กองทัพอากาศลงนามซื้อเครื่องบินโจมตี AT-6TH รวม 8 ลำ จากสหรัฐ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.11.18
กรุงเทพฯ
กองทัพอากาศลงนามซื้อเครื่องบินโจมตี AT-6TH รวม 8 ลำ จากสหรัฐ เครื่องบินในตระกูล T6 ที่อยู่ในไลน์การผลิตของ บริษัท Textron Aviation Defense LLC ประเทศสหรัฐอเมริกา
Textron Aviation website

กองทัพอากาศ เปิดเผยว่า ได้เซ็นสัญญาจัดซื้อเครื่องบินโจมตีแบบ AT6-TH จำนวน 8 เครื่อง มูลค่า 4,500 ล้านบาท จากสหรัฐอเมริกาเพื่อทดแทนเครื่องบินไอพ่นแบบ L-39 อัลบาทรอส ที่ปลดประจำการไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ โดยจะส่งมอบเครื่องบินลำแรกได้ใน ปี พ.ศ. 2567 

พลอากาศตรี ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยเรื่องดังกล่าวผ่านเอกสารข่าวของกองทัพอากาศ ระบุว่า การจัดซื้อครั้งนี้เพื่อทดแทนเครื่องบิน L-39 ซึ่งกองทัพอากาศใช้มานานกว่า 25 ปี โดยโครงการนี้มาพร้อมกับอุปกรณ์อะไหล่ และระบบสนับสนุนการฝึกอบรม และดีลนี้รวมการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี การใช้ชิ้นส่วน และซอฟต์แวร์ที่ผลิตในประเทศไทยอีกด้วย

“พิจารณาเลือกเครื่องบินโจมตีแบบเบา AT-6 ของบริษัท Textron Aviation Defense LLC ประเทศสหรัฐอเมริกา มีข้อพิจารณาที่สำคัญประกอบด้วย ความประหยัดในการส่งกำลัง และซ่อมบำรุงจากการใช้อะไหล่ร่วมกันได้กับอากาศยานที่มีอยู่ก่อนแล้ว” พล.อ.ต. โอภาส กล่าว และระบุว่า ได้ซ็นสัญญาซื้อขายไปเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ปีนี้

ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2563 กองทัพอากาศไทย ได้สั่งซื้อเครื่อง Beechcraft T-6 Texan II ซึ่งเป็นเครื่องบินฝึกเครื่องยนต์เทอร์โบพร็อป และเป็นต้นแบบการพัฒนาเป็นเครื่องบินโจมตีเบารุ่นย่อยต่าง จำนวน 12 ลำ มูลค่า 162 ล้านเหรียญสหรัฐ

กองทัพอากาศ ได้ให้ข้อมูลการจัดซื้อหลังจากที่ Textron Aviation Defense ได้ออกเพรสรีลีสเรื่องการเซ็นสัญญา และจากนั้น สื่อมวลชนต่างประเทศได้รายงานเรื่องนี้ จากงาน Dubai Airshow ที่จัดขึ้นในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในระหว่างวันที่ 14-18 พฤศจิกายนนี้

“เรารู้สึกเป็นเกียรติที่กองทัพอากาศไทยได้เลือกเครื่องบีชคราฟต์ AT-6 เพื่อใช้ในภารกิจต่าง ๆ ที่หลากหลายในการดูแลความมั่นคงตามแนวชายแดน การต่อต้านการลักลอบขนส่งยาเสพติด การค้ามนุษย์... กองทัพอากาศไทยคือพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐ และเป็นกองทัพอากาศที่ทันสมัยแห่งหนึ่งในย่านเอเชียแปซิฟิก” นายโธมัส แฮมมัวร์ ประธานและซีอีโอ Textron Aviation Defense กล่าวในแถลงข่าว

ด้าน พล.อ.ต. โอภาส ระบุว่า การเลือกซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ เนื่องจากมีความเหมาะสมกับภารกิจลาดตระเวนติดอาวุธแนวชายแดน เป็นโครงการที่เข้าร่วมจัดทำข้อตกลงคุณธรรมจากคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต และกรมบัญชีกลาง ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมีงบผูกพัน 5 ปี

“นักบินของกองทัพอากาศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าขีดความสามารถของ AT-6 นั้นเป็นที่น่าพอใจมาก และมันจะเป็นประโยชน์กับทั้งไทยและสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ” พล.อ.ต. โอภาส ระบุ

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะใช้ชื่อเครื่องบินรุ่นที่จัดซื้อนี้ว่า AT-6TH ตามสัญญา การฝึกช่างเทคนิคของกองทัพอากาศไทยจะเริ่มต้นในปี 2566 ในประเทศไทย การฝึกนักบินไทยที่สหรัฐอเมริกา และการรับมอบเครื่องบินจะมีขึ้นในปี 2567 โดยไทยถือเป็นลูกค้ารายแรกของเครื่องบินรุ่นนี้ ต่อจากกองทัพอากาศสหรัฐ ซึ่งการประกอบขั้นสุดท้ายจะดำเนินการที่โรงงานของ TAI ในประเทศไทย

ในเบื้องต้นคาดว่า กองทัพอากาศ จะติดตั้งจรวดอากาศสู่อากาศพิสัยใกล้แบบ IRIS-T ซึ่งเป็นจรวดอากาศสู่อากาศนำวิถีด้วยอินฟราเรด แบบมาตรฐานของกองทัพอากาศไทยที่ใช้กับเครื่องบินขับไล่ JAS-39 Gripen และ F-5 E/F ให้กับเครื่องบิน AT-6TH  

ทั้งนี้ AT-6TH จะใช้สถาปัตยกรรมระบบภารกิจแบบเดียวกับที่ติดตั้งบนเครื่องบินโจมตีแบบ A-10C Thunderbolt II และใช้ชุดเซ็นเซอร์ที่ปรับปรุงมาจากเครื่องบินลาดตระเวนหาข่าวแบบ MC-12W Liberty สามารถติดตั้งปืนขนาด .50 นิ้ว หรือ 20 ม.ม. ส่วนอาวุธอากาศสู่พื้นนั้น ติดตั้งระเบิดขนาด 500 ปอนด์นำวิถีด้วยเลเซอร์ และระเบิดชนิดอื่น ๆ

น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ สมาชิกสภาผู้แทนกรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านชี้ว่า การจัดซื้อครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในอนาคต เนื่องจากเป็นการซื้อที่พ่วงการถ่ายทอดเทคโนโลยี

“แม้โครงการนี้ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินสูงถึง 143 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เงินส่วนหนึ่งจะคืนกลับมาสู่การจ้างงานในประเทศ ตามสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการร่วมมือของอุตสาหกรรมในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (Thai Aviation Industries Co Ltd. - TAI) รัฐวิสาหกิจของกองทัพอากาศจะทำหน้าที่ประกอบชิ้นส่วนเครื่องบิน ส่วนการพัฒนาระบบ Avionic การบูรณาการระบบอาวุธ และการผลิตชิ้นส่วนบางส่วนจะดำเนินการโดยบริษัท R V Connex จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนสัญชาติไทยแท้ ๆ” น.อ. อนุดิษฐ์ ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง