เรือนจำส่งทักษิณเข้า รพ.ตำรวจ กลางดึก
2023.08.23
กรุงเทพฯ

นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีอาการป่วยที่ทางโรงพยาบาลตำรวจต้องดูแลอีกระยะหนึ่ง หลังจากที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ได้ส่งตัวเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ในตอนกลางดึกวานนี้ เพราะมีอาการแน่นหน้าอก หลังจากถูกคุมขังเพียงไม่กี่ชั่วโมง
ในวันพุธนี้ พล.ต.ท. โสภณรัชต์ สิงหจารุ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ให้สัมภาษณต่อสื่อมวลชนว่า นายทักษิณมีอาการป่วยรุนแรงพอสมควร และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
“คุณทักษิณ เมื่อมาถึง รพ. แทบจะเดินไม่ได้ พูดไม่ได้ มีอาการเหนื่อยมาก แพทย์ให้ยา และพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14... เช้าวันนี้ ตามรายงานยังคงมีภาวะความดันสูงอยู่มาก คาดว่าจะยังไม่สามารถส่งกลับไปที่ รพ.ราชทัณฑ์ ได้ในเวลาอันเร็วนี้” พล.ต.ท. โสภณรัชต์ กล่าว และระบุว่า ชั้นดังกล่าว ในอดีตเคยถูกนำมาดัดแปลงเป็นห้องสำหรับผู้ป่วยโควิด จึงเป็นห้องขนาดใหญ่ ไมได้เป็นห้อง VIP ตามที่มีสื่อรายงาน
ทั้งนี้ หลังจากเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตโดยสารส่วนตัวมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อเช้าวานนี้ นายทักษิณ ถูกนำตัวไปดำเนินการกระบวนยุติธรรมที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับทราบโทษจำคุก 8 ปี และถูกนำตัวมากักโรคในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แดน 7
ทั้งนี้ นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ ได้ชี้แจงรายละเอียดว่า เมื่อเวลา 23.59 น. ของวันที่ 22 สิงหาคม 2566 กรมราชทัณฑ์ได้รับแจ้งจากพยาบาลเวรเรือนจำว่า นายทักษิณ “มีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก วัดความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ” จากนั้น แพทย์ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้แนะนำให้ส่งตัวนายทักษิณไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เมื่อเวลา 00.20 น. ของวันที่ 23 สิงหาคม 2566
ก่อนหน้านี้ กรมราชทัณฑ์ได้เปิดเผยว่า นายทักษิณมีประวัติปัญหาสุขภาพ 4 อาการหลัก คือ 1. โรคหัวใจ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 2. ปัญหาปอด จากการเคยติดโควิด-19 ทำให้มีพังผืดในปอด มีความผิดปกติเรื่องการแลกเปลี่ยนออกซิเจน 3. ความดันโลหิตสูง และ 4. ภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม กดทับเส้นประสาท ส่งผลให้ปวดเรื้อรัง และการเดินทรงตัวผิดปกติ
นายทักษิณ ได้ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศหลังโดนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน ปี 2549 ได้กลับมาถึงประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2551 และหลบหนีในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน ในระหว่างที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาคดีที่นายทักษิณเกี่ยวข้องกับคดีซื้อขายที่ดินย่านรัชดาโดยมิชอบ
ประชาชนบางส่วนมีความไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่รัฐดูแลนายทักษิณเยี่ยงบุคคลสำคัญ อันเป็นการเลือกปฏิบัติต่อนักโทษรายอื่น ๆ
“การกลับไทยมารับโทษของนักโทษชายทักษิณ ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมไทยชัดเจน เหมือนจะมีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ก่อนที่จะเข้ามาสู่การเป็นผู้ต้องขัง” นายแซม แสนอินทร์ นักธุรกิจ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“ตอนอยู่เมืองนอก (ดูไบ) โชว์ออกกำลังกาย ว่ายน้ำ เตะกระสอบทราย แต่พอกลับมารับโทษเป็นผู้ต้องหาติดคุกยังไม่ถึง 24 ชั่วโมง กลับต้องเป็นผู้ป่วยที่ต้องส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแบบเร่งด่วน มันคืออะไร ละครลวงโลกของนักโทษที่ต้มตุ๋นคนไทยมานานหลายสิบปี ใช่หรือไม่?” นายแซม กล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท. โสภณรัชต์ กล่าวปฏิเสธข้อสงสัยนั้น
“ยืนยันว่าการรักษาผู้ป่วยสูงอายุไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติตามกระแสสังคม เพราะก่อนหน้านี้ มีการส่งผู้ป่วยอายุมากมารักษาเช่นกัน... แม้คุณทักษิน จะเข้าพักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ ก็ยังอยู่ในการควบคุมตัว มีเจ้าหน้าที่จากเรือนจำ และ เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือ ตำรวจจาก สน.พญาไท เฝ้าอยู่” พล.ต.ท. โสภณรัชต์ กล่าว
ทั้งนี้ โรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่า การส่งตัวผู้ป่วยจากเรือนจำมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นการดำเนินการปกติตามข้อตกลงระหว่างราชทัณฑ์ และตำรวจ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 เพราะโรงพยาบาลมีความเหมาะสม ในด้านศักยภาพการแพทย์ และมีเจ้าหน้าที่สนับสนุนราชทัณฑ์ในการเฝ้าระวังการรักษาความปลอดภัย
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทวงยุติธรรม ยืนยันว่า หากนายทักษิณต้องการขอพระราชทานอภัยโทษก็สามารถกระทำได้ทันที
“ทำได้ตั้งแต่มาถึง จะโดยเจ้าตัวหรือญาติก็ได้ กฎหมายเขียนไว้ใน มาตรา 259 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ว่าผู้ต้องคำพิพากษาที่สุดหรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถจะยื่นเรื่องทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ ซึ่งถ้าจบแค่นี้ก็แปลว่าเมื่อไหร่ก็ได้ แต่จะต้องมอบตัวเข้าสู่กระบวนการก่อน” นายวิษณุ ระบุ
ปัจจุบัน ยังไม่มีการเปิดเผยว่า นายทักษิณได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษหรือยัง ส่วนสมาชิกครอบครัวยังไม่มีการเปิดเผยถึงอาการป่วยของนายทักษิณ
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน