง’ วุฒิพันธ์ กัลยาณพันธ์ วัย 23 ปี ทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวกัลยาณพันธ์ ทำการแสดงผาดโผนขับมอเตอร์ไซค์ปล่อยมือ ในงานพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)

dare-devil_002.jpg

รถมอเตอร์ไซค์รุ่น Yamaha pw 50 ของ ‘เต้ ไต่ถัง’ ที่ใช้ฝึกทำการแสดงตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ตั้งแสดงหน้างาน ‘คณะรถไต่ถังวุฒิชัย’ งานพระสมุทรเจดีย์ สมุทรปราการ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)

dare-devil_003.jpg

ถังไม้ขนาดใหญ่ที่ต้องใช้การประกอบกว่า 3 วัน กว้าง 16 เมตร สูง 6 เมตร ใช้เป็นสถานที่แสดงความสามารถของ ‘รถไต่ถัง’ แบบเต็มรูปแบบหาชมได้ยาก วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)

dare-devil_004.jpg

‘เต้ ไต่ถัง’ ขณะขับรถรับทิปจากผู้ชม ซึ่งยืนชมรอบถังการแสดง ภายในงานพระสมุทรเจดีย์ ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)

dare-devil_006.jpg

ค่าเข้าชมต่อคนที่ 60 บาท ในอดีตเก็บค่าเข้าชม 30 บาท แต่ปัจจุบันมีต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งค่าเช่าสถานที่และค่าขนย้าย งานพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)

dare-devil_008.jpg

ภายในถังไม้ทรงกลมที่ใช้ทำการแสดงรถไต่ถัง ประกอบด้วยแผ่นไม้ทั้งหมด 34 แผ่น กว้าง 16 เมตร สูง 6 เมตร ใช้เวลาติดตั้งกว่า 3 วันจึงแล้วเสร็จ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)

dare-devil_011.jpg

วุฒิพันธ์ กัลยาณพันธ์ หรือ เต้ ไต่ถัง ไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้การแสดงเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)

dare-devil_015.jpg

ผู้ชมยื่นทิปให้กับนักแสดงมอเตอร์ไซค์ไต่ถัง ระหว่างขับมอเตอร์ไซค์ด้วยความเร็วประมาณ 50-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนความสูง 6 เมตร งานพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)

dare-devil_016.jpg

วุฒิพงศ์ กัลยาณพันธ์ น้องชาย วัย 21 ปี ชูมือรับทิปที่ได้จากผู้ชม วุฒิพงศ์มีงานประจำ แต่มาแสดงในช่วงวันหยุดเพื่อช่วยครอบครัวหารายได้ งานพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)

dare-devil_021.jpg

‘เต้ ไต่ถัง’ ขับรถมอเตอร์ไซค์คู่กับพ่อของเขา วุฒิชัย กัลยาณพันธ์ ที่ขับรถยนต์ เป็นการแสดงเต็มรูปแบบ หาชมได้ยากในปัจจุบัน วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)

รถไต่ถัง เป็นมหรสพที่อยู่คู่กับงานวัดมาอย่างช้านาน ผ่านความนิยมตามกาลเวลาจากในอดีตมีคณะรถไต่ถังกว่า 10 คณะ ตระเวนทำการแสดงตามงานรื่นเริงต่าง ๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบันในประเทศไทยเหลือคณะที่ทำการแสดงรถไต่ถังเต็มรูปแบบที่แสดงโชว์ทั้งรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์เพียง 2 คณะ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘คณะรถไต่ถังวุฒิชัย’ ที่ออกแสดงมาร่วม 40 ปีแล้ว

ทว่าด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ช่องทางในการหาความบันเทิงของผู้คนหลากหลายกว่าในอดีต ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ประกอบกับต้นทุนที่สูงและหาผู้สืบทอดบนความเสี่ยงได้ยาก

การแสดงรถไต่ถังได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกกว่าร้อยปีแล้ว นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1911 ก่อนรู้จักกันในชื่อ ‘Wall of Death’ เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตจากการแสดงดังกล่าวทั้งนักแสดงและผู้ชม ภายหลังการแสดงขับรถหมุนวนด้วยความเร็วท้าทายแรงโน้มถ่วงของโลกนี้ได้กระจายไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยมี  'นายเลื่อน กระดูกเหล็ก' เป็นคนไทยคนแรกที่สามารถขับแสดงรถมอเตอร์ไซค์ไต่ถังได้

“พ่อพาผมนั่งมอเตอร์ไซค์ไปด้วยตั้งแต่ 5 ขวบ จนถึงอายุ 7 ขวบ ผมได้เริ่มหัดเอง” วุฒิพันธ์ กัลยาณพันธ์ เจ้าของฉายา ‘เต้ ไต่ถัง’ วัย 23 ปี เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวกัลยาณพันธ์ที่ยังคงสืบทอดทักษะความรู้การขับรถไต่ถังของครอบครัวทำการแสดงจนถึงทุกวันนี้

เขาสนใจและพยายามฝึกฝนโดยได้รับการถ่ายทอดความรู้จากพ่อ ‘วุฒิชัย กัลยาณพันธ์’ ผู้ซึ่งหัดขับรถไต่ถังมาตั้งแต่อายุ 14 ปี เป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษที่ ‘คณะรถไต่ถังวุฒิชัย’ ตระเวนแสดงสร้างความสุขให้ผู้ชมมาแล้วทั่วประเทศ 

‘เต้ ไต่ถัง’ เริ่มมองหาวิธีการใหม่ ๆ ในการช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนสนใจ และอยากติดตามดูการแสดงของเขา เขาใช้สื่อโซเชียลมีเดียหลายช่องทางในการประชาสัมพันธ์ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ และติ๊กต็อก

“เราพยายามใช้โซเชียลในการประชาสัมพันธ์ สมัยก่อนคนที่ดูรถไต่ถังเขาดูครั้งเดียวแล้วเขาก็พอ แต่ทุกวันนี้ผมพยายามขยายฐานคนดู เราต้องมีตัวตน อยากให้เขามาดูเรา ว่าเราแสดงสนุกขนาดไหน เสียวขนาดไหน ไม่เหมือนคนอื่น อารมณ์ซื้อบัตรแล้วไม่ได้ดูแค่รถไต่ถังให้ดูความสนุกของเราด้วย”

จากจุดเริ่มต้นในครอบครัวรถไต่ถัง เต้บอกว่า เขาผูกพันและอยากสานต่ออาชีพขับรถไต่ถังของครอบครัว

“ผมรักมัน อยู่กับมันมาตั้งแต่เกิด มันเหมือนเป็นลมหายใจของผม ผมทำเพราะผมเป็นแขนเป็นขาให้พ่อผมด้วย คือเขาจะหมดลมหายใจแล้ว เขาเริ่มแก่ตัวไปแล้ว เราอยากมาสืบทอดให้เขาเป็นตำนาน เรามาทำต่อให้คนรุ่นใหม่ ๆ ได้เห็น ถ้าเราไม่ทำคนทั้งประเทศอาจจะไม่ได้เห็นรถไต่ถังก็ได้”

วุฒิชัย กัลยาณพันธ์ ผู้เป็นพ่อของ ‘เต้ ไต่ถัง’ กล่าวว่าเขารู้สึกภูมิใจที่มีลูกชายมาช่วยสานต่อตำนาน ‘คณะรถไต่ถังวุฒิชัย’ การแสดงรถไต่ถัง ซึ่งเหลือเพียง 2 คณะในปัจจุบัน ก่อนที่อาจจะเลือนหายไปจากประเทศไทย

“ผมภูมิใจมาก และเขาได้ใจผมหมด ผมไม่เคยบังคับลูกผมว่าจะขับหรือไม่ขับ เขาชอบของเขาเอง เราก็รู้สึกดีที่มีผู้สืบทอดการแสดงโชว์รถไต่ถังสร้างความสุขให้คนรุ่นหลังได้ดูก่อนมันจะหายไป”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง